ยืนหยุดขังวันที่ 26 ปรับเวลาเหลือ 1 ชม. 12 นาที ยังพรึบหน้าศาลฎีกา ส่วนแม่พระธรณี-แยกคอกวัวไร้คน

ยืนหยุดขังวันที่ 26 ปรับเวลาเหลือ 1 ชม. 12 นาที ยังพรึบหน้าศาลฎีกา ส่วนแม่พระธรณี-แยกคอกวัวไร้คน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน กรุงเทพฯ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดหมายทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ยืนหยุดขัง” เป็นวันที่ 26 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังจากการทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย

โดยในวันนี้เป็นวันแรกของการปรับเวลาจาก 112 นาที ลดลงเหลือ 1 ชั่วโมง 12 นาที โดยเริ่มต้นในเวลา 17.30 น. เช่นเดิม และจำกัดคนยืนเพียงจุดละ 40 คน กระจายตามจุดต่างๆ อาทิ หน้าศาลฎีกา, ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม และหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เป็นต้น เพื่อดำเนินตามนโยบายด้านสาธารณสุขในการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

บรรยากาศเมื่อเวลา 17.00 น. ผู้จัดกิจกรรม นำโดย ‘ทาทา’ ผู้มีความหลากหลายทาวเพศ นำเชือกพลาสติกสีเขียวสะท้อนแสงสลับดำเป็นลายตารางมากั้นพื้นทึ่ส่วนหนึ่งบนทางเดินเท้าหน้าศาลฎีกา ติดป้ายข้อความ ‘เขตกิจกรรม’ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งหน่วยพยาบาลโดยนางสาวณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาและคณะ

Advertisement

สำหรับบรรยากาศบริเวณลานแม่พระธรณีบีบมวยผม และหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เริ่มมีผู้เดินทางมารอร่วมกิจกรรมแล้วเช่นกัน

อ่านข่าว : จ่อ ‘ดาวกระจาย’ ยืนหยุดขังวันแรก ศาลฎีกา แม่พระธรณี อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สกัดโควิดเข้ม

เวลา 17.10 น. นายวรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม.หลายสมัย เดินทางมาถึง โดยสวมเสื้อเชิ้ตขาดรุ่งริ่ง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

Advertisement

เวลา 17.18 น. ผู้จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ผู้ร่วมชุมนุมเข้าพื้นที่ ซึ่งกั้นไว้ โดยต้องผ่านการตรวจสอบรายชื่อให้ตรงกับที่ได้ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าผ่านเพจ พลเมืองโต้กลับ รวมถึงมีการวัดอุณหภูมิที่จุดพยาบาลและล้างมือด้วยแอกอฮอล์ สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกราย

เวลา 17.30 น. เริ่มกิจกรรมพร้อมกันทุกจุด โดยในจุดหน้าศาลฎีกาในวันนี้ มีผู้นำป้ายไวนิลขนาดใหญ่มาร่วมกันถือ ข้อความว่า ‘ไว้ทุกข์ให้กับสังคมไทย ไว้อาลัยให้กับความ (อ) ยุติธรรม หยุดการคุมขังโดยไม่มีคำพิพากษา #คืนสิทธิประกันตัว’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าศาลฎีกา นอกพื้นที่เชือกกั้นซึ่งจำกัด 40 คน มีประชาชนที่มีความประสงค์เข้าร่วม แต่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า ประกอบกับเกินจากลำดับ 40 ราย ได้พากันยืนริมรั้วศาลฎีกา นอกพื้นที่กั้น โดยเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

สำหรับบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งถูกกำหนดเป็นจุดดาวกระจายด้วยนั้น บรรยากาศเมื่อเวลาประมาณ 17.45 น. หลังเริ่มกิจกรรมแล้ว 15 นาที ยังไม่มีผู้ทำกิจกรรมในจุดดังกล่าว โดยคาดว่าบางรายที่รอร่วมในจุดนี้ย้ายไปรวมกับกลุ่มหน้าศาลฎีกา

เวลา 18.00 น. บรรยากาศบริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไม่พบผู้ทำกิจกรรมเช่นกัน แม้ในช่วงราว 16.45 น.มีกลุ่มบุคคลแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและสัญลักษณ์ รวมถึงอุปกรณ์คล้ายเตรียมร่วมกิจกรรมเรียกร้องปล่อยผู้ต้องขัง คาดว่าอาจย้ายไปรวมกันที่หน้าศาลฎีกา

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 18.20 น. ที่หน้าศาลฎีกามีผู้สมทบมากขึ้นอีก โดยยืนเรียงแถวนอกพื้นที่เชือกพลาสติก ขยายไปยังทางเดินเท้าฝั่งมุ่งหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เนื่องจากอีกฝั่งมีผู้ยืนเรียงแถวยาวเกือบสุดรั้วศาลฎีกาแล้ว

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ  ผู้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมเสื้อแดง เมื่อปี 2553 หนึ่งในผู้ก่อตั้ง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า สาเหตุที่มีการปรับลดเวลาและยุทธศาสตร์ให้มีลักษณะเป็นดาวกระจาย โดยจำกัดจุดละ 40 คนนั้น เนื่องจากมีประกาศว่าถ้าจะจัดกิจกรรมต้องขออนุญาต ผอ.สำนักงานเขต หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัย ซึ่งตนเห็นว่าท่านทั้งสองเป็นข้อราชการชั้นผู้น้อย ถ้าจะให้อนุญาตจัดกิจกรรมทางการเมืองที่มีความกระทบกระทั่งกับข้าราชการระดับสูงกว่าอาจจะมีปัญหากระอักกระอ่วนใจ จึงตัดสินใจที่จะดำเนินกิจกรรมภายใต้สถานการณ์ กล่าวคือขอให้ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมลงทะเบียนก่อน 40 คน รวมกับทีมงาน 10 คน เป็น 50 คน เปิดให้ลงทะเบียนหน้าเพจ พลเมืองโต้กลับ

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

“เราตั้งใจทำตามมาตรการนี้ เพราะอยากจัดกิจกรรมช่วยเพื่อนที่อยู่ข้างในต่อไป สำหรับคนที่อยากมาร่วมกิจกรรม แนะนำให้ไปจัดในบริเวณใกล้เคียง เช่น ลานพระแม่ธรณี อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ้าอยู่นอกเขตเราจะจัดการอะไรไม่ได้

“ส่วนสาเหตุที่ลดเวลาลงเพื่อที่จะให้ผู้มาร่วมชุมนุมได้กลับบ้านเร็วขึ้น ตามมาตรการเคอร์ฟิว แต่ถ้าระบาดหนักกว่านี้เราก็จะคุยกันอีกครั้ง เพื่อให้กิจกรรมเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้การส่งเสียงของเราที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อนของเราทำได้ทุกวัน ต้องดูว่ารัฐบาลจะออกมาตการอะไรมาอีก

“ขอเน้นว่าจะต่อสู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเพื่อนเราจะได้รับการประกันตัว เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับเพื่อนๆ ของเราที่ต้องถูกจับกุมคุมขัง โดยที่ยังไม่ได้ไต่สวนความผิด ซึ่งทุกคนก็รู้กันอยู่แล้วว่าการให้ประกันตัวเป็นการเปิดโอกาสให้หาหลักฐานมาต่อสู้ในชั้นศาล” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อครบ 1 ชั่วโมง 12 นาที นายพันธ์ศักดิ์กล่าวขอบคุณผู้ร่วมกิจกรรม แล้วให้สัญญาณ โดยผู้ชุมนุมหันหน้าเข้าสู่ศาลฎีกา ชู 3 นิ้ว เปล่งเสียง ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ 3 ครั้งอย่างกึกก้อง ก่อนแยกย้ายกลับอย่างสงบเรียบร้อยภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ที่เฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image