‘พีระศักดิ์’ ชี้ ส.ว. ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ถกแก้รธน.เป็นกิจจะลักษณะไม่ได้

‘พีระศักดิ์’ ชี้ ส.ว. ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ถกแก้รธน.เป็นกิจจะลักษณะไม่ได้ เผยโหวตเห็นด้วยแก้รธน.แต่แรก เห็นด้วยมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ส.ว. ว่า เนื่องจากส.ว.ค่อนข้างเป็นอิสระ เพราะไม่ได้เป็นพรรคการเมือง จึงไม่ได้มีการหารือกันเป็นกิจจะลักษณะหรือเป็นมติของวิปคงทำไม่ได้ แต่ละจึงเป็นเรื่องความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มว่าจะคิดเห็นกันเช่นไร

เมื่อถามว่ามีส.ว.บางท่านเห็นด้วยกับการแก้มาตรา 272 ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องของพรรคการเมืองเพราะเป็นคนเสนอนโยบายต่อประชาชนในตอนเลือกตั้ง ว่ามีนโยบายอย่างไรหรือเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี จึงคิดว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองมากกว่า ซึ่งตนเห็นด้วยกับการแก้ประเด็นดังนี้มานานแล้ว แต่ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกตอนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาเลือกพล.อ.ประยุทธ์ แต่หลังจากนี้ให้กำหนดในรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ว่าให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถามว่ามองว่าหลังจากนี้เสียงโหวตของส.ว.ในการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับตนโหวตเห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น แต่เมื่อโหวตครั้งที่ 2 เกิดปัญหาข้อกฎหมายว่าแก้ได้หรือไม่ ตนจึงงดออกเสียง แต่หลักการแล้วเมื่อพรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลและภาคประชาชนเสนอแก้ฉะนั้นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไรที่พรรคฝ่ายค้านเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเป็นบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อยุติเป็นในส่วนของรายละเอียดสำหรับตนเคยเสนอแก้ไขเปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบเหมือนเดิม เพราะเป็นการรอนสิทธิ์ของประชนชนจากเดิมที่สามารถใช้สิทธิ์เลือกได้ทั้งพรรคและตัวบุคคล ประเด็นใดที่เปิดโอกาสให้ประชาชนก็ควรจะทำ

เมื่อถามว่าการแก้ไขรายมาตรามีโอกาสจะสำเร็จมากกว่าการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างใหม่ใช่หรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เดินไปในทางการแก้ไขรายมาตราอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของส.ว. ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของส.ว.แต่ละท่าน

ขณะเดียวกันที่มีเสียงเรียกร้องต้องการให้ยกร่างใหม่มากกว่า ซึ่งเป็นความเห็นของแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย อย่างไรก็ตามต้องมาหาข้อยุติสุดท้ายในสภา ว่าทั้งส.ส.และส.ว.จะเห็นด้วยอย่างไรกับกติการัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นี้

Advertisement

เมื่อถามว่าการแก้รายมาตราหรือการยกร่างจะช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของส.ส.และส.ว. อยู่แล้วในฐานะที่เป็นผู้แทนประชาชนที่จะต้องฟังกระแสสังคม และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวกับประชาชน ขอให้ประชาชนสื่อสารกันมาเยอะๆ เพราะหลักประชาธิปไตยคือต้องเปิดพื้นที่ในการแสดงความเห็น อย่าจำกัดสิทธิ์ประชาชนมาก อย่างไรก็ตามสุดท้ายก็ต้องใช้กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image