รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของปวงชน โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ร่างรัฐธรรมนูญที่แจ้งเมื่อวันศุกร์ ก่อนมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะแถลงรวมบทเฉพาะกาล มี 255 มาตรา เมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเบื้องต้นมานำเสนอ ปรากฏว่า มีทั้งสิ้น 15 หมวด รวมบทเฉพาะกาลรวม 270 มาตรา

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เผยแพร่ออกมาสู่สาธารณชน หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด นำตีพิมพ์ทั้งร่าง ปรากฏว่าได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองทุกฝ่าย นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ที่สนใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในทางที่ไม่เห็นด้วยหลายประเด็น

โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นประการสำคัญ พื้นฐานของประชาธิปไตย

อีกหลายประเด็นที่ยังวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นเคย คือ ประเด็นการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้กลับกลายเป็นว่า พรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพิจารณาพรรคละ 3 รายชื่อ โดยไม่มีกำหนดต้องสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ หรือจะไม่เสนอรายชื่อก็ได้

Advertisement

ส่วนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา แม้จะมาจากการเสนอตัวขององค์กรตามที่กฎหมายรับรอง แต่การให้เลือกกันเอง หมายความว่า ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิเลือกตั้ง ย่อมหมายความว่า ไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเช่นกัน

สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “มติชน” นำเสนอผังที่มา ส.ส.ตามร่างรัฐธรรมนูญ “มีชัย” เมื่อต้นสัปดาห์ เพื่อให้เข้าใจว่าคืออะไร และเป็นอย่างไร

ผังที่มา ส.ส.คือ คะแนนทั้งหมดของ ส.ส.เขต หารด้วย (จำนวน ส.ส.) 500 (คน) เท่ากับ X นำผลคะแนนนั้นไปหารด้วยคะแนนของ ส.ส.แบ่งเขตแต่ละพรรค เท่ากับจำนวน ส.ส. ของพรรคที่พึงมี คือ Y นำจำนวน ส.ส.แต่ละพรรคที่พึงมี (Y) ลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตของพรรคนั้น เท่ากับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้น

Advertisement

ถ้าจำนวน ส.ส.เขตมีเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.พรรคที่พึงมี (Y) อยู่แล้ว ให้นำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินกว่าจำนวน ส.ส. พรรคที่พึงมีไปให้พรรคอื่น

รวมไปถึงการ “กาบัตร” ใบเดียวกัน ทั้งการเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

กรณีหลัง การกาบัตรใบเดียวที่มีสองช่อง คือ ช่องของการเลือก ส.ส.เขตช่องหนึ่ง อีกช่องหนึ่งหรือด้านหนึ่งเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับรองได้ว่าจะเกิดความสับสนวุ่นวาย และนำไปสู่การทุจริตในที่สุด

การทุจริตเลือกตั้ง มีตั้งแต่การซื้อสิทธิจากผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง การขายเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ทั้งสองฝ่ายต่างพอใจซึ่งกันและกัน การซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ได้มีแต่เพียงเงินอย่างเดียว แต่ยังเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะให้อย่างนั้นอย่างนี้ ไปถึงการจะสร้างโน่นสร้างนี่ให้กับส่วนรวม

สุดท้าย เมื่อมีมาตรการนับคะแนนเลือกตั้ง ณ ศูนย์การเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ปรากฏว่ายังมีการทุจริต เช่น ขานคะแนนหมายเลขหนึ่งเป็นอีกหมายเลขหนึ่ง แม้การนับจำนวนบัตรลงคะแนนยังมีทุจริตได้ ดังกรณีที่เป็นคดีและผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตได้รับโทษจำคุกไปแล้ว

การให้กาบัตรใบเดียวสองช่องทาง คือกาเบอร์ ส.ส.เขตข้างหนึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกข้างหนึ่ง ถึงเวลานับคะแนน แม้จะกระทำต่อหน้าประชาชนและเจ้าหน้าที่ การนับผิดนับถูกย่อมเกิดขึ้นได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

นับแต่นี้ถึงวันที่ 8 เมษายน ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องรับประเด็นที่ทุกฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้องจัดส่งมาพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้าง ต้องจัดการแก้ไขปรับปรุง หรือไม่ต้องแก้ไขปรับปรุง ขณะที่ต้องขัดเกลาถ้อยคำที่ไม่ถูกต้อง ที่เกินเลยไปให้เข้าที่เข้าทาง จากนั้น จึงจัดส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดพิมพ์จำนวน 14 ล้านฉบับ เพื่อจัดส่งให้ประชาชน 14 ล้านครัวเรือน ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พิจารณารายละเอียดทั้งหมด เพื่อตัดสินใจว่าจะลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วันที่ 31 กรกฎาคม 2559

ขณะนี้ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ใช้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หากไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอให้มีการเลือกตั้ง ปี 2560 เป็นใช้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image