เรียงคนมาเป็นข่าว วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2564

เรียงคนมาเป็นข่าว

⦁…รัฐตื่นกู้เครดิต ล้อมคอกแก้โควิดเหลว นับ 1 เริ่มใหม่ เหมือนคราวอุบัติครั้งแรก 1.หาหนทางตัดวงจรระบาดรอบ 3 ให้ได้ในเร็ววัน สกัดกั้นความเสียหาย ต่อชีวิต และผลข้างเคียง ลุกลามพ่นพิษ เศรษฐกิจ ปากท้องประการสอง คือเร่งจัดหา นำเข้าวัคซีน กระจายฉีดทั่วถึงทั้งประเทศ ให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร คำนวณจากตัวเลขกลมๆ 66 ล้านคน ต้องฉีดให้ได้ ให้เร็ว อย่างต่ำ 47 ล้านคน และถ้าปักเข็มได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี จำนวนวัคซีนที่เคลมว่าอยู่ในมือเบาะๆ เวลานี้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คอนเฟิร์ม 100 ล้านโดส ถึงสตาร์ตออกตัวช้า แต่ก็ถือว่าโอเค ย้อนกลับไปเร่งเร็วกว่านี้อีกไม่ได้ แต่ที่ทำได้ คือต้องทำจริง เอาให้จบ-ครบ 50 ล้านคน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในปีนี้ ไม่งั้นแย่แน่

⦁…เป้าฉีด 100 ล้านโดส ปักธงสิ้น 64 อืดเป็นเรือเกลืออยู่แล้ว ฉะนั้นช้ากว่านี้ไม่ได้ จะยิ่งพัง เนื่องจากมันย้อนกลับมาระบาดได้ทุกเมื่อ ถึงตัดตอนวงจรครั้งที่ 3 ได้ แต่ความเสี่ยงระบาดระลอก 4 วนลูปเดิมยังมี
ซ้ำร้ายกว่านั้น สัญญาณเตือนน่าสะพรึง การระบาดใหม่ทุกครั้ง ไวรัสมรณะเร็ว-แรงขึ้นทุกขณะ ที่อินเดียเผชิญอยู่เวลานี้เป็นอีกหนังตัวอย่าง เชื้อกลายพันธุ์ และแต่ละท้องถิ่น แต่ละประเทศก็อาจไม่เหมือนกัน วัคซีนที่มีใช้อยู่ อาจเอาไม่อยู่ ดื้อยา จึงช้าอีกไม่ได้ ต้องรีบตัดความเสี่ยง ไม่มีวัคซีนรักษา โดยเร็ว

⦁…วงถก นายกรัฐมนตรี-คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน มีข้อสรุปร่วมกัน ตั้ง 4 ทีมลุย เร่งจัดหาเพิ่ม-กระจายฉีด วัคซีนหลักวัคซีนรอง ทางเลือก น้องไม่ต้อง (ควักจ่าย) พี่จัดให้เอง ภาคธุรกิจดีใจ นายกฯตกปากรับคำเป็นมั่นเหมาะ แต่ที่ยังไม่มีใครพูดถึง และต้องเริ่มพูด วางแผน ณ บัดนาว ก็คือ การวางแผนจัดซื้อล็อตใหม่ นอกเหนือ 100 ล้านโดส กันเหนียวโควิดยังไม่สูญพันธุ์ หายไปจากโลกนี้ และประเทศไทย เพราะอะไร วัคซีนคนละ 2 เข็มนั้น สร้างและทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน โดยมีอายุใช้งาน ตัวเลขกลางๆ เฉลี่ยขณะนี้ ของแต่ละยี่ห้อ จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่แค่ 8 เดือน ฉีดแล้วจึงต้องฉีดอีก ไม่ต่างกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี แตกต่างกันที่นั่นเป็นวัคซีนเชิงพาณิชย์แล้ว ไม่ใช่ อีเมอร์เจนซี่ ยูส เหมือนวัคซีนโควิด ที่ต้องรีบจองซื้อหาเตรียมไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด

Advertisement

⦁…ตัดกลับ ยูเทิร์นเข้าข้อแรก งานรีบ ตัดวงจรระบาดรอบ 3 รัฐโดย ศบค. ภายใต้การกำกับเบ็ดเสร็จ ‘บิ๊กตู่’ งัดใช้ยาแรง ยกระดับมาตรการสู้ อีกเลเวล ตัดสินใจ จัดโซนสีใหม่ จากเดิมจังหวัด ‘สีแดง’ คือพื้นที่ระบาดร้ายแรงแตกตัวสูงสุด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ยกขึ้นจัดชั้นเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีเงื่อนไขกำกับ บังคับสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกเคหสถาน ห้ามทำกิจกรรมรวมตัวมากกว่า 20 คน งดรับประทานอาหารในร้าน ซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม ปิดสถานบันเทิง ศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า ปิด 3 ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อเปิด 04.00-23.00 น.เป็นต้น ความเข้มข้นในมาตรการในโซนสีอื่นๆ ก็แรงลดหลั่นกันไป แต่ผู้ว่าฯ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด ยังคงมีอำนาจเต็มออกกฎเข้ม-จัดยาแรง ล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว เหมือนกับที่โผล่แล้ว หลายจังหวัด

⦁…ผลพวงโควิดระบาดรอบ 3 ประจาน-สะท้อนภาพบริหาร รัฐราชการชัดแจ้ง 6 พรรคฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลลาออกทันที รับผิดชอบล้มเหลวทุกด้าน เปิดทางตั้งรัฐบาลมืออาชีพ มีความรู้ความสามารถ ไม่ยึดติดอำนาจและผลประโยชน์ เข้ามาบริหาร นำชาติฝ่าวิกฤต อีกฝั่งทำเนียบรัฐบาล เกิดรอยร้อย ความระหองระแหงขึ้นในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งเรื่องการบริหาร การแบ่งงานการเมือง การติฉินนินทาเกิดขึ้นทั่ว ผู้รับเหมาแบกหนักรายใหม่ คือนายกรัฐมนตรี สถานการณ์ระส่ำระสายยุ่งเหยิงแบบนี้ ข่าวลือ ข่าวปล่อยวุ่น อย่างยุบสภา ชิงหนี แต่คนที่รู้จักนายกฯดี ฟันธงไม่มีทาง แต่มีช่อง มีข้อยกเว้นบางประการ…ความเป็นไปได้อาจพอมี

ปักหมุด

Advertisement

มอบอาหาร – ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มอบผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน ภายใต้ โครงการ CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19 แก่ ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เคียงข้างคนไทย – ชนิดา พื้นแสน พร้อมด้วย พักร์วิมล สตะเวทิน ผู้บริหาร บจ.เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล มอบอาหาร สิ่งของจำเป็นและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ให้กับโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์รังสิต เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้โครงการ ท็อปส์ เคียงข้างคนไทยสู้ภัยโควิด-19 โดยมี ประภาพร ดองโพธิ์ รับมอบ ณ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รังสิต

สมทบทุน – เจษฎา ปลั่งมณี กก.ผจก. พร้อมด้วย ชัชวาลย์ ตันติอภิกุล ผู้จัดการ-การบุคคลและธุรการ บริษัทเหล็กสยามยามาโตะ มอบเงินบริจาคให้กับ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา เพื่อสมทบทุนสร้างห้องปฏิบัติการหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์, ศ.เกียรติคุณ นพ.พรชัย สิมะโรจน์ และ นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ ร่วมต้อนรับ ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี

สนับสนุน – ศรัณยู ลิ่มวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายปิโตรเคมีและลู้บเบส บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อการแพร่ระบาดโรค COVID-19 พร้อมมอบเครื่องอุปโภค บริโภค และเครื่องใช้ที่จำเป็นให้กับหน่วยงานทางด้านสาธารณสุข โรงพยาบาลสนาม โดยมี นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี รับมอบเพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ในจังหวัดชลบุรีต่อไป

ร่วมต้านโควิด – ตัวแทนบริษัท ซิมเพิ้ล ฟู้ดส์ จำกัด มอบผลิตภัณฑ์นมอัลมอนด์ ให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสู้ภัยโควิด-19 และสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้

ยินดี – ประสาน สถิตย์เรืองศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร แสดงความยินดีแก่ ธณรัสย์ หัดศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการ์เดียน กรุ๊ป เนื่องในโอกาสจัดงานขอบคุณลูกค้าและผู้มีอุปการะคุณ ในการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในปี 2563 ณ เกษร ทาวเวอร์

ส่งมอบ – รัตน์ติพงษ์ ภักดี ผู้จัดการแผนกเครือข่ายสิงห์อาสา บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ส่งมอบน้ำดื่มสิงห์, อาหารแช่แข็ง, อาหารพร้อมทาน ให้กับ ธัณณ์จิรา ธนาศิริธัชนันท์ ผอ.สำนักประสานการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ สพฉ.และทีมอาสาสมัครต่างๆ รวม 50 มูลนิธิ ในการเป็นด่านหน้าไปรับผู้ป่วยโควิด-19 จากบ้านไปส่งที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาต่อไป
ณ กระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image