‘ธนาธร’ จับผิด ‘ประยุทธ์ ‘ทำเนียนทุ่ม 4.5 หมื่นล.ให้ รมต.หาเสียงล่วงหน้า อัด ‘สุพัฒนพงษ์’ พูดไม่คิด

แฟ้มภาพ

‘ธนาธร’ จับผิด ‘ประยุทธ์ ‘ทำเนียนทุ่ม 4.5 หมื่นล.ให้ รมต.หาเสียงล่วงหน้า อัด ‘สุพัฒนพงษ์’ พูดไม่คิด

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมรายการ “มาเถอะจะคุย: โควิด-19 ยังสาหัส ไทยจัดการอย่างไรดี?” ดำเนินรายการโดยจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ทางเฟซบุ๊กไลฟ์โดย The Matter แสดงความเห็นต่อการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

โดยนายธนาธรระบุว่า ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ ตนกำลังกังวลถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการออกมาตรการทางสังคมและมาตรการทางสาธารณสุข โดยละเลยมาตรการทางเศรษฐกิจและการเยียวยาพร้อมกัน มาตรการในขณะนี้เป็น “กึ่งล็อกดาวน์” ไปแล้ว แต่สิ่งที่ตนไม่เข้าใจคือเหตุใดจึงไม่ยิง 2.5 แสนล้านบาท ที่เหลืออยู่จากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ออกไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประชาชนสบายใจ มั่นใจ ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ซึ่งสิ่งที่จะอัดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดีที่สุด ไม่ใช่ตระกูล “เรา” ทั้งหลาย แต่เป็นการอัดเงินตรงใส่บัญชีเงินฝากของประชาชนเลย และถ้าจำเป็นต้องใช้อีก 1 ล้านล้านบาท ก็ต้องใช้ ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจพัง เสียหายไปมากกว่านี้ แล้วค่อยไปอัดฉีดเงินตอนนั้น เม็ดเงินที่ต้องใช้จะมากกว่าตอนนี้แน่นอน

นายธนาธรกล่าวว่า อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นความกระอักกระอ่วน เพราะเราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องอัดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ตนไม่ไว้ใจผู้นำรัฐบาลชุดนี้ให้ใช้เงิน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ “ไทยไปด้วยกัน” 4.5 หมื่นล้านบาท ให้รัฐมนตรีไปรับผิดชอบการใช้จ่ายงบก้อนนี้ เช่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปดูแลจังหวัดบุรีรัมย์ 803 ล้านบาท นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ไปดูแลจังหวัดชลบุรี 1,250 ล้านบาท ฯลฯ คำถามคือการดูแลงบประมาณแบบนี้มันเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือไม่ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังต้องการทุกทรัพยากรเพื่อมาจัดการการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลยังจัดงบ 4.5 หมื่นล้านนี้แจกจ่ายให้รัฐมนตรีในสังกัดตัวเอง แล้วจะพูดได้อย่างไรว่างบแบบนี้ไม่ใช่งบหาเสียง ไม่ใช่งบที่จะไปสร้างระบบอุปถัมภ์ของรัฐมนตรี ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังดิ้นรน กำลังต่อสู้กับโควิดมากขนาดนี้?

Advertisement

“นี่คือภาวะที่กระอักกระอ่วน ผมเห็นด้วยว่าถ้าต้องกู้เพิ่มก็ต้องกู้เพิ่ม ไม่เคยมีช่วงไหนที่เงินกู้ของรัฐบาลมีต้นทุนที่ต่ำขนาดนี้ กองทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นโดยภาพรวม พื้นฐานทางการคลังของรัฐบาลมันแข็งแกร่งอยู่แล้ว กู้เพิ่มก็ไม่เป็นไร ปัญหาคือ เราไว้ใจให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารเงินกู้แม้แต่อีก 1 ล้านล้านบาทหรือ? ผมไม่ไว้ใจ” นายธนาธรกล่าว

ช่วงหนึ่ง นายธนาธรได้ตอบคำถามถึงกรณีที่กองทัพออกมาเปิดเผยว่า การซื้ออาวุธนั้นเป็นไปตามขั้นตอนของงบประมาณที่ได้อนุมัติมาแล้ว โดยระบุว่าถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนโดยไม่สนใจสถานการณ์เลย อย่างนั้นเราจะมีผู้นำไปทำไม หน้าที่ของผู้นำในภาวะวิกฤตคือ การจัดสรรทรัพยากร เพราะผู้นำคือคนที่มีอำนาจ คือคนที่มีทรัพยากร คือคนที่จะต้องกระจายทรัพยากรไปในหน่วยงาน ไปในประเด็น ไปในพื้นที่ที่ต้องการ เหมาะสม ตามแต่ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ของผู้นำคนนั้นๆ ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน แล้วเราจะมีผู้นำไปทำไม ถ้าทุกอย่างเป็นแบบล่างขึ้นบนทั้งหมด เราก็ไม่ต้องมีผู้นำก็ได้ ประเทศนี้ปกครองโดยข้าราชการไปเลย ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

นายธนาธรกล่าวว่า การจัดสรรทรัพยากรในประเทศไทยมีปัญหาเช่นนี้มาตลอด เช่น ในปี 2560 กระทรวงกลาโหมมีบุคลากรทั้งหมด 3.96 แสนคน ผ่านไปสามปีเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 แสนคน เท่ากับว่าในเวลาเพียงสามปี ตั้งแต่ 2560-2563 จำนวนบุคลากรของกระทรวงกลาโหม (ถ้าไม่นับทหารเกณฑ์) เพิ่มขึ้น 21.2% แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน 2559 ประเทศไทยมีจำนวนอัตราพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ 1.08 แสนคน ผ่านไปสี่ปี ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1.18 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นเพียง 9.48% ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และหากเราไปดูร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมลดลงประมาณ 6% แต่งบประมาณของบุคลากรกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้น 1% คำถามคือ จังหวะนี้ควรจะต้องเพิ่มบุคลากรของกองทัพหรือว่าหมอ/พยาบาลมากกว่ากัน

“ลองใช้สามัญสำนึกตัดสินดู ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมาเราควรเพิ่มจำนวนบุคลากรของกระทรวงกลาโหมหรือควรจะเพิ่มบุคลากรพยาบาลวิชาชีพมากกว่า คุณไม่ต้องจบสูงเลย ใช้สามัญสำนึกง่ายๆ ผมก็คิดว่าเราน่าจะตัดสินกันได้ ว่านี่คือการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดฝาผิดตัวหรือไม่” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรยังได้กล่าวถึงกรณีที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุ ขอให้ประชาชนเอาเงินเก็บออกมาใช้ เพื่อให้จีดีพีเติบโตไปถึง 4% ได้ ว่าการพูดแบบนี้เป็นการพูดที่ไม่รับผิดชอบ วันนี้หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยสูงมากจนน่าตกใจ ขึ้นไปเป็น 90% ของจีดีพี แล้ว หรือประมาณ 14 ล้านล้านบาท โดยเฉลี่ยคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 1.3 แสนบาทต่อครัวเรือน ส่วนคนที่มีเงินเก็บในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท ในปัจจุบันมีเพียง 1.4% ของบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนมากถึง 80% มีเงินเก็บอยู่ไม่ถึง 50,000 บาท จริงอยู่ ที่รัฐบาลในหลายประเทศกำลังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่นั่นเป็นเพราะการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เปิดประเทศได้เร็วขึ้น เศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น ประชาชนอัดอั้นมานานไม่ได้ใช้จ่าย อีกทั้งประชาชนในประเทศเหล่านั้นได้รับการดูแลอย่างดี ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนไม่รุนแรงเหมือนประเทศไทย

“พอกลับมาดูเมืองไทย มันผิดฝาผิดตัวมาก ที่จะออกมาเรียกร้องให้คนไทยใช้จ่าย ปัจจุบันอย่าว่าแต่ใช้จ่ายเลย เขากำลังคิดกันอยู่ว่าจะออมอย่างไร จะลดค่าใช้จ่ายอย่างไร เพื่อให้อยู่รอดได้ถึงสิ้นเดือน ไม่มีคนที่มีเงินเหลือในบัญชีมากพอที่จะเอามาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 1% ยังไม่รู้เลยว่าจะถึงหรือเปล่า” นายธนาธรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image