ปธ.แพทย์ชนบท ชี้ ไทยฉีดวัคซีนอัตราส่วนน้อยท้ายแถวโลก สะท้อนรบ.-ระบบราชการล้มเหลว

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้ ไทยฉีดวัคซีนอัตราส่วนน้อยระดับท้ายแถวโลก สะท้อนรัฐบาลและระบบราชการที่ล้มเหลว

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เผยแพร่บทความเรื่อง วัคซีนโควิด บทสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลและระบบราชการไทย วิจารณ์การบริหารจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาล โดยระบุว่า

ประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในสัดส่วนที่น้อยลำดับท้ายแถวของโลก แถมยังมีการพยายามแก้ตัวว่า เพราะเรามีการระบาดน้อย การที่เราใส่แมสก์ล้างมือเว้นระยะห่างนั้นดีกว่าวัคซีนอีก ทั้งหมดนี้เพื่อกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า “เรามีการจัดการเรื่องวัคซีนที่ผิดพลาด จนแทบจะไม่มีวัคซีนจะฉีดให้ประชาชน”

ระเบียบพัสดุว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่มีระเบียบหยุมหยิมและแข็งตัว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ที่เน้นตรวจตามระเบียบจนส่วนราชการไม่กล้าขยับ สำนักงบประมาณที่เน้นการใช้จ่ายงบตามแผนมากกว่าสถานการณ์และความเป็นจริง กลไกราชการในกระทรวงที่มีขั้นตอนยืดเยื้อไม่ทันการณ์ ผู้บริหารก็ติดอยู่ในกรอบการทำหน้าที่ตามระบบระเบียบกฏเกณฑ์จนไม่อาจเผชิญหน้าเท่าทันสถานการณ์วิกฤตได้ การจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดจึงสะท้อนความล้มเหลวของระบบการบริหารรัฐไทยได้อย่างชัดแจ้ง

นานาประเทศทั่วโลกที่ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตวัคซีนเอง ยังสามารถจัดหาวัคซีนให้ประชากรของเขาได้ไปมากแล้ว แต่ประเทศไทยนั้นที่เคยคุยโม้ว่า เรามีโรงงานผลิตวัคซีนเองคือ สยามไบโอไซน์ ทำให้ไทยพึ่งตนเองได้ แต่กลับปรากฏว่า เราพึ่งพาได้เพียง sinovac จำนวนน้อยในปัจจุบัน และ AstraZeneca จาก สยามไบโอไซน์ ที่ไม่รู้ว่าเดือนมิถุนายนจะสามารถผลิตวัคซีนล็อตแรกออกมาได้จริงไหม ปริมาณเท่าใด และประสิทธิภาพจะโอเคไหม รวมทั้งข่าวการเจรจากับ Pfizer หรือ เจรจาจัดซื้อวัคซีนสปุคนิกจากรัสเซีย ล้วนยังเลื่อนลอย

Advertisement

การที่โรงพยาบาลเอกชนเข้ากดดันรัฐบาลของนำเข้าวัคซีนเอง อีกทั้งยังมีกลุ่ม่นักธุรกิจระดับนำ 40 บริษัทได้ออกมาแสดงท่าทีขอนำเข้าวัคซีนเองอย่างน้อยก็เพื่อฉีดพนักงานของตนเองที่มีกว่าล้านคน เสียงของนักธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและร้านอาหารที่ขอร้องรัฐบาลให้จัดสรรวัคซีนให้ด่วน เพื่อจะได้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ทันฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ไม่รวมถึงเสียงชาวบ้านที่บ่นเรียกหาวัคซีนเพื่อหยุดการระบาดที่ทำลายเศรษฐกิจจนย่อยยับ นี่คือสัญญาณที่ชัดว่า คนกลุ่มใหญ่เริ่มทนไม่ไหวกับการจัดการภาครัฐที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลประยุทธ์

นอกจากเรื่องมีวัคซีนน้อย ไม่พอให้ฉีดแล้ว ถ้ามีวัคซีนมาแต่มาช้าก็จะเหนื่อยมาก สมมุติว่าเราจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนคนไทย 50 ล้านคน ย่อมต้องการวัคซีน 100 ล้านโดส เรามีเวลาฉีดเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคมคือ 8 เดือนหรือ 240 วัน แปลว่า เราต้องมีการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนวันละ 416,666 คน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะฉีดวัคซีนวันละ 4 แสนคน หากวัคซีนมาช้าไปอีก เวลาที่เหลือก็ยิ่งลดลง การที่จะจบการระบาดของโควิดด้วยวัคซีนในสิ้นปี 2564 ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย

การบริหารจัดการวัคซีนที่ล้มเหลว รวมทั้งการจัดการหาเตียงให้ผู้ป่วยที่วุ่นวายสับสนและล่าช้ายิ่ง สะท้อนประสิทธิภาพในการเผชิญภัยคุกคามอุบัติใหม่ของรัฐไทย การบริหารจัดการภาครัฐของรัฐบาลและระบบราชการนั้นล้มเหลวอย่างหนัก ปัญหาของประเทศไทยจึงชัดเจนตั้งแต่โครงสร้างอำนาจที่มีกลไกบริหารส่วนบนที่ไร้ประสิทธิภาพ อีกทั้งยังรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจไว้กับระบบราชการที่อืดอาดล่าช้าและมีระเบียบซ้อนทับพันจนเป็นปมที่แก้ไม่ออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญยิ่ง และต้องรื้อใหญ่ระบบราชการไทยครั้งยิ่งใหญ่ด้วย เพื่อยุติการรวมศูนย์อำนาจ กระจายอำนาจให้สุดติ่ง สร้างระบบที่เอื้อต่อการร่วมพัฒนาประเทศโดยเอกชน ประชาชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ ไม่ให้ผูกขาดที่ระบบราชการเช่นเดิม ประเทศไทยจึงจะเดินต่อไปได้

Advertisement

เราทุกคนเข้าใจดีว่ากระทรวงสาธารณสุขทำงานหนักมาก ทั้งผู้บริหารตั้งแต่ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง จนถึงระดับปฏิบัติการ ต่างเร่งกอบกู้สถานการณ์อย่างเต็มที่ แต่ข้อจำกัดของระเบียบราชการนั้นเป็นอุปสรรคจริงๆ

โควิดและวัคซีน จึงไม่ควรจบเพียงการจัดหาวัคซีนหรือการฉีดวัคซีนถ้วนทั่วเท่านั้น แต่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญไทยและระบบราชการไทย ที่ทุกองค์กรต้องช่วยกันผลักและดันให้เป็นจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image