กรธ.เคาะระบบเลือกตั้งส.ส.จัดสรรปันส่วนผสม พรรคต้องเสนอชื่อนายกฯ 3คน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 14 มกราคม ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งนี้ นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ.แถลงสรุปผลการพิจารณาบทบัญญัติในหมวด 7 รัฐสภา มีสาระสำคัญ คือกรธ.คงหลักการให้สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีจำนวน500 คน แบ่งออกเป็นส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม และกำหนดให้การประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสส.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ475 คน เมื่อพรรคการเมืองได้ส.ส.ตามสัดส่วนของคะแนนความนิยมแล้วก็จะไม่มีสิทธิได้สส..เพิ่ม ทั้งนี้ กรธ.บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรมีอายุ 4ปี และระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองจะควบรวมกันไม่ได้ แต่เป็นพันธมิตรกันได้

 
นายนรชิต กล่าวว่า นอกจากนี้กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส.ต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 3 คน จากเดิม 5 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันปิดรับสมัครเลือกตั้ง และกกต.ต้องประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้พรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อคนที่เป็นนายกฯก็ได้ กรธ.ไม่ได้บังคับเอาไว้ แต่ในกรณีที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อนายกฯเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติโหวตนั้นกรธ.กำหนดเงื่อนไขว่า 1.ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 2.ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจะไม่ต้องขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ3.ถ้ามีชื่อบุคคลใดซ้ำกันสองพรรค จะถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับการเสนอชื่อขึ้นมา ไม่เพียงเท่านี้ การลงมติเลือกนายกฯในสภาฯจะต้องมาจากรายชื่อที่เสนอมาให้กกต.ก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น จะไปเลือกบุคคลอื่นนอกเหนือไปจากบัญชีรายชื่อดังกล่าวไม่ได้

โฆษกกรธ.กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.พรรคการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวส่งผู้สมัครส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อต้องไม่ซ้ำกับผู้สมัครสส.เขต ที่สำคัญการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจะต้องให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วม ต้องคำนึงถึงสัดส่วนในแต่ละภูมิภาคด้วย และต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชาย

ขณะเดียวกัน กรธ.ยังยืนยันในหลักการเดิม คือ ถ้าเกิดมีกรณีที่ผู้สมัครส.ส.คนใดได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนของผู้ประสงค์ไม่ลงคะแนนหรือโหวตโน ผู้สมัครส.ส.คนนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.และจะต้องมีการเลือกตั้ง และผู้สมัครทุกรายที่ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนโหวตโนจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ กล่าวคือ ถ้าพรรค ก. พรรค ข. และพรรค ค. ส่งผู้สมัครส.ส.แต่แพ้คะแนนโหวตโน พรรคการเมืองดังกล่าวจะต้องไปหาผู้สมัครคนใหม่มาสมัครแทน

Advertisement

นายนรชิต กล่าวว่า ถ้าเกิดกรณีที่การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จทุกเขต ด้วยเหตุของการทุจริตเลือกตั้งจนต้องสั่งเลือกตั้งใหม่ กรธ.จึงกำหนดว่าการคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อจำนวนส.ส.บัญชี รายชื่อจะนับเฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งเสร็จแล้วไปก่อน ซึ่งถ้าต่อมามีการนับคะแนนครบทุกเขตแล้วเกิดมีพรรคการเมืองได้จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อลดลง ให้ถือว่าผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับสุดท้ายของพรรคการเมืองนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไป

“ถ้าภายหลัง 1 ปีจากการเลือกตั้ง และต่อมาจะต้องมีการเลือกตั้งสส.ใหม่ในบางเขตเลือกตั้ง เพราะพบการทุจริตเลือกตั้ง กรธ.กำหนดว่าคะแนนในการเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้จะไม่ถูกนำไปคำนวนเพื่อหาสส.บัญชีรายชื่ออีก” นายนรชิต กล่าว

Advertisement

โฆษกกรธ.กล่าวต่ออีกว่า ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส.ส่วนใหญ่ยังยืนยันตามหลักการเดิม แต่มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแบบใหม่เข้าไป ได้แก่ บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกและพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 10 ปีจะไม่มีสิทธิสมัครส.ส. เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และนำลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครกำนันผู้ใหญ่ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มาใส่ไว้ในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของส.ส.ด้วย เช่น ความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ การบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ ยาเสพติด เป็นต้น

“ขนาดกำนันผู้ใหญ่บ้านยังถูกห้าม คุณจะเป็นสส.หรือมาเป็นรัฐมนตรีทำไมถึงมีลักษณะต้องห้ามน้อยกว่า เพราะฉะนั้นเราจะเพิ่มเข้าไป” นายนรชิต กล่าว

นายนรชิต กล่าวว่า สำหรับที่มาของวุฒิสภา (ส.ว.) กรธ.เห็นชอบให้มีส.ว.จำนวน 200 คน และไม่ให้คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. ข้าราชการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ผู้สมัครรับเลือกเป็นส.ว.ในคราวเดียวกัน รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจะลงสมัครสว.ไม่ได้

เมื่อถามว่า บุคคลที่เคยถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งอย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากรับโทษการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครบ 5 ปี แล้ว จะสามารถลงสมัครส.ส.ได้หรือไม่ นายนรชิต กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ในข้อห้าม แต่ถ้ามาถูกถอดถอนภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เราไม่ใช้คำว่าถอดถอนแต่ใช้คำว่า ต้องคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่งจะถือว่าไม่สามารถลงสมัครสส.ได้

“ต้องมองไปข้างหน้า เราไม่ได้ไปตัดสิทธิ อย่ามาบอกว่าพวกเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อกันใคร เขาถูกจำกัดสิทธิจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตและยังไม่พ้น 5 ปี แต่ถ้าพ้น 5 ปีแล้วมีการเลือกตั้งและไม่ขาดคุณสมบัติก็ย่อมสามารถลงสมัครได้” นายนรชิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image