รอไม่ได้! ‘วิโรจน์’ จี้ฝ่ายประสานเตียง 1668 เปิด 24 ช.ม. หลังให้บริการแค่ 8 โมงถึง 4 ทุ่ม

‘วิโรจน์’ จี้ฝ่ายประสานเตียง 1668 เปิด 24 ช.ม. หลังปัจจุบันให้บริการแค่ 08.00-22.00 น. ลั่น อย่าให้ ‘การรอคอย’ กลายเป็น ‘ความสูญเสีย’

วันที่ 30 เมษายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ระบุถึงระบบคอลเซ็นเตอร์ 1668 ที่ทำหน้าที่ประสานจัดหาเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุว่า

[อย่าให้ “การรอคอย” กลายเป็น “ความสูญเสีย” 1668 ที่เปิด 8.00-22.00 น. ปรับมาเปิด 24 ชม. ได้หรือไม่]
จากข่าวที่ ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “… พบข้อมูลระยะเวลาวันที่ทราบผลติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตค่าเฉลี่ย 3 วัน …” [1]
ในมิติหนึ่ง ก็อาจตีความได้ว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบนี้ รุนแรงมาก ติดเชื้อเพียงแค่ 3 วัน ก็เสียชีวิตแล้ว จากข่าวบางรายเสียชีวิตในวันที่ทราบผลตรวจ บางรายเสียชีวิตก่อนที่ผลตรวจจะออกก็มี [2]

แต่ระยะเวลา 3 วัน ตามข่าว (ถ้าข่าวไม่ได้ลงผิด) นี่คือ นับจาก “วันที่ทราบผลติดเชื้อ” นะครับ ซึ่งมันมีสมมติฐานที่สามารถคิดได้อีกมิติหนึ่ง นั่นก็คือ การเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ อาจจะเกิดขึ้นจาก “การรอคอย” ก็ได้ ซึ่งการรอคอย อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการ ดังต่อไปนี้

1) รอคิวตรวจ: กว่าผู้ป่วยจะได้คิวตรวจคัดกรอง ก็ต้องเสียเวลารอก็ได้ ตามข่าวก็ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อ ที่ต้องรอคิวตรวจจนต้องเสียชีวิต [3] หรือกว่าจะมาพบแพทย์ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการหนักแล้วก็ได้
2) รอผลตรวจ: เนื่องจากมีการตรวจ RT-PCR เป็นจำนวนมาก ทำให้กว่าจะออกผลตรวจได้ อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ
3) รอเตียง: ทั้งๆ ที่ทราบผลตรวจแล้ว ก็ยังต้องรอเตียงว่างอีก และระหว่างที่รอจากเดิมที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ก็อาจลุกลามจนเชื้อไวรัสลงปอด และมีอาการหนักขึ้น จากเดิมที่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ต้องมาใส่ท่อช่วยหายใจ จากเดิมที่ไม่ต้องอยู่ในห้อง ICU ก็อาจจะต้องมาอยู่ในห้อง ICU
4) รอยา: ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ หรือมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคประจำตัว) ระหว่างรอเตียง หรือได้เตียงแล้วก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย แทนที่หากได้รับยาก Favipiravir เร็ว (ตามการวินิจฉัยของแพทย์) หากกระบวนการจ่ายยาช้า ต้องรอให้มีอาการก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถสกัดการลุกลามได้ พออาการหนักขึ้น โอกาสการเสียชีวิต ก็มีเพิ่มขึ้น
ผมจึงคิดว่า กระทรวงสาธารณสุข ควรจะเอากรณีการเสียชีวิตทีเกิดขึ้น มาวิเคราะห์ว่าในกระบวนการรักษาผู้ป่วย นั้นมีระยะเวลาในการรอคอย (Idle Time) เกิดขึ้นมีกระบวนการใด และสามาถลดขั้นตอนการทำงาน ลดงานเอกสาร ลดงานธุรการ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดหลักฐานเอกสารที่ใช้ แก้ไขกฎระเบียบที่วุ่นวาย ฯลฯ เพื่อทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีระยะเวลาในการรอคอยที่ลดลงได้หรือไม่
อย่างน้อยๆ Call Center 1668 ที่ทำหน้าที่จัดสรรเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการตั้งแต่ 8.00-22.00 น. นั้นสามารถปรับมาเปิด 24 ชั่วโมง โดยมีการสลับกะการทำงาน โดยมีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย (ซึ่งการปรับปรุงนอกจากจะทำให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยลดภาระ และความล้าของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้อีกด้วย) หรืออาจจะจัดจ้างให้บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ และขีดความสามารถในการให้บริการ Call Center เข้ามาทำหน้าที่ให้บริการประสานงาน เพื่อจัดสรรเตียงให้กับประชาชนได้หรือไม่ [4]
ในแวดวงวิศวกรรม วิศวกรในกระบวนการผลิตต่างทราบดีว่า การรอคอย (Idle Time) เป็นความสูญเปล่า (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Muda อ่านว่า มุดะ) เป็นกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า และมีต้นทุนเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ คือ กระบวนการในการรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลดการรอคอยให้เหลือน้อยที่สุด
จริงๆ ต้นทุนที่ถูกที่สุด ก็คือ การฉีดวัคซีนไม่ให้ประชาชนต้องเจ็บป่วย ต้นทุนหากฉีด AstraZeneca 2 โดส ก็อยู่ที่ 302 บาท เท่านั้น ถ้าเป็น Sinovac 2 โดส ก็อยู่ที่ 1,098 บาท ถ้าเป็น Pfizer 2 โดส ก็อยู่ที่ 1,181 บาท ถ้าเป็น Johnson & Johnson ฉีดแค่โดสเดียว ราคาอยู่ที่ 302 บาท [5]

ต้นทุนในการรักษานั้นแพงกว่ามากครับ อย่างค่าตรวจ RT-PCR เคสละ 1,600 บาท ยา Favipiravir เม็ดละประมาณ 125 บาท ผู้ติดเชื้อ 1 คน ต้องใช้ยาประมาณ 40-70 เม็ด ต่อรายก็มีต้นทุนสูงถึง 5,000-8,750 บาท [6]

ถ้าผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก ต้องเข้าห้อง ICU อย่างสถาบันบำราศนราดูร ก็มีต้นทุนเพิ่มอีกวันละ 1,000 บาท [7] และยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก และต้นทุนที่แพงที่สุด ก็คือ การเสียชีวิตของผู้ป่วย ที่ทำให้เด็กหลายๆ คนต้องเป็นเด็กกำพร้า คู่ชีวิตอีกเป็นจำนวนมากต้องเป็นหม้าย พ่อแม่หลายคู่ที่ต้องอยู่ในสภาพคนหัวหงอกต้องมาเผาคนหัวดำ ฯลฯ ความสูญเสียชีวิต ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียที่มีมูลค่ามากมายมหาศาลมาก
โรคโควิด-19 เป็นโรคที่แข่งกับเวลา ถ้าได้ยา Favipiravir ตั้งแต่อาการยังไม่หนัก โอกาสรอดก็สูง ถ้าได้ยาช้า หลังจากที่ปอดอักเสบหนักมากแล้ว โอกาสรอดชีวิตก็จะเหลือน้อยลง

อย่าปล่อยให้ผู้ติดเชื้อต้องเสียชีวิต เพราะการรอคอย ไม่ว่าจะเป็น รอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง หรือ รอยา เพราะการรอต่างๆ เหล่านี้ ผู้ติดเชื้ออาจกำลัง “รอความตาย” อยู่ก็ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image