สาวอินเดียแคนาดาหาญเข้าชิงชัย ในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรสกับนางสาวอโรรา อคังชา

เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็น 1 ในเสาหลัก 6 เสาหลักของสหประชาชาติ อันได้แก่ 1) สมัชชาใหญ่ 2) คณะมนตรีความมั่นคง 3) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม 4) คณะมนตรีภาวะทรัสตี 5) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และ 6) สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ โดยสหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระหารือต่างๆ ของบรรดาสมาชิก 193 ประเทศทั่วโลกที่เป็นตัวแทนของรัฐอธิปไตยเกือบทั้งหมดของโลกที่จะตกลงใจที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาของโลกโดยรวม

สำนักเลขาธิการสหประชาชาติยังทำหน้าที่จัดตั้งหน่วยงานของสหประชาชาติ โดยมีเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่เป็นหัวหน้าของสำนักเลขาธิการที่มีเจ้าพนักงาน ซึ่งมาจากนานาชาติทำงานอยู่กว่า 44,000 คน โดยเลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้ที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการ และอาจโอนไปทำงานในองค์กรอื่นๆ ของสหประชาชาติ ซึ่งการคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในสำนักเลขาธิการนั้น ต้องพิจารณาจากความหลากหลายของสัญชาติและถิ่นกำเนิดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการได้รับคัดเลือก จึงถือได้ว่าตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสูงสุดในองค์การสหประชาชาติ

เลขาธิการสหประชาชาติมีวาระในการดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยจะดำรงตำแหน่งคนละหนึ่ง หรือสองสมัย และตามธรรมเนียมแล้ว จะต้องไม่เป็นบุคคลจากประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงโดยตามกฎบัตรสหประชาชาติ การแต่งตั้งเลขาธิการสหประชาชาติจะต้องได้รับมติจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจากการสรรหาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะเป็นฝ่ายเสนอตัวบุคคลที่มารับตำแหน่งนี้

เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบันคือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส โดยเป็นเลขาธิการแห่งสหประชาชาติคนที่ 9 เท่าที่ผ่านมาเลขาธิการสหประชาชาติทั้ง 9 คนรวมทั้งคนปัจจุบันล้วนมาจากประเทศเล็กๆ ที่มีพลเมืองเบาบางแทบทั้งสิ้น คือจากประเทศนอร์เวย์, สวีเดน, พม่า, ออสเตรีย, เปรู, อียิปต์, กานา, เกาหลีใต้ และโปรตุเกส

Advertisement

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส วัย 71 ปี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 จนถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 ได้ลงสมัครตำแหน่งเลขาธิการอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากที่ประชุมสมัชชาและคณะมนตรีความมั่นคงรวมถึงสมาชิกถาวรทั้ง 5 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส และอังกฤษ แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังทำงานไม่เข้มแข็งพอที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยนับล้านคนทั่วโลกได้เลย ทั้งๆ ที่เคยเป็นข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติถึง 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2548-2558

ปรากฏว่า นางสาวอโรรา อคังชา ชาวแคนาดาเชื้อสายอินเดีย วัย 34 ปีผู้เป็นผู้ประสานงานการตรวจสอบในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นสตรีคนแรกที่ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติแข่งกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการคนปัจจุบันแต่ทางสำนักงานประธานสมัชชายังไม่ได้รับหนังสือจากนางสาวอโรรา อคังชาอย่างเป็นทางการทั้งที่กระบวนการสรรหาเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

นางสาวอโรราเกิดที่รัฐปัญจาบเหนือประเทศอินเดียจากครอบครัวที่อพยพมาจากปากีสถานในคราวที่แบ่งประเทศในชมพูทวีป ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษระหว่างอินเดียกับปากีสถานโดยถือเอาศาสนาเป็นเกณฑ์เมื่อชมพูทวีปได้รับเอกราชจากอังกฤษ ใน พ.ศ.2490 จึงได้มีการปะทะอย่างนองเลือดครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้งระหว่างชาวฮินดู และชาวมุสลิม

Advertisement

การแบ่งประเทศครั้งนี้ มีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 12 ล้านคน อพยพจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง มีผู้เสียชีวิต 5 แสนถึง 1 ล้านคน มีผู้หญิงและเด็กหลายหมื่นคนถูกลักพาตัว ทำให้นางสาวอโรราอ้างว่าเธอมีประสบการณ์ในฐานะเคยเป็นครอบครัวผู้ลี้ภัยมาก่อนซึ่งปัญหาผู้ลี้ภัยนับล้านๆ คนในปัจจุบันนี้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งนายกูเตอร์เรสล้มเหลวในการจัดการผู้ลี้ภัยทั่วโลกในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การใช้จ่ายขององค์การสหประชาชาติยังเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่งบประมาณของสหประชาชาติถูกใช้จ่ายเป็นค่าจัดการประชุมนานาชนิด และการเสนองานเขียน งานพิมพ์เป็นกระดาษขนาดภูเขาเลากา และเป็นเงินเดือน และค่าใช้จ่ายของพนักงานขององค์การสหประชาชาติถึง 71% ของงบประมาณ โดยเหลือเงินงบประมาณเพียง 29% เท่านั้นที่เอาไปใช้กับปัญหาจริงๆ เช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น

นางสาวอโรราได้ใช้เงินเก็บของเธอ ซึ่งมีประมาณ 900,000 บาท รณรงค์ทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เธอกล่าวว่า ที่ผ่านมามีแต่ผู้ชายแก่ๆ เท่านั้นที่ได้เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ถึงเวลาแล้วที่สตรีคนรุ่นใหม่ผู้มีประสบการณ์เป็นผู้การตรวจสอบในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติอย่างเธอจะสร้างความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพมาสู่องค์การสหประชาชาติอย่างแน่นอน

น่าคิดนะครับ แต่นางสาวอโรราคงไม่มีทางได้ลุ้นอย่างแน่นอน เพราะการเลือกตั้งเลขาธิการของสหประชาชาตินั้น ถูกกำหนดจากผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 ประเทศ อันได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้คัดสรรผู้สมัครในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อให้ที่ประชุมของสมัชชาใหญ่เลือกตั้งอีกทีหนึ่งนั่นเอง

ซึ่งแน่นอนที่บรรดามหาอำนาจทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ย่อมคัดเลือกบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะให้ผลประโยชน์แก่ประเทศตนมากที่สุดในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรสก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ส่วนการที่จะเลือกนางสาวอโรรานั้นดูออกจะเสี่ยงมากเกินไป

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image