ประธาน กมธ.ติดตามงบฯ เชื่อรัฐใช้งบ 4.5 หมื่นล้านสร้างฐานการเมือง ประเมินไปต่อไม่ไหว อาจยุบสภาปลายปีนี้

‘ประธานกมธ.ติดตามงบฯ’ เชื่อรัฐใช้งบ 4.5 หมื่นล้าน สร้างฐานการเมือง ประเมินไปต่อไม่ไหว ชิงยุบสภาปลายปีแน่ แต่นายกฯไม่ใช่ ‘บิ๊กตู่’ เพราะกลับมาลำบาก

เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่ถูกมองว่าจะเป็นการใช้งบประมาณสร้างฐานการเมืองในจังหวัด ส.ส.ซีกรัฐบาล เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ว่า แม้จะติดสถานการณ์โควิดจะทำให้ประชุม กมธ.ไม่ได้ แต่ กมธ.พยายามติดตามการใช้งบโครงการดังกล่าวอยู่

นายไชยากล่าวว่า ทราบว่าแต่ละจังหวัดจะสรุปโครงการต่างๆ ของส่วนราชการต่างๆ ในวันที่ 26-29 เม.ย.นี้ เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา จึงเป็นห่วงว่าโครงการเหล่านี้อาจมีลักษณะเป็นโครงการเก่าที่เคยเสนอมาในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ไม่ผ่านการอนุมัติอาจถูกนำเสนอกลับมาใหม่ โดยโยกมาอยู่ในงบฟื้นฟู 4.5 หมื่นล้านบาทครั้งนี้แทน

“โดยเฉพาะหมวดโครงสร้างพื้นฐานที่องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ อาจมีการส่งสัญญาณเอื้อประโยชน์ให้กับจังหวัด ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อชิงความได้เปรียบ สร้างฐานเสียงทางการเมือง สอดรับกับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีแต่ละคนใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐบาล” นายไชยากล่าว

Advertisement

นายไชยากล่าวต่อว่า กมธ.ไม่ขัดข้องในการใช้เม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้ฝ่ายใด งบฟื้นฟู 4.5 หมื่นล้านบาทของกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ มองเป็นอื่นไม่ได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ขณะนี้รัฐบาลถูกปัญหารุมเร้ามาก แก้ปัญหาโควิดล้มเหลว มีกระแสให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี อาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจชิงยุบสภาแก้ปัญหา ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ผ่านรัฐสภา และมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค.2564

“เป็นไปได้อาจยุบสภาเดือน พ.ย.-ธ.ค.2564 ให้จัดเลือกตั้งใหม่ โดยที่รัฐบาลยังมีความได้เปรียบเรื่องงบประมาณ และกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ 250 ส.ว.ยังคงอยู่ ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมยังมีความได้เปรียบในการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่

“ตัวนายกฯอาจไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะคงกลับมาลำบาก แต่ก็ยังเป็นทีมในกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใคร โดย ส.ว.จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดตัวนายกฯใหม่” นายไชยากล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image