กมธ.ป.ป.ช.จ่อเรียก ‘อธิบดีกรมราชทัณฑ์’ แจงปมเข้าตรวจโควิด ‘3 นักโทษคดีการเมือง’ อีกครั้ง

กมธ.ป.ป.ช.จ่อเรียก ‘อธิบดีกรมราชทัณฑ์’ แจงปมเข้าตรวจโควิด ‘3 นักโทษคดีการเมือง’ อีกครั้ง

เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 22 เมษายน ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังประชุม กมธ.ป.ป.ช. ในวันนี้ (22 เมษายน) ว่า มีการเชิญนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายกริช กระแสทิพย์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะอดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และแพทย์ผู้ควบคุมการปฏิบัติการ เข้าชี้แจงต่อคณะ กมธ. กรณีความปลอดภัยของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา นายอานนท์ นำภา, นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ถูกนำตัวย้ายจากเรือนจำธนบุรีมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และในช่วงกลางดึกคืนดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้เข้ามากล่าวอ้างว่าจะนำตัวไปตรวจโควิด-19 จากกรณีที่เกิดขึ้น กมธ.ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายธีรัจชัยกล่าวว่า เนื่องจากศาลได้วินิจฉัยว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และยังไม่ต้องเร่งตรวจสอบในยามวิกาล รุ่งเช้าก็ตรวจได้โดยที่ไม่ต้องกระทบการพักผ่อนของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ จากการสอบถาม นพ.วีระกิตติ์ ยืนยันว่า เป็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจโควิดตามปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อ ดังนั้น ประเด็นที่ตนสงสัย คือมีความฉุกเฉินเร่งด่วนหรือไม่ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่เหตุใดกรมราชทัณฑ์จึงต้องเร่งตรวจในคืนดังกล่าวให้ได้ ถือเป็นข้อพิรุธอย่างยิ่ง ตนจึงขอเอกสารชี้แจง ว่าทั้งประเทศมีผู้ถูกคุมขังจำนวนเท่าไหร่ที่ถูกตรวจในเวลากลางคืน โดยรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รับปากว่าจะหาข้อมูลมาให้ต่อไป

ทางกมธ.ยังยืนยันว่า จะขอไปพบผู้ต้องขังในคดีนี้ทุกท่าน เดิมจะไปวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีมาตรการป้องกันโควิด ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ ดังนั้นหลังวันที่ 5 พฤษภาคม เราจะขอเข้าไปตรวจสอบ เพื่อไปตรวจหาความจริงให้ปรากฏ คดีนี้เราไม่ปล่อยผ่าน เพราะคนที่ถูดคุมขังเป็นนักศึกษาและเยาวชนของชาติ ที่ถูกดำเนินคดีในความเห็นแตกต่างไม่ใช่การก่ออาชญากรรมร้ายแรง จากนั้น จะทำสรุปเรื่องว่าเป็นอย่างไร หวังว่ากรมราชทัณฑ์จะไม่ขัดข้อง และการประชุมคณะกมธ. ครั้งหน้า จะเชิญอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาชี้แจงอีกครั้ง เนื่องจากวันนี้ท่านไม่ได้เดินทางมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image