วิพากษ์‘งบ 4.5 หมื่นล.’ ปูพรมฐานเสียง รมต.

วิพากษ์‘งบ 4.5 หมื่นล.’ ปูพรมฐานเสียง รมต.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 85/2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด โดยใช้งบประมาณโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก 45,000 ล้านบาท ถูกพรรคฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า มีการมอบหมายงานให้รัฐมนตรีหลายคนรับผิดชอบ โดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพและผลประโยชน์ของประชาชน แต่แบ่งตามฐานเสียงของพรรครัฐบาลนั้น

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจและกฎหมายท้องถิ่น

Advertisement

แนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่ โดยส่งรัฐมนตรีลงไปคุมแต่ละจังหวัด ที่ผ่านมามีรัฐบาลหลายสมัยก็ทำแบบนี้ แต่พบว่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ารัฐมนตรีคนไหนจะคุมจังหวัดอะไร แม้ว่าเรื่องนี้จะสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การปฏิบัติในวิธีการบริหารไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพียงแต่เข้าไปควบคุม กำกับดูแลในกรอบกว้าง แต่ถ้าถามว่าจะมีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ ยืนยันว่ามีแน่นอน ไม่เช่นนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทำไมถูกส่งไปดูจังหวัดภาคใต้ ถามว่าจะไปดูอะไรเป็นเรื่องหลัก

สำหรับการออกคำสั่งนี้ รัฐมนตรีจากทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมีความรับผิดชอบทั้งหมด เชื่อว่าอย่างน้อยก่อนออกคำสั่งจะต้องมีการหารือมาแล้วแต่ทราบจากการเสนอผ่านสื่อกรณีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าไม่มีความเห็น ก็แสดงว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติ ขณะที่ทุกพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในแต่ละจังหวัดก็ทำงานตามปกติ จะมีการยุบสภาเลือกตั้งหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคจะวางแนวทางวางยุทธศาสตร์ ดังนั้น การส่งรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐบางคนไปดูแลจังหวัดภาคใต้จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งภารกิจงานอย่างเดียว แต่คงมีความประสงค์ซ่อนเร้นในเรื่องอื่น โดยรัฐบาลทำเรื่องนี้ในลักษณะโจ่งแจ้งเกินไป ทั้งที่การทำงานจะต้องมีแผน มีโครงการชัดเจน จึงน่าสงสัยว่าอำนาจของรัฐมนตรีจะไปสั่งการอะไรเพิ่มอีก เพราะยังมีกระทรวงดูแลรับผิดชอบ ผ่านกลไกระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัดลงไปถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น

เพราะฉะนั้นการสั่งการแบบนี้ออกมาหลวมๆ น่าจะเป็นผลในเชิงจิตวิทยา อาจจะส่งสัญญาณลวงว่าพร้อมจะมีการเลือกตั้งใหม่ และเป็นการปรามพรรคการเมืองพวกเดียวกันเองมากกว่า เรื่องนี้ส่วนตัวไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะคิดเอง ทำเอง แต่คงมีคนไปสะกิด ส่งขุนพลมือดีของพรรคไปวางแผนหาคะแนนเสียงเพิ่มในภาคใต้ อาจเป็นหมากกล ทำให้พรรคประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทยเจ้าของพื้นที่เดิมมีความหวั่นไหว จำเป็นต้องส่งน้ำเลี้ยงเข้าไปดูแลเพิ่ม

Advertisement

แต่พรรคคู่แข่งอาจจะสับขาหลอกด้วยการไปบุกตีหัวเมืองพื้นที่อื่นหาคะแนนเสียง ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมดด้วยเล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังคะแนนนิยม และไม่ควรลืมว่าพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.ส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมืองอื่นที่มีประสบการณ์สูง ล่าสุดยังมีการเตรียมพร้อมเพื่อแตกกอไปตั้งพรรคใหม่เพื่อเสริมกำลังในการสืบทอดอำนาจ แต่ประชาชนจะไม่ได้อะไรจากเรื่องเหล่านี้ วันนี้เชื่อว่าประชาชนยังไม่รู้จักชื่อของรัฐมนตรีบางคน

กรณีที่กระทรวงมหาดไทยแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้จัดทำคำขอเพื่อทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น ระดับพื้นที่ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ทราบว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ชงเข้ามาจากงบเงินกู้ ส่วนนักการเมืองที่จะนำไปอ้างเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองในอนาคตก็จะต้องระวังหากมีหลักฐานเพราะผิดกฎหมาย อาจจะมีปัญหาถึงขั้นยุบพรรค ขณะที่การขอใช้งบจะต้องผ่านกรรมาธิการงบประมาณ ที่มาสัดส่วนมาจากตัวแทนทุกพรรคการเมือง สำหรับเม็ดเงินที่ลงไปก็คงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่คงไม่ถึงระดับฐานรากจริง จากปัญหาระบาดของโควิด-19

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นัยยะทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่ามี 2 ประการใหญ่คือ 1.การพยายามรวมศูนย์อำนาจ ปกติในการบริหารราชการ โครงสร้างรัฐของประเทศไทย มีลักษณะรวมศูนย์อยู่แล้ว ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งการบริหารงานเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น โดยหลักการตรงนี้มีอยู่อย่างยาวนาน แม้เราจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ แต่หลักการสำคัญตรงนี้ไม่เคยเปลี่ยน ยิ่งมีเรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้ไปดูแล และพื้นที่ทั่วประเทศเข้าไปอีก ยิ่งทำให้การรวมศูนย์อำนาจมีความเข้มข้นขึ้นมาอีก

ฉะนั้น การกระจายอำนาจหรือทำให้เกิดความเข้มแข็งในแต่ละชุมชนท้องถิ่นย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน

ประการที่ 2 คือ นัยยะทางการเมือง การสั่งโดยนายกรัฐมนตรี ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์สลับกับพรรคพลังประชารัฐ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการสร้างฐานเสียงในพื้นที่ อย่าลืมว่าวันนี้การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นแทบจะทุกเขตก็เป็นชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ กระทั่งภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ปกติถือว่าเป็นเขตพื้นที่ของประชาธิปัตย์มาอย่างเข้มข้นยาวนาน แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดก็ยังพ่ายให้กับพลังประชารัฐ

ดังนั้น ในระยะยาว การวางฐานทางการเมืองของพลังประชารัฐคงเป็นสิ่งที่พรรคมีเป้าหมายเช่นนั้น สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างของพลังประชารัฐที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็มีการปรับเปลี่ยน เช่น กรรมการบริหารพรรค และเลขาธิการพรรค ที่มีข่าวว่าจะเปลี่ยนตัวแต่เนื่องด้วยเวลานี้มีกระแสการระบาดของโควิด-19 การประชุมพรรคจึงเลื่อนออกไป แต่ก็สอดคล้องกับการวางยุทธศาสตร์ให้รัฐมนตรีเข้ามาดูแลแต่ละพื้นที่ และมีความเป็นไปได้อีกที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการวางฐานทางคะแนนเสียงและอำนาจทางการเมืองในพื้นที่นั่นเอง

ส่วนตัวเห็นด้วยกับที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการแบ่งเค้ก เพราะในวิกฤตโดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 สิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนก็คือการบูรณาการในการทำงานกับทุกหน่วยงาน หรือแม้กระทั่งในพรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่ควรที่จะเป็นเรื่องมาแย่งซีนในทางการเมือง หรือการพยายามสร้างฐานคะแนนต่างๆ เพราะไม่ใช่เวลาที่ถูกต้อง

ณ เวลานี้การบูรณาการในการทำงาน หรือแม้การทำให้เกิดเสถียรภาพในการทำงาน โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะยังต้องไปเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการระดับพื้นที่ด้วย ทั้งราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น การไปแบ่งพื้นที่ทำงาน หรือแม้แต่การมองถึงผลประโยชน์ทางการเมือง จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องในเวลานี้

ผมเชื่อว่า อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่ประชาธิปัตย์จะถอนตัว อย่าลืมว่าประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลครั้งนี้เพื่อตั้งรัฐบาลครั้งหน้า และยังไม่มีปัจจัยอะไร หรือเงื่อนไขใดที่สะท้อนถึงความได้เปรียบของพรรค แม้ประชาธิปัตย์มีความเข้มแข็งที่สุดในภาคใต้ และ จ.นครศรีธรรมราช แต่ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านมาก็ยังพ่ายแพ้ให้กับพลังประชารัฐ สะท้อนให้เห็นว่า ในเชิงรูปธรรมไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องชี้วัดได้เลยว่าเขามีความได้เปรียบมากพอจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล

อีกทั้งยังไม่ได้มีฐานที่เข้มแข็งภาคใต้เหมือนเดิม ฐานเสียงในกรุงเทพมหานครก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็ยังไม่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งโครงสร้างของกรุงเทพมหานครที่มีการยกเลิกสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ไปแล้ว ว่าจะกระทบต่อฐานประชาธิปัตย์หรือไม่ เพราะ ส.ข.คือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับคนกรุงเทพฯมากที่สุด อีกทั้งยังอยู่ในภาวะที่ประชาธิปัตย์ไม่มี ส.ส.ใน กทม.แม้แต่คนเดียว

ดังนั้น ปัจจัยทางการเมืองจึงยังไม่เอื้อกับพรรคประชาธิปัตย์ การถอนตัวจึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในเวลานี้

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากดูจากคำสั่งก็เป็นคำสั่งทางราชการ ก่อนเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่จะให้รัฐมนตรีไปกำกับ-ติดตาม ตรวจสอบงบประมาณ ตามหลักการสามารถทำได้ แต่หากพิจารณาทางการเมืองก็มีสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตได้เช่นกัน

เราพบว่ารัฐมนตรีหลายท่านอยู่ในพื้นที่ เช่น ประชาธิปัตย์ อยู่พื้นที่ภาคใต้ทาง จ.สงขลา พัทลุง แต่การมอบหมายให้ไปอยู่พื้นที่ภาคอีสาน ก็มีนัยยะที่ทำให้เกิดการตั้งขอสงสัย

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีซีกพลังประชารัฐก็ดีที่มีความสามารถทางการเมือง ในฐานะผู้จัดการ ประธานยุทธศาสตร์พรรค กลับไปอยู่ในพื้นที่ทางการเมืองที่พลังประชารัฐอยากขยายอาณาเขตอำนาจ เช่น ภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ถูกทำให้มองได้ว่า กรณีตั้งกรรมการชุดนี้เป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมทางการเมืองเนื่องจากไปเกี่ยวพันกับงบประมาณ 45,000 ล้านบาท ในการกำกับ ติดตามโครงการ เปิดโอกาสให้สามารถถูกใช้ในทางการเมืองได้ โดยอาจจะเตรียมวางแผน เตรียมความพร้อมในการใช้จ่าย ระดมทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลในการเตรียมเลือกตั้งครั้งหน้า

การปรับเที่ยวนี้ หากเราจับตาดูจากพื้นที่ที่บรรดารัฐมนตรีรับผิดชอบ จะพบว่าบรรดารัฐมนตรีในพลังประชารัฐอยู่ในเขตอิทธิพลทางการเมือง สามารถใช้งบประมาณในการหล่อเลี้ยงฐานคะแนนเสียง และประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ได้

บวกกับการดูรัฐมนตรี เช่น จากพรรคภูมิใจไทยก็คล้ายคลึงกัน มีเพียงรัฐมนตรีจากประชาธิปัตย์ที่ถูกออกนอกเขตพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถกำกับ-ติดตามโครงการได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น คุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ไปกำกับติดตามทางภาคเหนือและอีสาน ไม่มีประโยชน์กับเขาในทางการเมือง แต่อาจมีประโยชน์กับประชาชนในแง่การใช้จ่ายงบประมาณ

เงินนี้เป็นเงินที่รัฐบาลกู้มีผลกับประชาชนอยู่แล้ว ถูกใช้ไปในนามของโครงการรัฐบาล แต่ได้ประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลในการกำกับติดตามเงินนี้ มีวาระซ้อนเร้นได้ กล่าวคือ เอาเงินประชาชนไปหาเสียงให้ตัวเอง

สำหรับผม พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่อาจมีความสัมพันธ์ไม่ค่อยดีมานานแล้ว แต่คิดว่าประชาธิปัตย์ยังมีวิธีคิดเพียงแค่ให้ตนเองได้อยู่ร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ในความหมายเดิมที่จะเป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ไม่ได้เป็นพรรคใหญ่เหมือนในอดีต ที่หากมีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันก็จะอยู่คนละฝั่ง ละข้าง แต่ผมคิดว่าระยะหลังประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว อุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองในอดีตนั้นไม่เหมือนเดิม ประชาธิปัตย์จึงมีลักษณะไม่ต่างจากภูมิใจไทย ชาติพัฒนา คือหวังให้ตนเองมีอำนาจทางการเมืองแค่นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่พอใจกันกินแหนงแคลงใจ แต่สุดท้ายประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องยอมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รัฐบาลจะทำอย่างไรก็ต้องยอม ถ้าไม่เปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองแบบนี้

เงินงบประมาณนี้ผมไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแท้จริง เพราะถูกใช้ผ่านกลไกราชการ ส่วนภูมิภาค ภาคประชาสังคม ประชาชน หรือท้องถิ่น ก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ กระบวนการทั้งหมดมีส่วนร่วมแบบ “พิธีกรรมราชการ” ทุกอย่างจะถูกคิด และกำกับโดยราชการ โดยนักการเมือง ประชาชนที่มีส่วนร่วมก็เป็นประชาชนจัดตั้งของบรรดาข้าราชการจังหวัด ไม่ใช่ประชาชนในความหมายทั่วไป

ดังนั้น เงินก้อนนี้ตั้งมาเพื่อใช้ในลักษณะนี้ตั้งแต่ต้นด้วยการพยายามมองว่า ถ้าปล่อยไปที่ประชาชน จะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ใช้อย่างไม่เกิดประโยชน์ จึงต้องให้ข้าราชการเป็นคนกำกับติดตาม หรือคอยควบคุมดูแลทั้งหมด ข้าราชการเองก็เกรงใจนักการเมือง จึงกลายเป็นสามารถได้ประโยชน์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ โดยอาจสร้างความชอบธรรมจากการจัดเวทีประชาคม สำหรับภาคประชาชนที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image