‘ก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์โต้ ส.ศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงคาดเคลื่อน จำเลยไร้สิทธิสู้คดีตามอ้าง

‘ก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์โต้ ส.ศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงคาดเคลื่อน จำเลยไร้สิทธิสู้คดีตามอ้าง แย้งชัดไม่เป็นไปตามหลักสากล ยืนยันคดีอาญาต้องมี ‘สิทธิประกันตัว’ ต่อสู้คดี ย้ำ ฟ้องคดีโดยไม่มุ่งหวังผลคำพิพากษา แต่เพื่อให้ถูกฝากขังโดยศาลคือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองในทำร้ายผู้อื่น

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกแถลงการณ์แสดงความคิดเห็นกรณี เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงกรณีที่มีการตั้งคำถามต่อการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาหรือที่เรียกกันว่า ‘สิทธิในการประกันตัว’ ในคดีบางคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดมา แต่การพิจารณาและมีคำสั่งศาลจำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด ประกอบกับพฤติการณ์และความจำเป็นในแต่ละคดีซึ่งย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ สำหรับหลักการกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันถือว่าสอดคล้องกับหลักการสากลที่ศาลต้องพิจารณาตามพฤติการณ์แต่ละคดีภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งในการพิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆ ศาลยุติธรรมทุกศาลย่อมพิจารณา ให้ความสำคัญ และรับฟังเหตุผลและข้อต่อสู้ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล ระบุว่า กรณีที่ศาลอาจสั่งไม่ให้ประกันตัว หนึ่งในนั้นคือมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะก่ออันตรายประการอื่น โดยอ้างว่ากฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยหรือผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอย่างอื่น พรรคก้าวไกลเห็นว่าหากศาลนำวิธีคิดดังกล่าวมาใช้โดยเหมารวมแม้กระทั่งกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุม ซึ่งคาบเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพของประชาชน แทนที่จะใช้เฉพาะกับกรณีที่เป็นเหตุอันตรายโดยสามัญสำนึก เช่น การฆาตกรรม อย่างเคร่งครัดเท่านั้นแล้ว จะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการแจ้งความหรือฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะผู้แสดงออกซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล ผู้ใช้อำนาจรัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นโดยทั่วไป

“การแจ้งความหรือฟ้องคดีดังกล่าวมิได้มุ่งหวังถึงผลคำพิพากษา หากแต่เพียงผู้ถูกแจ้งความหรือฟ้องคดีถูกฝากขังโดยศาลไม่ให้ประกันตัวก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้แจ้งความหรือฟ้องคดีแล้ว นี่คือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งส่งจะผลให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งจากสาธารณชน”

Advertisement

แถลงการณ์นี้ยังได้ตอบโต้การอ้างถึงกฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักร ได้แก่ Criminal Justice and Public Order Act 1994 และ The Bail Act 1976 เพื่ออ้างว่าต่างประเทศก็ยังมีกฎหมายที่ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในความผิดบางประเภท และศาลอาจไม่อนุญาตให้ประกันตัวได้หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจไม่กลับมามอบตัวต่อศาล หรืออาจกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งอีกนั้น ทว่าในเนื้อหาของ Criminal Justice and Public Order Act 1994 กำหนดว่าการห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวให้ใช้กับความผิดฐานฆาตกรรม (Murder), พยายามฆาตกรรม (Attempted murder), ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (Manslaughter), กระทำชำเรา (Rape) หรือความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศบางประการเท่านั้น และต้องเป็นกรณีที่ผู้ต้องหา/จำเลยเคยถูกพิพากษาในความผิดดังกล่าวมาก่อนแล้วเท่านั้น ในขณะที่ The Bail Act 1976 แม้จะมีเนื้อหาของเหตุในการไม่ให้ประกันตัวที่คล้ายกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ของกฎหมายไทย แต่สหราชอาณาจักรก็มิได้มีกฎหมายห้ามวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ที่มีโทษร้ายแรงเหนือกว่ากฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป และมิได้ถือเอาเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์หรือการชุมนุมเป็นเหตุอันตรายถึงขนาดต้องไม่ให้ประกันตัว การอ้างกฎหมายดังกล่าวของสหราชอาณาจักรจึงมิได้มีความชัดเจน ในการพิสูจน์ให้เห็นว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความสอดคล้องกับหลักการสากลแต่อย่างใด

ในส่วนที่สำนักงานศาลยุติธรรมอ้างว่าในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณา แม้จะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่หาได้ทำให้ถึงขั้นขาดความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ จำเลยหรือผู้ต้องหามีสิทธิปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีแก่ทนายความของตนได้อย่างเต็มที่ และอาจปรึกษาเป็นการลับก็ได้หากมีความจำเป็นในการดำเนินคดีนั้น

แถลงการณ์ระบุว่า ปรากฏว่ามีการรายงานข้อเท็จจริงจากจำเลยและทนายความจำเลยในคดีการชุมนุม “ทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2463 ว่าในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับระหว่างทนายความและลูกความ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ทั้งการตรวจรายชื่อทนายความจําเลยและจําเลยที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด การทําร้ายร่างกายทนายความที่กําลังใช้สิทธิปรึกษากับจําเลยเป็นการเฉพาะตัว การยึดโทรศัพท์ของทนายความจําเลย การไม่เปิดโอกาสให้จําเลยและทนายความได้ปรึกษากันเป็นการเฉพาะตัว นอกจากนี้ยังมีความพยายามกีดกันญาติของจำเลยที่มาติดตามการพิจารณาคดีไม่ให้พบปะกับจำเลย

“ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับคำกล่าวอ้างของสำนักงานศาลยุติธรรมโดยสิ้นเชิง และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 จำเลยคดีดังกล่าวจำนวน 21 ราย ได้แถลงความประสงค์ขอถอนทนายความ เนื่องด้วยกระบวนการพิจารณาคดีในศาลอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และการปฏิบัติที่ไม่เอื้ออำนวยให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ตามหลักการและเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย”

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังตอบโต้กรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรมอ้างถึงจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยที่ได้รับการประกันตัวในปี 2563 ว่ามีถึง 217,904 คดี จากที่ยื่นคำขอมาทั้งหมด 237,875 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.26 แสดงให้เห็นว่าศาลตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพและไม่ได้เป็นการพิจารณาและมีคำสั่งไปในทางใดทางหนึ่งด้วยเหตุอื่นเหตุใด มีข้อสังเกตว่าสัดส่วนดังกล่าวเป็นสัดส่วนของคดีทุกประเภท ในขณะที่ประเภทคดีที่สังคมกำลังเกิดข้อกังขาต่อการพิจารณาให้ประกันตัวของศาลได้แก่คดีการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งจนถึง ณ ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้เผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าว ยังมีผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในคดีการเมืองอย่างน้อย 21 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 15 คน การอ้างชุดข้อมูลเชิงปริมาณดังกล่าวจึงเป็นการอ้างข้อมูลคนละชุดกับที่สังคมต้องการรับทราบ และมิได้ช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าการพิจารณาและมีคำสั่งของศาลได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพครอบคลุมไปถึงผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 ด้วย

“แม้ว่าต่อมาในวันเดียวกันกับที่สำนักงานศาลยุติธรรมเผยแพร่คำชี้แจงดังกล่าว ศาลจะได้มีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 จำนวน 4 คน ซึ่งรวมถึงคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และคุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญด้วย ก็มิได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าศาลได้ให้ความสำคัญกับสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีประเภทดังกล่าวแล้ว เนื่องจากทั้งสี่คนนี้ รวมถึงผู้ต้องหาและจำเลยอีกอย่างน้อย 17 คนที่ยังถูกคุมขังอยู่ ต่างยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดว่าพวกเขามีความผิด ทั้งมิได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายอื่นใด สิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับคือการประกันตัวตั้งแต่ต้น มิใช่ต้องยอมแลกการได้รับอิสรภาพกับเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ศาลกำหนดขึ้น และอาจตีความได้ว่าเป็นการตัดสินการกระทำของจำเลยไว้ล่วงหน้า”

แถลงการณ์ยังยืนยันว่า การไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการออกคำสั่งไม่ได้มีฐานหรือเหตุผลตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาและจำเลยได้รับความเสียหายที่ไม่สมควรต้องรับ ถูกคุมขังเสมือนว่าถูกพิพากษาโทษจำคุกแล้ว และแม้จะได้ยื่นขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หลายครั้งหลายครา ก็มักได้รับคำตอบกลับเพียงว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” การเช่นนี้ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากนี้ยังอาจเป็นการกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 อันมีโทษทางวินัยถึงไล่ออก

อีกทั้งยังได้เคยปรากฏข่าวเป็นที่น่าสงสัยว่าในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในครั้งหนึ่งทำนองว่าการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นเพราะมีบุคคลภายนอกสั่งมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมขัดต่อหลักความมีอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 เป็นการเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม และถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มีโทษทางวินัยถึงไล่ออกเช่นเดียวกัน แม้จะได้มีการแถลงข่าวปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่จนถึงทุกวันนี้ประธานศาลฎีกาก็ยังคงมิได้แสดงความบริสุทธิ์ใจที่จะให้ภายนอกได้ตรวจสอบถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นภายในวงการตุลาการได้ จึงทำให้สังคมไม่อาจเชื่อมั่นในคำชี้แจงของสำนักงานศาลยุติธรรมที่อ้างว่าประธานศาลฎีกาได้เน้นย้ำถึงการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอนได้

“พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมหันกลับมาทบทวนการใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง ว่าในการไม่ให้ประกันตัวแต่ละครั้งที่ได้มีการออกคำสั่งไป ได้ตอบความยุติธรรมที่ทุกคนเห็นร่วมกันตามหลักความยุติธรรมที่ควรจะเป็น หรือเพียงสนองความพึงพอใจของบุคคลใด เราไม่ได้เรียกร้องให้พวกท่านต้องพิพากษาชี้ถูกชี้ผิดตามที่เราเชื่อ นั่นคือความเป็นอิสระที่พวกท่านพึงมีในการพิจารณาคดีให้ต้องตรงกับหลักกฎหมาย เราเพียงแต่ขอให้ประชาชนไม่ว่าจะคนใดๆ ก็ตามแต่ มีโอกาสได้สู้คดีในฐานะผู้บริสุทธิ์ ได้อยู่ในบ้าน ได้ใช้เวลากับครอบครัว ได้ทำมาหากิน มิใช่ต้องเป็นนักโทษล่วงหน้าเพียงเพราะเขาคือผู้เห็นต่างทางการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image