ความสำคัญที่ยิ่งใหญ่จากการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า

ผู้นำรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (2 คนแรกถูกจับควบคุมตัวโดยฝ่ายรัฐประหาร)

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมานี้ คณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็น ส.ส. พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่จัดเมื่อ พ.ศ.2563 แต่ถูกรัฐประหารโดยคณะทหารของเมียนมายึดอำนาจโดยใช้กำลังทหาร ได้ประกาศบนสื่อโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก และเพจ {Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw-CRPH} ว่าได้จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เป็นรัฐบาลคู่ขนาน เพื่อต่อต้านล้มล้างเผด็จการทหาร พร้อมเปิดโผคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งต่างๆ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาชุดนี้ ประกอบด้วย ประธานาธิบดี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย 11 รัฐมนตรีสำหรับ 12 กระทรวง และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างๆ อีก 12 ตำแหน่ง ทั้งนี้ สมาชิก ครม. 26 คน มี 13 คนเป็นชาวชาติพันธุ์ และ 8 คนเป็นนักการเมืองหญิงโดยมี นายอู วิน มยิ้ด จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเป็นประธานาธิบดีและนางออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐเช่นเดิม ถึงแม้ว่าบุคคลทั้ง 2 ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของกองทัพพม่าก็ตามนายดูหว่าละชิละ จากชาติพันธุ์กะฉิ่นเป็นรองประธานาธิบดี รักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี และ นายมานวิน ข่าย ตาน จากชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นนายกรัฐมนตรี นางสาวซิน มาร์ ออง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ นายอู ลวิน โกลัต รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย นายอู เย มอน (U Ye Mon) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

ตราอาร์มของกองทัพสหพันธ์อิรวดี

นายอู ทิน ทัน เน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ศาสตราจารย์ซอว์ วาย โซ เป็น รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

เรื่องที่น่าสนใจมากคือ หลังจากการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแล้ว ยังมีการประกาศรวมตัวของคนรุ่นใหม่กับตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มจัดตั้งกองทัพสหพันธ์อิรวดีที่เป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นอีกกองกำลังหนึ่งนอกเหนือจากกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีก 7 กองทัพ

พูดง่ายๆ ก็คือเป็นกองกำลังของชาวพม่าที่เปิดต้อนรับเหล่าทหารหาญพม่าผู้เปลี่ยนใจที่จะปราบปรามประชาชนหันมารวมตัวกันต่อสู้กับทหารฝ่ายเผด็จการนั่นเอง แต่เป็นการต่างคนต่างสู้นะครับ ไม่ได้รวมกันเป็นกองทัพเดียวที่มีการบังคับบัญชากันอย่างเป็นเอกภาพเพราะบรรดากองทัพของชาติพันธุ์ต่างๆ ยังไม่ไว้ใจชาวพม่ามากนัก แต่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่มีรองประธานาธิบดีรักษาการประธานาธิบดีเป็นคนกะฉิ่นและนายกรัฐมนตรีเป็นคนกะเหรี่ยงก็เป็นการแสดงความสามัคคีของชาวพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ของพม่าได้เป็นอย่างดี

Advertisement

ครับ ! หากเริ่มมีรัฐบาลของนานาประเทศรับรองรัฐบาลแห่งชาติของพม่าแล้วสถานการณ์ในพม่าก็จะพลิกผันไปอย่างรวดเร็วทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษที่มีแนวโน้มสูงมากที่จะรับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าที่สถาปนาขึ้นมาจากกลุ่มผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนพม่ามากกว่ารัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในวันเสาร์ที่ 25 เมษายน ที่จะถึงนี้จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียนั้น ตามที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยแถลงว่าว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาจะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย ถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของผู้นำทหารเมียนมา หลังจากทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และหากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่าตัดสินใจส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วยคงสนุกพิลึกเนื่องจากท่าทีของรัฐบาลอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย แสดงออกโดยชัดแจ้งว่าต่อต้านการรัฐประหารของเมียนมา โดยเฉพาะการฆ่าประชาชนพม่าไปแล้วกว่า 700 คน

Advertisement

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image