โครงสร้าง องค์กร ต่อสู้ ‘โควิด’ สะท้อน ‘รัฐราชการ รวมศูนย์’
แนวโน้มที่จะมีการรวมศูนย์อำนาจจาก 31 พรบ.อันเกี่ยวกับโรคระบาดและความสงบเรียบร้อยให้ไปอยู่ในมือของ ‘หัวหน้า ศบค.’ มี ความเป็นไปได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ในเมื่อข้อเสนอนี้ได้รับการผลักดันผ่านสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อันเป็นแก่นแกนหลักของ ‘อนุ’ ศบค.
ความหมายของข้อเสนอนี้จึงเท่ากับเป็นการกระชับ ‘อำนาจ’ ที่มีอยู่ในมือของ ‘หัวหน้า ศบค.’ ให้มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
จากฐานความเชื่อที่ว่า เพราะการต่อสู้กับการแพร่ระบาดรอบที่ 1 ผ่านมาตรการ ‘เข้ม’ ในเดือนเมษายน 2563 คือ รากฐานแห่งความสำเร็จและชัยชนะ
เพียงแต่อาจจะมองข้ามจุดอ่อนและความบกพร่องใหญ่จากผลสะเทือนที่ตกกระทบในด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่
และคำถามอันตามมาอย่างแหลมคมยิ่งก็คือ หากได้ชัยชนะ หากประสบความสำเร็จ เหตุใดจึงเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 2 และการแพร่ระบาดรอบที่ 3
ต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดรอบที่ 3
ปัจจัยสำคัญมาจากจุดอ่อนของ ‘รัฐราชการ’ เอง
การแพร่ระบาดรอบที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2563 มาจากสนาม มวยลุมพีนี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบก การแพร่ระบาดรอบที่ 2 จากสมุทรสาครและจากบ่อนก็สัมพันธ์กับระบบราชการ
ยิ่งการแพร่ระบาดรอบที่ 3 จากคลัสเตอร์ใหญ่ คริสตัล และเอ็มเมอรัลด์ ยิ่งสัมพันธ์กับ ‘ไทยคู่ฟ้าคลับ’ และสัมพันธ์กับชนชั้นสูงในวงสังคมและรัฐราชการ
โครงสร้างของการบริหารโดย ‘ศบค.’ จึงเป็นเงาสะท้อนโครงสร้างของ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’ อย่างเด่นชัดยิ่ง
เด่นชัดว่า แม้องค์ประกอบของรัฐบาลจะมีบางส่วนมาจากพรรคการ เมือง มาจากการเลือกตั้ง แต่ในเมื่อองค์ประกอบ ‘หลัก’ คือความเคย ชินในแบบ ‘รัฐราชการรวมศูนย์’
ความไว้วางใจต่อ ‘ปลัดกระทรวง’ จึงดำรงอยู่เหนือกว่าความไว้วางใจต่อ ‘นักการเมือง’ และต่อ ‘พรรคการเมือง’