“ถาวร”ร้องคัดค้าน ศาลรธน.รับวินิจฉัยชี้ขาด หลุดคุณสมบัติส.ส. ชี้ โดนสั่งขังมิชอบ

“ถาวร”ร้องคัดค้าน ศาลรธน.รับวินิจฉัยชี้ขาด หลุดคุณสมบัติส.ส. หลังนอนคุกคดีก่อม็อบ กปปส. ชี้โดนศาลสั่งขังมิชอบ ถือว่าขัดรธน. ยันความเป็นส.ส.ยังอยู่

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม และส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายตัวแทนไปยื่นคำร้องคัดค้าน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลฯรับคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปมขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ หรือไม่ โดยคำร้องคัดค้านของนายถาวร ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 4 มีเนื้อหาความยาวรวม 16 หน้า จำนวน 6 ข้อ โดยประเด็นหลักในข้อต่อสู้ดังกล่าวเรื่องการถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษ 2 วัน ซึ่งถือเป็นการขังชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาให้ประกัน รวมถึงเป็นการสั่งขังในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่อาจเข้าข่ายมิชอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติว่าศาลจะพิจารณาคดีก็ได้ แต่การจะพิจารณาคดี ต้องไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.และในวันที่ถูกสั่งขังมีการประชุมรัฐสภาวันที่ 24-25 ก.พ.2564

การที่ผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยหมายของศาลอาญา ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องที่4ซึ่งมีสถานะส.ส.ถูกขัดขวางไม่สามารถเข้าร่วมประชุมรัฐสภาได้ จึงเป็นเหตุให้กระทบต่อการทำหน้าที่ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2560 มาตรา 125 จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องถูกคุมขังอยู่ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตามที่กฎหมายบัญญัติ สมาชิกภาพของส.ส.จึงยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(6) ตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลฯ วินิจฉัย

ทั้งนี้ นายถาวร ให้สัมภาษณ์ว่า การยื่นคำร้องคัดค้าน ต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื่องจาก เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ระบุว่าการที่ตนและกลุ่มประชาชนได้รวมตัวกันชุมนุมคัดค้านรัฐบาลในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯที่ออกกฎหมายลบล้างความผิดให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และยังดำเนินการเกี่ยวกับการกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท มาใช้ในนามรัฐบาลโดยที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้นั้น เป็นการใช้เสรีภาพ เป็นสิทธิของบุคคลในฐานะพลเมืองที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ

Advertisement

นายถาวร กล่าวต่อว่า ดังนั้น การที่ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ว่าการกระทำของพวกตนเป็นความผิด ข้อหาบุกรุกและยุยง ปลุกปั่น รวม 5 กระทงความผิด ให้จำคุก 5 ปีนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วย และได้ยื่นขออุทธรณ์ ที่สำคัญ ในวันที่ไปฟังคำพิพากษานั้น เราได้รีบยื่นเรื่องขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าศาลอาญาไม่มีการพิจารณาว่าจะสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่ กลับส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้มีคำสั่งใดๆในคืนวันดังกล่าวด้วย ส่งผลให้พวกตนถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

นายถาวร กล่าวอีกว่า ต่อมา วันที่ 25 ก.พ. กระบวนการทางราชการของศาลทำให้พวกตนถูกขังฟรีอีก 1 คืน แล้วมาอนุญาตให้ปล่อยตัวพวกตนเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา จากนั้น ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตนพ้นจากสมาชิกภาพของ ส.ส.แล้วหลังจากถูกขัง 2 วัน แต่ตนเห็นว่าการสั่งขังดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติว่าในกรณีที่มีการฟ้องส.ส.หรือส.ว.ในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุม ดังนั้น การที่ศาลไม่พิจารณาคำขออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งที่เราได้รีบยื่นคำร้องภายในวันเดียวกับที่ศาลพิพากษานั้น จึงถือเป็นการขังที่มิชอบ และเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในการไปประชุมสภาฯ ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือกว่ากฎหมายอื่นๆ และกระบวนการพิจารณาของศาล เพราะฉะนั้น คุณสมบัติความเป็นส.ส.ของตนยังคงอยู่

อ่านร่างคำร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image