‘ชินวรณ์’ ยัน 3 พรรคร่วมรัฐบาล หารือแก้ รธน.ต่อเนื่อง เน้นประเด็นเห็นพ้อง หวังแก้ได้ง่าย

“ชินวรณ์” เผยหารือ 2 พรรคร่วม ภท.-ชทพ. แก้รธน.อยู่เป็นระยะ เน้นเฉพาะประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุดเพื่อเอื้อต่อการแก้ไข เชื่อ เปิดประชุมสามัญ “ชวน” นัดถก กม.ประชามติต่อ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมร่วมกับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่สะดวกที่จะนัดประชุมกันอย่างเป็นทางการ แต่ก็หารือกันอยู่เป็นระยะ และแต่ละพรรคก็ไปทำร่างของตนเอง

ซึ่งร่างของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ได้ทำเสร็จแล้ว และจะมีการมาดูร่างของแต่ละพรรคอีกครั้งว่าเห็นพ้องต้องกันอย่างไรบ้าง หากเห็นพ้องต้องกันก็จะได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อที่จะได้เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ทันในช่วงสมัยประชุม ซึ่งคาดว่าน่าจะทัน เนื่องจากประเด็นและหลักการเดิมก็ยังอยู่เหมือนเดิมเพราะ 3 พรรคต้องลงชื่อร่วมกันในการเสนอกฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไขให้เป็นไปตามแนวทางที่เคยเสนอมาแล้ว

เมื่อถามว่าในส่วนร่างของที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอประเด็นเกี่ยวกับการตัดอำนาจของ ส.ว. ในส่วนนี้คาดว่าจะเป็นปัญหากับพรรคร่วมทั้ง 2 พรรคหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ในส่วนนั้นเป็นประเด็นข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เสนอไปทั้ง 6 ประเด็น เข้าใจว่าต้องมาหารือกับอีก 2 พรรค เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ได้เสนอไปแล้ว คาดว่าในส่วนนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากมีประเด็นใดที่เห็นพ้องต้องกันเราก็ยกมือสนับสนุนกันอยู่แล้ว ทั้งนี้จะเอาเฉพาะประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุดเพื่อเอื้อต่อการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้เป็นไปได้อย่างยิ่ง

เมื่อถามถึงประเด็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นายชินวรณ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นนี้ ได้มีการคุยกันนอกรอบแล้วว่าในขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 10 กว่ามาตราที่จะต้องพิจารณาแล้ว ซึ่งมาตราสำคัญแต่ละฝ่ายก็พิจารณาเห็นชอบไปกันหมดแล้ว เพียงแค่วันที่ 7-8 เมษายนที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 ด้วยจึงทำให้องค์ประชุมมีปัญหา

Advertisement

ซึ่งเข้าใจว่าหากเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พฤษภาคม นายชวนคงจะได้เรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อจะได้พิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตามมาตรา 256 (8) คือการทำประชามติหลังร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว หรือตามมาตรา 166 หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีประเด็นอะไรที่จะเสนอมาก็จะได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image