ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถกทางออก งบอปท. หลังมีปัญหา-ข้อจำกัด ปฏิบัติหน้าที่จากกม.

ผู้ตรวจการแผ่นดินถกทางออกงบ อปท. หลังมีปัญหา- ข้อจำกัดปฏิบัติหน้าที่จากกฎหมาย แนะ สถ.ขอผู้ว่าฯ ร่วมมือติดตาม กำกับดูแล งบอปท.จังหวัดตนเอง

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ผ่านระบบ Zoom หลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร้องเรียนกรณีมีปัญหาและข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่อันเกิดจากพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

ทั้งนี้ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีเจตนารมณ์เพื่อให้การบริหารจัดการการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินต้องมีวินัยการเงิน การคลัง รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างถูกต้อง มีระบบ และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการแจ้งเตือนให้หน่วยงานทราบก่อนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ว่าหากหน่วยงานไม่อาจเบิกจ่ายงบประมาณได้ทัน งบประมาณรายการนั้นต้องพับไปตามผลของกฎหมาย โดยคาดว่ายังมี อปท. อื่น ๆ จากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ที่อาจจะประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ด้วย

พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า จากการหารือในวันนี้เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีคำวินิจฉัย โดยพ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 และมาตรา 55 ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

Advertisement

สำหรับอปท. ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทัน และเปลี่ยนแปลงแก้ไขงบประมาณไม่ได้ รวมทั้งไม่มีเงินสะสมเพียงพอที่จะนำไปจ่ายให้กับคู่สัญญา มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณากลั่นกรองโครงการของอปท. ที่เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามขอใช้งบกลางไปยังสำนักงบประมาณตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดสรรงบประมาณให้อปท. ดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

พล.อ. วิทวัส กล่าวอีกว่า ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในการติดตาม กำกับดูแล การบริหารจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ระหว่างพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 กับพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำอปท.ในการจัดทำร่างขอบเขตงาน ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการล่วงหน้า เพื่อที่ว่าเมื่องบประมาณของปีใหม่ได้รับการจัดสรรมาแล้วจะได้ลงนามในสัญญาได้และใช้จ่ายงบประมาณได้ทันตามกำหนดเวลา อันเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศโดยรวมอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image