รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชนจำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ  ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

Advertisement

ถ้าดูเจตนาอาจจะเข้าใจได้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิดอยู่ในภาวะฉุกเฉิน มีความจำเป็นต้องใช้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้เกิดความเด็ดขาด และเป็นเอกภาพ ดังนั้นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดึงอำนาจของรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลส่วนราชการต่างๆ กลับไปไว้ที่นายกรัฐมนตรี ทำให้อำนาจการตัดสินใจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จุดเดียว ทำให้การสั่งการมีความรวดเร็ว ซึ่งหวังผลในเชิงประสิทธิภาพที่จะจัดการปัญหาโควิด-19

เรื่องนี้ต้องมองว่าเป็นเจตนาที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดตามมาจากรายละเอียดของข้อกฎหมายต่างๆ มีมาก และไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะมีความเข้าใจทุกเรื่อง ดังนั้นระบบที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นน่าจะมี 2 แบบ แบบแรกการใช้ข้าราชการประจำ เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี เป็นผู้ส่งข้อมูลเพื่อการตัดสินใจโดยตรงไปที่นายกรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจตามแนวทางที่นำเสนอเข้ามา

แบบที่สองนายกรัฐมนตรีอาจมีคณะทำงานเฉพาะตัว ในการกลั่นกรอง หรือเสนอมาตรการทุกเรื่องถึงนายกฯเพื่อให้ดำเนินการ และทั้ง 2 แบบ ถ้าเปรียบเทียบแล้วยังมีจุดที่น่าเป็นห่วง ในแบบแรกข้าราชการจะเป็นใหญ่ โดยทำงานตามกฎระเบียบ ทำให้ตัวเองมีความปลอดภัยในการทำงาน อาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเป็นปัญหาทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการบริหารงานภายใต้ข้าราชการประจำ ขาดการกำกับจากรัฐมนตรี และส่วนตัวไม่เชื่อว่านายกฯจะมีความสามารถที่ติดตามเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ได้ทันทั้งหมด

Advertisement

สำหรับรูปแบบที่สองเป็นการติดตามขีดความสามารถจากคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี ต้องดูว่าจะตั้งบุคคลใดเข้ามาทำหน้าที่ ต้องดูว่าจะมีการสร้างทีมงานที่มีความเข้าใจ เชี่ยวชาญในบทบาทหน้าที่ ช่วยนายกฯตัดสินใจได้จริงหรือไม่ หากกรณีที่ทีมงานไม่มีความสามารถอย่างแท้จริง ระบบการกรองเรื่อง การเสนอมาตรการ และการตัดสินใจก็จะไร้ทิศทาง ที่น่าเป็นห่วง หากมีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง กลุ่มนี้จะมีผู้รับผลประโยชน์จากการแก้ไขสถานการณ์วิ่งเข้ามาเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมในการแสวงหาผลประโยชน์

เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องแบกรับความเสี่ยง ถ้าท่านตัดสินใจจะไปทางนี้ ก็คงต้องให้โอกาสในการทำตามมาตรการที่เห็นว่าเหมาะสม และตัวชี้วัดสำคัญในการทำงานจะเป็นเรื่องของการจัดหาวัคซีน และการกระจายวัคซีนจะทำได้รวดเร็วหรือไม่ เชื่อว่าภายใน 1 เดือนจะต้องทราบและเห็นผล หากยังไม่ชัดเจนนายกฯก็ต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารงานใหม่ทันที ซึ่งการเปลี่ยนวิธีการบริหารกับเสียโอกาสของประชาชนจะคุ้มกันหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่นายกฯต้องตัดสินใจ

ขอย้ำว่าต้องให้โอกาสท่านเพื่อดำเนินการ หากทำสำเร็จท่านจะเป็นวีรบุรุษ หากทำไม่สำเร็จก็แสดงถึงความบกพร่องอย่างร้ายแรงที่สุดในการบริหารประเทศ คงไม่มีข้ออ้าง หรือแก้ตัวอะไรอีก เพราะได้ทำงานโดยมีอำนาจสูงสุดไปแล้ว ขณะนี้นายกฯเปรียบเหมือนหัวหน้า คสช.ไม่มีรัฐมนตรี มีแต่ปลัดกระทรวงที่บริหารงานและขึ้นตรงกับนายกฯ และเชื่อว่าสิ่งที่นายกฯจะนำไปใช้คือข้อเสนอในรูปแบบแรก เนื่องจากไม่เชื่อว่านายกฯจะมีทีมงานเข้าใจในทุกเรื่องได้โดยเฉพาะในข้อกฎหมายที่มีรายละเอียดมากมาย เพราะแค่ประกาศของ กทม.ให้สวมแมสก์ นายกฯเข้าใจหรือไม่ว่าสวมได้ หรือสวมไม่ได้อย่างไรก็ถือว่าน่าเป็นห่วง

สาเหตุที่นายกฯรวบอำนาจมาไว้ทั้งหมด ก็คงเห็นความล่าช้าที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบการบริหารในปัจจุบัน เกรงว่าจะไม่ทันกับสถานการณ์ และเชื่อมั่นว่าการใช้รูปแบบนี้จะสำเร็จ หรือแก้ไขสถานการณ์ได้ดีขึ้น แต่ขอเรียนว่าการแก้ไขปัญหาโควิดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยบุคลากรหลายฝ่ายช่วยกันคิด มากกว่าการรวมไว้ที่บุคคลเดียว อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นการวัดดวงของคนไทยทั้งประเทศ แต่ขอให้โอกาสนายกฯ ในฐานะผู้นำประเทศ

ขอเตือนว่านายกฯ อย่าเชื่อในสิ่งที่ข้าราชการประจำนำเสนอมากเกินไป อย่าฟังเพียงรายงาน แต่ต้องดูในสิ่งที่เป็นไปได้เพื่อทำตามแผน เพราะในอนาคตทุกฝ่ายไม่ต้องการฟังคำแก้ตัว แต่ต้องการให้นายกฯทำงานให้สำเร็จ สำหรับปัญหาโควิด-19 ระบาด ตั้งแต่ต้นปี 2563 รัฐบาลมีเวลาเตรียมตัวนานพอสมควร มีงบประมาณเพียงพอ แต่การคาดการณ์การวางแผน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในการป้องกันโรคที่ผ่านมายังสอบตก

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ  ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

เมื่อเดือนมีนาคม 2563 หลังประกาศภาวะฉุกเฉินแก้ปัญหาโควิด-19 ก็มีการยึดอำนาจจากรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่มีอำนาจตามกฎหมาย 40 ฉบับ ต่อมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็มีประกาศยกเลิกการยึดกฎหมายคืนให้รัฐมนตรีทั้งหลาย เหลือเพียง พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อของรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ยังยึดไว้

เชื่อว่าการยึดกฎหมาย 31 ฉบับ น่าจะมีปัญหาผู้มีอำนาจคิดอะไรไม่ออก เพราะใกล้ถึงทางตัน ไม่รู้จะหาทางแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคอย่างไร จึงแก้หน้าด้วยการประกาศยึดกฎหมาย ทั้งที่การแก้ไขปัญหาไม่น่าจะมีผลกับการรวบอำนาจในลักษณะนี้ เพราะถึงที่สุดก็ยังมอบอำนาจถ่างขาให้แต่ละจังหวัดโยนการตัดสินใจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศเคอร์ฟิว ปิดสถานที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

การแก้ไขสถานการณ์ให้สำเร็จหนทางเดียวเหมือนต่างประเทศ รัฐบาลต้องรีบหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน กระทั่งปัจจุบันในบางประเทศวิกฤตโรคระบาดที่รุนแรงคลี่คลายลงมาก แต่สำหรับรัฐบาลไทยไปทำสัญญาซื้อวัคซีนไว้รายเดียว ส่วนอีกยี่ห้อที่นำเข้าประชาชนก็กลัวว่าจะมีผลกระทบ ทำให้บางประเทศขอบริจาควัคซีนยี่ห้อดังกล่าว หรือโละทิ้งและล่าสุดเมื่อสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นก็มีการติดต่อขอซื้อยี่ห้ออื่นเพิ่ม แต่ไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่าติดต่อซื้อ หรือจองแล้วจะได้วัคซีนมาฉีดเมื่อไหร่

หากมองในแง่การเมืองก็มองเห็นแล้วว่ามีการยึดอำนาจจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อย่างชัดเจน มีรอยปริร้าว เช่น การตั้งกรรมการจัดหาวัคซีนก็ปรากฏชื่อแพทย์ที่เคยเป็นรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธาน ต่อมาแกนนำพรรคภูมิใจไทยไปโพสต์เฟซบุ๊กออกมาแสดงความเห็นที่น่าสนใจ เพราะเห็นความสำคัญในด้านการแพทย์เพื่อแก้ปัญหาโควิด เพราะอาจจะทราบสัญญาณล่วงหน้าว่า อาจจะมีการปรับใครออกจากคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เพื่อเอาแพทย์รายหนึ่งที่มีความสามารถที่ช่วยรัฐบาลทำงาน เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีสาธารณสุข ถ้าถามว่าทำไมจะปรับรัฐมนตรีคนเดิมออกไปไม่ได้ ส่วนตัวจึงขอถามกลับไปว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยตัวจริงคือใคร

เมื่อดูความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐตั้งแต่มี ส.ส.กทม.ของพลังประชารัฐโหวตสวนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนมาถึงวันนี้ปัญหาก็ยังไม่จบ และวันนี้ผู้มีอำนาจคงมั่นใจอะไรบางอย่าง หากเอาภูมิใจไทยออกไปแล้วก็จะแก้ไขสถานการณ์ได้ และหากภูมิใจไทยโดนปรับออกไปแล้ว ถ้าประชาธิปัตย์ยังอยู่เฉยก็ถือว่าแย่เต็มที เพราะการทำงานเกิดวิกฤตศรัทธา ส่วนตัวเชื่อว่าหลังยึดกฎหมายแล้ว โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายในมือ แต่ถ้าต่อไปยังล้มเหลวอีกก็คงไม่มีใครออกมารับผิดชอบเหมือนการจองซื้อวัคซีนไม่ได้ก็อ้างว่ามีกฎหมายขัดขวาง

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ  ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

ความจริงปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย พ.ร.บ.31 ฉบับ ต่อให้โอนมา 100 ฉบับก็ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ณ ตอนนี้ที่เราอยู่ภายใต้การประกาศ ดังนั้นต่อให้ไม่ออกมติ ครม.อะไร เพื่อให้โอนอำนาจ พ.ร.บ. 31 ฉบับ นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯสั่งให้ใช้มาตรการต่างๆ ได้อยู่แล้ว

ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องโอน พ.ร.บ.31 ฉบับมา แต่คิดว่าสาเหตุที่ต้องโอนเป็นเพราะมาตรการต่างๆ ถ้าออกด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะออกเป็นยิบย่อย ดังนั้นโอนมาเอง ออกเอง คุมเองไปเลยดีกว่า ข้อดีคือไม่ต้องออกมาตรการยิบย่อย เพราะหากออกเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ต้องออกเป็นประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ถ้าเป็นกรณีนี้นายกฯสามารถออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย พ.ร.บ.ได้ ถามว่าจะช่วยให้แก้โควิดได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ ผมว่าอยู่ที่ความสามารถของคนมากกว่ากฎหมาย

ส่วนการที่ไปดึงอำนาจมาชั่วคราว ส่วนตัวมองว่าไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมไม่มีอำนาจมากขนาดนั้น พรรคร่วมไม่มีตัวเลือกมากขนาดนั้น ถ้าอยากอยู่ร่วมรัฐบาลก็ต้องอาศัยพลังประชารัฐ ปัญหาคืออย่างไรพรรคร่วมก็ไม่หนีไปไหน แต่ผมไม่เห็นประโยชน์อะไรจากประกาศนี้ นอกจากสร้างความยุ่งยากคล้ายกับว่าเอามาหลอกกัน

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

รายงานหน้า 2 : ส่อง‘บิ๊กตู่’รวบอำนาจ  ‘แก้โควิด’หรือ‘รบ.ร้าว’

นายกฯต้องยึดอำนาจกลับมา เพราะสถานการณ์ตอนนี้ ไม่สู้ดีนัก หมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มีหลายจุดที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดการขาดเสถียรภาพ หากมองในมุมหนึ่งการที่รวบอำนาจ พ.ร.บ.หลายฉบับเช่นนี้ มีนัยยะทางการเมืองว่าจะมากุมบังเหียนเอง ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกันนัยยะของอำนาจก็มีความใกล้เคียงกันอยู่ เพียงแต่ลักษณะของการบริหารจัดการแตกต่างกัน กล่าวคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นเพียงกฎหมายฉบับเดียว แต่กรณีนี้รวบ พ.ร.บ.31 ฉบับ ถ้ามองนัยยะทางอำนาจก็เพื่อที่จะรักษาสถานภาพทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลเอาไว้ให้ได้

ส่วนตัวมองสาเหตุหลักมาจากกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คงเป็นสิ่งที่ทางทีมนายกรัฐมนตรีมองแล้วว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปเช่นนี้มีโอกาสเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ คะแนนลดลงไปตามลำดับ จึงวิเคราะห์ว่าเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม อีกมุมหนึ่งก็ต้องเสียดุลความพอใจจากพรรคภูมิใจไทยเกิดปฏิกิริยาที่คนในพรรคออกมาแสดงความไม่พอใจ จะถึงขั้นจุดแตกหักพรรคร่วม ถึงขั้นปรับ ครม.หรือยุบสภาหรือไม่ คงไม่น่าถึงขนาดนั้น เพียงแค่ออกมากระฟัดกระเฟียดทั้ง 2 พรรค แต่คงไม่ถึงขั้นแตกหัก และไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image