‘สธ.-กทม.’ ปรับระบบ หลังเหตุสะเทือนใจ ‘3 อาม่าพี่น้อง’ ติดโควิด รอเตียงจนดับในบ้าน 1 คน

‘สธ.-กทม.’ ปรับระบบ หลังเหตุสะเทือนใจ ‘3 อาม่าพี่น้อง’ ติดโควิด รอเตียงนานจนเสียชีวิตในบ้าน 1 ราย

วันที่ 24 เมษายน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับระบบใหม่ทั้งสายด่วน 1668 และสายด่วน 1330 ในการรับแจ้งเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด และการจัดอันดับความสำคัญของผู้ป่วยเพื่อนำตัวไปรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หลังเกิดเหตุสะเทือนใจที่ผู้สูงอายุ 3 คนซึ่งเป็นพี่น้องกัน อายุ 84 ปี อายุ 75 ปี และอายุ 70 ปี ติดโควิด อยู่ในบ้านพักซอยวัดไผ่เงิน เขตบางคอแหลม กทม.โดยไม่มีใครช่วยเหลือ เนื่องจากลูกหลานก็ติดโควิดและไปรักษาตัวในโรงพยาบาลกันหมด

ทางสังคมออนไลน์ที่ทราบข่าวจึงพยายามแจ้งทางการให้ช่วยรับอาม่าทั้ง 3 คนไปรักษา แต่ไม่ทันการณ์ กระทั่งอาม่าคนโต เสียชีวิตในบ้านพัก ต่อมารถหน่วยกู้ภัยจึงเข้ามารับศพอาม่าคนโต ก่อนญาติทำพิธีศพอย่างเรียบง่ายในทันที และมีรถพยาบาลมารับ 2 อาม่าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสิรินธร โดยอาการอาม่าคนกลาง วัย 75 ปี มีอาการอ่อนเพลีย เพราะที่ผ่านมาต้องดูแลพี่สาว อายุ 84 ปีที่เพิ่งเสียชีวิตไป และดูแลน้องสาว 70 ปี ที่มีอาการทางสมอง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิด ในซอยเจริญราษฎร์ 5 แยก 16 เขตบางคอแหลม ขอความช่วยเหลือเนื่องจากในครอบครัวมีผู้ติดเชื้อโควิดเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด 6 ราย ก่อนหน้านี้มีรถพยาบาลมารับไปแล้ว 3 ราย ส่วนอีก 3 ราย อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เมื่อวันที่ 22 เมษายนมีผู้สูงอายุ 1 ราย เสียชีวิตในบ้านพัก สำนักการแพทย์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งนำส่งผู้ติดเชื้อโควิดอีก 2 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสิรินธรเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเช้าวันที่ 23 เมษายน ขณะนี้ทั้ง 2 ราย มีอาการดีสัญญาณชีพปกติ ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ และได้รับการรักษาตามมาตรฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสุขสันต์กล่าวว่า กรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด ต้องรอเข้ารับการรักษา เนื่องจากขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ประสานขอเตียงจำนวนมาก จึงมีผู้ป่วยค้างในระบบ รวมถึงข้อมูลผู้ป่วยถูกส่งมาจากหลายทาง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ผู้ป่วยรอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ประสานติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจะจัดรถไปรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นการเร่งด่วน ขอความร่วมมือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาเปิดโทรศัพท์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อและติดตามอาการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

“ส่วนผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ศูนย์เอราวัณจะร่วมกับศูนย์ราชวิถี กรมการแพทย์ เร่งดำเนินการคัดกรอง เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาเป็นลำดับต้นๆ ต่อไป” นายสุขสันต์กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิตที่บ้าน วางแนวทางสำหรับการจัดการศพ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจจะสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล โดยศพได้รับการบรรจุใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น ทุกขั้นตอนจะมีการฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อภายนอกถุงตามมาตรฐานทางการแพทย์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อภายในบ้านและบริเวณโดยรอบ เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง

พ.ต.อ.ธงชัย บัวรังษี ผกก.สน.วัดพระยาไกร กล่าวว่าสน.วัดพระยาไกร ได้รับแจ้งเหตุดังกล่าวพร้อมประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กทม. เร่งช่วยเหลือแล้ว แต่โรงพยาบาลแจ้งกลับมาว่าเตียงผู้ป่วยเต็มต้องให้ผู้ป่วยรอก่อน จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ แต่ระหว่างรอความช่วยเหลือก็มีมีผู้สูงอายุเสียชีวิต 1 คน ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.วัดพระยาไกร ลงพื้นที่พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในการทำเอกสารเพื่อขอรับศพแล้ว

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สธ.พยายามจัดหาเตียง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างรอเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับประชาชน โดยมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ตนต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และต้องขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากความบกพร่อง ความล่าช้าในระบบ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับจริงๆ

“นำข้อบกพร่องมาปรับปรุง โดยจะใช้คอลเซ็นเตอร์ที่มีประสบการณ์จากสายด่วน 1330 และสายด่วน 1668 ในการประสานติดต่อกลับไปยังผู้ป่วยที่ยังคงค้างรอเตียงอยู่ จากข้อมูลขณะนี้อยู่ที่ 1,423 ราย เจ้าหน้าที่จะเริ่มติดต่อกลับไปภายในวันที่ 24 เมษายนนี้ เพื่อติดตามอาการและแจ้งให้เตรียมตัวในการเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม และส่งเข้าสถานพยาบาลวันที่ 25 เมษายน”นายสาธิตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image