หนี้หายหมื่นล้านพ่นพิษ ปปช.เร่งสอบ ‘ยลดา’ – แจง4รมต.ใหม่ ไม่ต้องแจ้งทรัพย์สิน

หนี้หายหมื่นล้านพ่นพิษ ปปช.เร่งสอบ ยลดา นายกอบจ.โคราช แจง4รมต.ใหม่ ตรีนุช-ชัยวุฒิ-สินิตย์-วีรศักดิ์ ไม่ต้องแจ้งทรัพย์สิน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน กรณีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางยลดา หวังศุภกิจโกศล คู่สมรส ที่ได้ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ที่หนี้สินหายไปกว่าหมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปี กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคม

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 เมษายน ถึงกรณีความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายวีรศักดิ์ และนางยลดา ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเอกสารต่างๆ ก่อน ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.มีวิธีตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลใดๆ ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายวีรศักดิ์อาจได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.คมนาคม เพราะมาตรา 105 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีข้อยกเว้นว่า หากเคยยื่นบัญชีทรัพย์สินเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส.แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเป็น ครม.อีก จะทำให้การตรวจสอบกรณีหนี้สิน 10,000 ล้านบาท ที่หายไปมีความยากลำบากขึ้นหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า ไม่ลำบาก กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.มีวิธีตรวจสอบพิสูจน์อยู่แล้ว

ชี้4รมต.ใหม่ไม่ต้องแจ้งทรัพย์สิน
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณี 4 รัฐมนตรีใหม่ ที่เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2564 ได้แก่ 1.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 4.นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความคืบหน้าอย่างไร

Advertisement

นายวรวิทย์กล่าวว่า สำหรับกรณีของรัฐมนตรีทั้ง 4 รายนั้น เคยยื่นเมื่อครั้งเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แล้ว จึงไม่ต้องยื่นอีก นอกเสียจากเจ้าตัวต้องการยื่นไว้เป็นหลักฐานสามารถทำได้ ตามที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 105 วรรคท้าย กำหนดว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งตาม (1) (2) รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีด้วย ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีในตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นเป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ารัฐมนตรีทั้ง 4 คน ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่ครบ 60 วันตามกฎหมายกำหนด ถ้าจะยื่นต้องดำเนินการยื่นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 มีนาคม-26 พฤษภาคม 2564

วิปรบ.พักคุยแก้รัฐธรรมนูญ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพรรคเล็กเรียกร้องให้วิปรัฐบาลหารือถึงทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ขณะนี้ไม่ทราบถึงทิศทางที่ชัดเจนของรัฐบาลว่า เรื่องนี้พวกตนคุยกันได้ ตอนนี้ขอพักรบก่อน และเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา รอเปิดสมัยประชุมสภาก่อน และขณะนี้ทำงานในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว

ปชป.เชื่อวิป3ฝ่ายดันรื้อรธน.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม ส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาล เรียกร้องให้วิปรัฐบาลยกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญหารือร่วมกันเพื่อให้การแก้ไขเป็นจริงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกัน มองว่าก่อนการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาเดือนพฤษภาคม ทุกฝ่าย คือ วิปรัฐบาล, วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ต้องหารือร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้จริงและเพื่อถอดสลักปัญหา ส่วนกรณีที่พรรค พปชร.ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแล้วนั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา สมาชิกรัฐสภามีสิทธิออกเสียงสนับสนุนหรือไม่ก็ได้ เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ต้องแสวงหาความร่วมมือ เพื่อให้การแก้ไขกติกาสูงสุดของบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยตามหลักการสากลมากขึ้น นอกจากนั้นต้องให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง ขณะเดียวกันอำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบได้ เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำควบคู่กันไปได้ระหว่างงานของรัฐบาลที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ แต่มีบางประเด็นที่ห่วงคือ มีบางกลุ่มบางพรรคพยายามปลุกกระแสต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา

Advertisement

ยันนายกฯต้องมาจากพรรค
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่พรรค ปชป.ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกนายกรัฐมนตรี สาระสำคัญคือ คงหลักการให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 3 ชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ โดยทั้ง 3 ชื่อในบัญชีนั้นไม่จำกัดว่าต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส่วนกรณีที่เสนอให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส.นั้น ข้อเท็จจริงคือการเปิดช่อง กรณีที่รายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะให้สภาเสนอและเลือก ส.ส.ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น ในประเด็นคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเป็น ส.ส.เหมือนกับปี 2535 ที่มีการเรียกร้องกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image