ธนาธร แนะประยุทธ์ ลาออก เปิดทางนายกฯคนใหม่ มุ่ง 2 ภารกิจ จัดการโควิด-แก้รธน.

‘ธนาธร’ เสนอทางพ้นวิกฤต ให้ ‘ประยุทธ์’ ลาออก หาคนอื่นแทน มุ่ง 2 ภารกิจ จัดการโควิด-แก้ รธน. แนะรัฐบาลอัดฉีดเงินพยุง ศก. เน้นที่สวัสดิการพื้นฐาน

ประยุทธ์ลาออกเมื่อวันที่ 23 เมษายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เปิดห้องสนทนาทางแอพพลิเคชั่นคลับเฮาส์ชวนประชาชนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ในหัวข้อ “สร้างพันธมิตร ประคองธุรกิจพ้นวิกฤต” ต่อยอดจากการไลฟ์เฟซบุ๊กที่นายธนาธรได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วยการบริหารธุรกิจในสถานการณ์โควิด ผ่านการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน

ช่วงหนึ่ง มีประชาชนผู้ร่วมห้องสนทนาถามความเห็นของนายธนาธรเกี่ยวกับการบริหารจัดการของรัฐบาลในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามในปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาทางการเมือง และทางออกที่นายธนาธรคิดว่าเหมาะสมที่สุดในเวลานี้

นายธนาธรระบุว่า ในทางการเมือง หลายคนเริ่มพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่า ต่อให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม หากยุบสภาเวลานี้ กว่าที่จะได้รัฐบาลใหม่ขึ้นมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ประเทศจะไม่มีรัฐบาลไม่ได้ แม้ว่าประชาชนจะไม่พอใจรัฐบาลในปัจจุบันก็ตาม อีกทางเลือกหนึ่งที่ตนเห็นว่า เป็นไปได้และเหมาะสมมากกว่า ก็คือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ารับตำแหน่งแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีเพียง 2 ภารกิจเท่านั้น คือ 1.จัดการวิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างวัคซีนเพิ่มและการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน และ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นนายกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาเพื่อจัดการปัญหาใหญ่สองเรื่องนี้เท่านั้น หลังจากจัดการปัญหาโควิด-19 และทำรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาแล้ว อาจจะกินเวลา 2 ปี พอดี จึงยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตนคิดว่าสูตรนี้น่าจะดีกับประเทศมากกว่า คือ แก้โจทย์ทั้งการเมืองและโควิด-19 ไปในคราวเดียวกัน เพราะแน่นอนที่สุด ต่อให้แก้ปัญหาโควิด-19 จบ เราก็จะมาเจอกับดักการเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้นักการเมืองฝ่ายอื่นเข้ามามีอำนาจได้อีก

“ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าคุณประยุทธ์ลาออกแล้วมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มีภารกิจที่ชัดเจนสองภารกิจ คือจัดการโควิดแล้วก็แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ สร้างการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงได้ น่าจะดีที่สุด” นายธนาธรกล่าว

Advertisement

นอกจากนี้นายธนาธรยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนซักถามกับผู้ร่วมสนทนา ในประเด็นเกี่ยวกับการทำธุรกิจและสภาวะเศรษฐกิจหลายคำถามด้วยกัน เช่น การเสนอแนวคิดว่าด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ การสร้างงานและเศรษฐกิจผ่านการนำความต้องการของสังคมมาเป็นอุปทาน เป็นต้น

นายธนาธรระบุว่า นี่เป็นช่วงเวลาโอกาสที่ดีมากของประเทศไทยที่จะลงทุน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องวินัยทางการคลังมากเกินไปนัก ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้ไม่มีประเทศไหนบนโลกที่สนใจเรื่องวินัยทางการคลังแล้ว ทุกคนแข่งกันอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจหมด เช่นกรณีของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่อัดฉีดเงินลงไปแล้ว 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเยียวยาโควิด-19 และกำลังจะออกงบประมาณอีก 2-3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ให้เกิดการแก้ปัญหาของสังคม เป็นต้น ซึ่งตนเห็นว่าประเทศไทยเองก็ควรจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้นเช่นกัน แต่ส่วนตนแล้วอยากเห็นการลงทุนในสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ เช่น ทุกวันนี้หลายพื้นที่ แม้ในระดับเทศบาลยังเข้าไม่ถึงน้ำประปาที่สะอาดและเพียงพอใช้ทั้งปี เรายังมีโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรอีกมาก การคมนาคมขนส่งหลายจังหวัดยังไม่มีรถประจำทางที่ดี โรงคัดแยกและจัดการขยะส่วนใหญ่ในประเทศยังคงไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ

นายธนาธรกล่าวว่า ตนกำลังพูดถึงอะไรที่เป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐานจริงๆ ของประชาชน ที่อาจจะไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในทางตรง แต่ลดต้นทุน และลดความเครียดในชีวิตได้ ทำให้ชีวิตของประชาชนถึงแม้จะต้องดิ้นรนทางเศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

“ดังนั้นถ้าถามว่ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ผมว่าเอาเม็ดเงินมาลงทุนกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน เป็นสวัสดิการที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับมาเป็นสิบๆ ปีแล้วแต่ไม่ได้รับ ควรจะต้องทำตรงนี้ ซึ่งพวกนี้จะทำให้เกิดการจ้างงาน ถ้าคุณอัดเม็ดเงินเพิ่ม 1-2 ล้านล้านบาทเข้าไปทำสิ่งพวกนี้ สิ่งพวกนี้เป็น local content เกือบทั้งหมด หมายความว่ามูลค่ามันเกิดขึ้นในประเทศ เงินไม่ได้ไหลออกเพื่อไปนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรจากต่างประเทศ มันทำให้เกิดการจ้างงานแน่นอน และนี่คือสิ่งที่เราต้องการ คืองาน คือคุณภาพที่ดีของประชาชน” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวว่า นอกจากนี้เรายังสามารถใช้โอกาสนี้ในการลงทุนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เคยเสื่อมโทรมมาก่อนหน้านี้ ทำให้พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่ได้อย่างน่าประทับใจกว่าเดิมเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว รวมทั้งการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังคงไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งมีอยู่มากมายเต็มไปหมดในประเทศไทยด้วย ตนยังมีแนวคิดว่าประเทศไทยจะต้องลงทุนในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ใหม่ โดยเอาความต้องการที่มีอยู่ในประเทศอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศตลอด เช่นเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ มาสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ ที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะลงทุนและสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image