ก้าวไกลแนะรัฐเร่งหาวัคซีน ย้ำต้องสร้างเชื่อมั่น ยกประสบการณ์ส่วนตัว ผลข้างเคียงแทบไม่มี

“ก้าวไกล” แนะรัฐบาลเร่งหาวัคซีนให้ปชช. “วาโย” ย้ำรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นการฉีดวัคซีน ด้าน “ศิริกัญญา” ชี้ไม่อยากให้เสียโอกาสพลิกฟื้น ศก.อีกครั้ง ยันวัคซีนไม่มีผลข้างเคียง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 เมษายน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ร่วมแถลงประเด็นการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 และมาตรการเยียวยาและผลกระทบในมิติต่างๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน ZOOM

โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ในช่วงคลัสเตอร์บางแคระบาดใหม่ๆ เมื่อปลายเดือนมีนาคม ทางพรรคได้เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง โดยเน้นไปที่ผู้ป่วยติดเตียงที่ออกจากบ้านลำบาก ว่าถ้าหากจะไปตรวจคัดกรองโควิด-19 ต่างๆ จะทำเช่นไรเนื่องจากจุดตรวจโควิดเคลื่อนที่ที่ตั้งอยู่ในขณะนั้นไม่ได้ลงไปในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่านอกจากการเคลื่อนย้ายออกมาลำบากแล้ว ซึ่งการเดินทางไปโรงพยาบาลหรือจุดตรวจหนึ่งครั้งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแค่ตัวผู้ป่วยแต่ยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนผู้ดูแลผู้ป่วยหรือครอบครัวด้วย กล่าวคือครอบครัวจะพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลต้องหยุดงานทั้งวัน ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้นของพรรคก้าวไกลในขณะนั้นคือช่วยเหลือเรื่องข้าวสารอาหารแห้ง และจัดทำจุดตรวจเคลื่อนที่ไปยังชุมชนซึ่งภายหลังเป็นรื่องที่น่ายินดีเนื่องจากภาครัฐและกทม.ได้ไปตั้งจุดตรวจในชุมชนเช่นกัน แต่สิ่งที่ตนอยากจะชี้ให้เห็นคือทุกวันนี้สิ่งที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องการไม่ใช่ข้าวสารอาหารแห้งแต่เป็นวัคซีน อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะฉีดวัคซีนเพราะจากข่าวจะเห็นว่าวัคซีนที่รัฐจัดหาไม่ว่าจะเป็นแอสตราซิเนก้าและซิโนแวคมีปัญหาในด้านผลข้างเคียงเริ่มลิ่มเลือดต่างๆ ฉะนั้นภาครัฐควรจะต้องดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ให้ดีกว่านี้

นายณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรื่องมาตรการเยียวยาในระยะสั้นบางกลุ่มยังต้องการอยู่เช่นคนหาเช้ากินค่ำที่อยู่ๆ ก็ถูกสั่งล็อกดาวน์ สั่งห้ามประกอบอาชีพ แต่ในระยะยาวประชาชนต้องการให้จบนั่นคือต้องการวัคซีนที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นและเชื่อถือได้ และอีกหนึ่งเรื่องคือมาตรการในการปฏิบัติตัว ทุกวันนี้ประชาชนแพนิกเมื่อรู้ว่าข้างบ้านมีผู้ติดเชื้อ หากอยู่ในวงที่ 2 จะต้องทำตัวอย่างไร จะต้องกักตัวที่บ้านหรือต้องไปกักตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งในการแถลงข่าวของหน่วยงานหนึ่งบอกว่าการกักตัวที่บ้านผิดกฎหมายแต่เมื่อไปโรงพยาบาลก็บอกว่าให้กักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดความสับสน

ด้านนพ.วาโย กล่าวว่า เรื่องวัคซีน ก่อนหน้านี้ภาครัฐได้มีการสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 80 มีความต้องการที่จะฉีดวัคซีน ซึ่งหลังจากที่ส.ส.เขตหลายคนได้ลงไปพบปะประชาชน พบว่าประชาชนอยากจะฉีดวัคซีนเพราะเชื่อว่าวัคซีนจะเป็นทางออกที่จะทำให้วิกฤติในครั้งนี้จบลงได้ แต่ปัญหาคือตอนนี้ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจ ที่จะไปฉีด ถ้าภาครัฐไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในข้อมูลเชิงวิชาการอย่างหนักแน่นว่าการฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีด และวัคซีนโควิดกันตายแต่ไม่กันติด อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด ในส่วนของมาตรการที่นายณัฐพงศ์ได้พูดไปข้างต้น กรมควบคุมโรคได้ประกาศคนออกเป็น 3 วง ได้แก่สีแดง สีเหลืองและสีเขียว วงสีแดงคือวงที่สัมผัสกับผู้ที่ยืนยันว่าติดเชื้อ กลุ่มนี้ต้องไปตรวจเพื่อหาเชื้อหากผลเป็นบวกต้องเข้าสู่แนวทางการรักษาต่อไป แต่หากเป็นลบต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วันและต้องตรวจซ้ำในวันที่ 7 หลังจากที่ตรวจครั้งแรกหรือวันที่ 13 นับจากวันที่สัมผัสผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง ส่วนวงสีเขียวคือคนที่สัมผัสไปอีก 2 ทอดซึ่งวงสีเขียวนี้ค่อนข้างปลอดภัยแต่ปัญหาคือวงสีเหลืองซึ่งสัมผัสกับวงสีแดง ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงสีแดงอาจจะไม่ติดเชื้อก็ได้ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงแต่ไม่ใช่ความเสี่ยงที่เยอะ ฉะนั้นตามประกาศประชาชนที่อยู่ในวงสีเหลืองให้ดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงที่ชุมชน กิจกรรมต่างๆ พยายามแยกตัวแต่ไม่ได้ใช้คำว่ากักตัว ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยและมีประชาชนสอบถามเข้ามามากว่าหมายความว่าอย่างไร สรุปก็คือให้ระมัดระวังตนเองมากขึ้น ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปในที่ชุมชนต่างๆ หรือแม้แต่อยู่ที่บ้านก็ดีให้พยายามหลีกเลี่ยงสมาชิกหรือบุคคลอื่นในครอบครัว หมั่นดูแลตนเอง ใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือ

Advertisement

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการทำ Home Isolation หรือ Home Quarantine (การกักตัวที่บ้าน) ทุกคนคงเห็นว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ทำ New High (ยอดผู้ติดเชื้อทำสถิติใหม่ทุกวัน) หลายครั้ง ซึ่งการระบาดในรอบนี้เป็นการระบาดในรอบที่ 3 โดยเป็นที่คาดหมายในทางวิชาการอยู่แล้วว่าการระบาดในคลื่นนี้จะมีความสูงมากกว่าในคลื่นที่ 2 และคลื่นที่ 1 ฉะนั้น คลื่นที่มันสูงขนาดนี้จึงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นกราฟที่ชันขึ้นเรื่อยๆ หากยังคงดื้อดึงนำคนที่มีเชื้อเข้าไปอยู่ใน State quarantine ทั้งหมดอาจจะทำให้ระบบไม่สามารถคงอยู่ได้เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าตามธรรมชาติของโรคโควิด-19 กว่าร้อยละ 80-90 ไม่มีอาการและคนหนุ่มสาวค่อนข้างแข็งแรง ฉะนั้นการนำคนเหล่านี้บางส่วนเข้าไปอยู่ใน State quarantine อาจทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและะทรัพยากรและไม่สามารถจัดสรรสถานที่รองรับบุคคลที่มีความต้องการจริงๆ ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับประกาศและไม่สามารถดำเนินการไปได้คล้ายกับกฎหมายหลายฉบับในประเทศไทยที่ขัดกับหลักปฏิบัติ อย่างไรก็ตามตนได้เห็นแนวทางของทางกรมการแพทย์เกี่ยวกับการทำ Home Isolation และ Home Quarantine แล้วว่าบุคคลใดบ้างที่เหมาะสมจะเข้าไปอยู่ใน State quarantine  หรือเหมาะสมที่จะทำ Home Isolation ได้ แต่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ตนจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความรู้เหล่านี้แก่ประชาชน มิเช่นนั้น เมื่อภาครัฐประกาศมาประชาชนจะไม่มีความเข้าใจและจะทำให้เกิดความสับสนยิ่งกว่าเดิม

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังในการฉีดวัคซีน ตอนนี้อัตรากำลังในการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1-3 หมื่นรายต่อวัน ในขณะที่ครึ่งปีหลังประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเดือนหนึ่งสูงสุด 10 ล้านโดส หากไม่เพิ่มอัตรากำลังในการฉีดวัคซีนให้สูงขึ้นอีก 10 เท่าหรือ 3-4 แสนรายต่อวัน ก็จะไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ทันกับเวลาและไทม์ไลน์ที่ได้วางไว้เกี่ยวกับการเปิดประเทศและนอกจากการที่จะต้องเตรียมสถานที่ บุคลากรหรือการร่วมมือกับภาคประชาชนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองไป อย่าให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอย่างเช่นหน้ากากอนามัยอีก ที่เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทานแล้วได้ของมาในราคาแพงแต่ด้อยคุณภาพและยังขาดแคลนอีกอย่าให้เกิดสิ่งนี้กับเข็มและหลอดฉีดยา ไม่ใช่ว่าเกิดสถานการณ์ที่มียาแต่ไม่มีเข็มจึงอยากให้ระวังในเรื่องนี้ไว้

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในเวลานี้ ซึ่งเป็นทางรอดทางเดียวของประเทศไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องวัคซีน การที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนมาได้ เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นเป็นหลัก ทุกวันนี้มีมาตรการควบคุมโรคระบาดออกมาที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้หรือไม่ ทำให้เห็นเหตุการณ์การเปิดตลาดแล้ว แต่ประชาชนยังไม่มั่นใจจะออกมาจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นความเชื่อมั่นจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้และการที่จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ คือวัคซีน แม้วันนี้มาตรการเยียวยาจะยังไม่ออกมา แต่ตนเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่นิ่งนอนใจ ขณะที่จะคิดว่าเมื่อไม่ประกาศล็อกดาวน์ก็ไม่จำเป็นต้องเยียวยา ตนคิดว่ารัฐบาลไม่ควรคิดเช่นนั้น อีกสักพักคงมีมาตรการเยียวยาครั้งที่ 3 ออกมา หากถามว่ามีการระบาดอีก จะมีการเยียวยาอีกได้หรือไม่ เงินพอ ตนขอตอบว่าได้ เพราะช่องว่างทางการคลังหรือความสามารถในการกู้ยังพอทำได้อยู่ แต่จะวนลูปนี้กันไปอีกนานเท่าไร ถ้าระบาดระลอก 4 หรือ 5 อีกครั้ง เราคงไม่พร้อมที่จะรับมือด้วยวิธีการแบบเดิมๆ อีกต่อไป ดังนั้นวัคซีนจึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย ตนคิดว่าในเดือนพฤษภาคมควรจะมีการเปิดลงทะเบียนให้กับประชาชนทั่วไปสามารถยื่นความประสงค์ที่จะฉีดวัคซีนกันได้อย่างเต็มที่แล้ว ตอนนี้หมอพร้อมอาจจะยังไม่พร้อมสักเท่าไร หากใครได้ลองแอดไลน์ไปแล้วอาจจะยังไม่เห็นความชัดเจนว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือเมื่อไหร่ที่ประชาชนจะได้วัคซีน ดังนั้น เดือนพฤษภาคมนี้รัฐบาลควรจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนอย่างครบถ้วนแล้ว

 

นอกจากนี้จะต้องประกาศความคืบหน้าของแผนกระจายวัคซีนให้เรียบร้อยว่าจะฉีดใครหรือฉีดที่ไหนก่อน และจะฉีดอย่างไร เพราะสิ่งที่ไล่ล่าเรามาคือแผนการเปิดประเทศในเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม โดยเดือนกรกฏาคมมีแผนที่จะเริ่มทดลองการเปิดที่จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และเดือนตุลาคมจะขยายเป็น 5 จังหวัด คือ พัทยา กระบี่ พังงา สมุย และเชียงใหม่ ดังนั้นเรามีความพร้อมหรือยัง เงื่อนไขเดียวที่จะสามารถเปิดประเทศให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง คือ ประชาชนในจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้าแล้วหรืออย่างน้อยจะต้องให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ ความครอบคลุมของการฉีดและประสิทธิภาพของวัคซีน ดังนั้นยิ่งวัคซีนที่ใช้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าตัวอื่นๆ มากเท่าไหร่ จำนวนที่จะต้องฉีดก็ต้องมากขึ้นเท่านั้น ดังที่มีการพูดถึงอัตราการแพร่กระจายของผู้ป่วยอยู่ที่ 2.2 คือหนึ่งคนสามารถติดได้ 2.2 คนโดยเฉลี่ย ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 100% ก็จะฉีดเพียงแค่ 50% เท่านั้นก็เพียงพอ แต่ถ้าวัคซีนที่จะใช้เป็นตัวหลักเช่นแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพอยู่ที่ 70% สัดส่วนของการฉีดจึงต้องเพิ่มจาก 50% เป็น 80% จึงเป็นสิ่งที่อยากเน้นย้ำ โดยเฉพาะจังหวัดที่จะต้องรองรับการเปิดประเทศในเดือนกรกฏาคมและตุลาคม ควรจะต้องมีแผนการออกมาแล้วว่าจะต้องได้รับวัคซีนอย่างไรบ้าง

ในส่วนของเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ที่จะต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านคนหรือ 3 แสนล้านคน ต้องการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเช่น วันที่ประชาชนจะนัดไปฉีดหากเป็นคนทำงานจะไปกระจุกกันเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้ ดังนั้นวันที่นัดไปฉีดนายจ้างควรจะต้องอนุญาตให้เป็นวันหยุดเพื่อที่จะกระจายการฉีดวัคซีนไปในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนในระยะเวลาอันครบถ้วน สุดท้ายนี้ในเมื่อวัคซีนเป็นโอกาสสุดท้ายตนไม่อยากให้ต้องเสียโอกาสไปเหมือนครั้งที่เรามีตัวช่วย เช่นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้าน พ.ร.ก.ซอร์ฟโลน SMEs 5 แสนล้าน พ.ร.ก.พะยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้าน ตอนนี้ผ่านมา 1 ปีก็พบว่าเราสูญเสียโอกาสสำคัญที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้ เนื่องจาก 1 ล้านล้านก็ใช้ไป 7 แสน 5 หมื่นล้าน แต่แผนฟื้นฟูยังไปไม่ถึงไหน 209 โครงการที่เบิกจ่ายไปไม่ถึง 10% ส่วน SMEs ซอร์ฟโลนมีการอนุมัติเงินกู้ไปแค่ไม่ถึง 1 ใน 3 จาก 5 แสนล้านซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องสูญเสียโอกาสที่จะพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ ตนไม่อยากให้สูญเสียโอกาสที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้งจากแผนการวัคซีนที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่กระจายความเสี่ยง

นอกจากนี้น.ส.ศิริกัญญา ยังได้เล่าประสบการณ์การฉีดวัคซีนที่สถาบันบำราศนราดูรอีกด้วยว่า ตนฉีดวัคซีนซิโนแวก ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีอาการปวด ไม่ต้องพักฟื้น 30 นาทีตามที่หมอได้แนะนำและสามารถประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ

ในขณะที่นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ตนอยากให้ความเชื่อมันกับประชาชนว่าเมื่อถึงเวลาได้ฉีดวัคซีนแล้ว ผลข้างเคียงน้อยมาก ตนไปฉีดรู้สึกแค่เหมือนมียุงมากัด ยืนยันว่าไปฉีดได้ ปลอดภัยดี ไม่มีปัญหา ซึ่งหลังจากที่ตนไปฉีดแล้วมีประชาชนถามมาว่าทำไมส.ส.ได้ฉีดก่อน แต่ประชาชนได้ฉีดทีหลัง ขอยืนยันว่าส.ส.ก้าวไกลไม่ได้คิดว่าจะต้องฉีดก่อนประชาชน แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการการดำเนินการของภาครัฐ เมื่อได้เปิดให้ฉีดวัคซีนแล้วอยากให้ไปฉีดกันอย่างทั่วถึงถ้วนหน้าที่สุด

เมื่อถามว่าการควบคุมหรือการรักษามีโอกาสหายขาดหรือไม่ เนื่องจากมีความกังวลว่าโรคโควิด-19เมื่อลงปอดแล้วจะมีอาการต่อเนื่อง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยต่อไปตลอดชีวิต มีเคสที่เป็นเช่นนี้หรือไม่ นพ.วาโย กล่าวว่า มีเคสเช่นนี้ โรคนี้มีโอกาสความเสี่ยงสูงที่อาจจะเสียชีวิตได้ ฉะนั้นในรายที่ไม่ได้เสียชีวิตแต่อาการหนักและรอดพ้นจากการเสียชีวิต อาจเกิดการทุพลภาพเรื้อรังถาวรได้ในบางกรณีแต่ไม่มากนัก ถ้าหากระบบสาธารณสุขเอาอยู่ได้ ฉะนั้นจึงต้องเตรียมการให้ดีซึ่งวัคซีนจะมีผลทำให้อาการของโรคไม่รุนแรงหรือไม่ตาย

เมื่อถามว่าการใช้โมเดลบางแค ถ้าไม่ได้นำเข้าสเปรดเดอร์ใหม่ พื้นที่ก็จะไม่มีคนติดเชื้อเพิ่มใช่หรือไม่ นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าใครติดบ้างไม่ติดบ้าง เพราะจะเห็นว่าตอนนี้มีการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ ฉะนั้นการใช้โมเดลบางแคในเชิงปฏิบัติไม่น่าจะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามทางออกจริงๆ คือการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงมากที่สุดมากกว่าการล็อกดาวน์แน่นอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image