วิเคราะห์หน้า 3 : วิกฤต บริหาร วิกฤต การเมือง วิกฤต บิ๊กตู่

วิเคราะห์หน้า 3 : วิกฤต บริหาร วิกฤต การเมือง วิกฤต บิ๊กตู่

วิเคราะห์หน้า 3 : วิกฤต บริหาร วิกฤต การเมือง วิกฤต บิ๊กตู่

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องตัดสินใจ “รวบอำนาจ” หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 3 รุนแรงขึ้น

มีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม มีคนไข้โคม่ามาก และจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงขึ้น

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติโอนอำนาจของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกฎหมายต่างๆ รวม 31 ฉบับให้เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

Advertisement

เพื่อแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดทั่วประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ศบค. ได้แบ่งโซนสีเพื่อกำหนดมาตรการควบคุมการระบาดใหม่ โดยแบ่งโซนสีออกเป็น 3 สี

สีแดงเข้ม มี 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และชลบุรี

Advertisement

มีมาตรการเข้มข้นที่สุด อาทิ ร้านอาหารในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ห้ามให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้านทุกกรณี

จังหวัดที่เหลือ คือ สีแดง และ สีส้ม ซึ่งมาตรการการควบคุมจะลดความเข้มข้นลงไปตามโทนสี

มาตรการทั้งหมดเริ่มต้นวันที่ 1 พฤษภาคม

หลังจากนั้นจะมีการประเมิน

การตัดสินใจ “รวบอำนาจ” เพื่อแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ถือเป็นการตัดสินใจที่จะเลือกการบริหารงานแบบรวมศูนย์ในการแก้ปัญหา

เพียงแต่การจะรวมศูนย์เหมือนกับการสั่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศดั่งเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลเรียนรู้แล้วว่าต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการเยียวยา

ครั้งนี้รัฐบาลจึงเลือกการ “รวมศูนย์” แต่กระจายอำนาจให้ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้สั่งการ

ทั้งนี้ คาดหวังว่าจำนวนงบประมาณที่จะใช้ในการเยียวยาจะไม่หนักหนาสาหัสเหมือนครั้งแรก

โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่ามีงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้ได้ทันที

ไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม

สําหรับการตัดสินใจเลือกวิธี “รวมศูนย์อำนาจ” นั้นมีทั้งคุณและโทษ

การรวมศูนย์อำนาจน่าจะทำให้การสั่งการเด็ดขาด การแก้ไขปัญหาต่างๆ น่าจะรวดเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมืองด้วยวิธีการรัฐประหาร ย่อมเห็นสมควรใช้วิธี “รวบอำนาจ”

แม้ก่อนหน้านี้จะมีความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนที่จะช่วยจัดหาวัคซีนและออกเงินซื้อเพิ่มเติมจากปริมาณของรัฐบาล

มีการตั้งทีม 4 ทีม และได้จับเข่าคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ผลที่ออกมา รัฐบาลยืนยันว่าสามารถหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดส เพื่อมาฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน ภายในปีนี้ได้แน่

ภาคเอกชนทำหน้าที่เพียงตระเตรียมสถานที่ และความพร้อมด้านอื่น

ผลการประชุมดังกล่าวย่อมสะท้อนว่า เรื่องวัคซีน ภาคเอกชนมีหน้าที่เพียงสนับสนุน ตระเตรียมสถานที่

และอำนวยความสะดวก

เท่านั้น

จากข้อกำหนดดังกล่าวตอกย้ำความถนัดของรัฐบาลที่นิยมการ “รวบอำนาจ”

แม้การรวบอำนาจจะมีข้อดีที่ความเด็ดขาด แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน

นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ว่า ได้พูดคุยกับหมอในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หมอคนนั้นบอกว่าที่โรงพยาบาลของเขาไม่มียาฟาวิพิราเวียร์เก็บไว้ในคลังยาเลยแม้แต่หนึ่งเม็ด

โรงพยาบาลต้องให้ข้อมูลเอกซเรย์ของผู้ป่วยทำเป็นรายงานส่งไปเพื่อขอเบิกจ่ายยากับโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์กลาง

บางครั้งอาจต้องรอถึง 24 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยปอดบวมไปแล้ว ซึ่งในการเอกซเรย์ก็เห็น แต่ก็ต้องรอให้ผ่านกระบวนการเบิกยาเป็นรายๆ ในการรอยาถือว่าช้าไป

ทั้งนี้ หากพรรคฝ่ายค้านมีหลักฐานประจักษ์ว่า การบริหารจัดการยาเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสีย

รัฐบาลย่อมตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายค้าน 6 พรรค ที่ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวภายหลังจาก ครม.มีมติโอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับให้นายกรัฐมนตรี

ประเด็นการแถลงคือการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง เพราะแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระบาดและแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว

พร้อมกันนั้นพรรคฝ่ายค้านยังเตรียมยื่นให้ ป.ป.ช.เอาผิด พล.อ.ประยุทธ์อีกด้วย

แม้ภายหลังการแถลง พรรคพลังประชารัฐ และฝ่ายรัฐบาล จะมองว่า “ทำได้แค่พูด” แต่มีโอกาสสูงที่พรรคฝ่ายค้านจะรวบรวมประเด็นต่างๆ ไปขยายผลในรัฐสภา

ในสมัยการประชุมที่จะเปิดในเดือนพฤษภาคมนี้

การประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมหน้าแตกต่างจากการประชุมในสมัยการประชุมก่อนๆ

ทั้งนี้ เพราะพรรครัฐบาลกำลังอยู่ในอาการหวาดระแวงกันและกัน

เมื่อคำสั่งแบ่งงานรัฐมนตรีดูแลจังหวัดทั่วประเทศออกมาแล้วปรากฏว่า รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูแลพื้นที่ตัวเอง แต่กลับให้รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐเข้าไปดูแลพื้นที่ต่างๆ แทน

พรรคประชาธิปัตย์ย่อมต้องเคลื่อนไหว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับต้องบอกว่า “ประชาธิปัตย์ไม่พอใจ”

และเกิดแรงกดดันจนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปปรับใหม่

ปรับไปใช้คำสั่งเดิมเมื่อปี 2563

ขณะเดียวกัน การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับขู่รัฐมนตรีบางคนที่ชอบ “นินทา” ว่าอาจจะถูกปรับออก และขู่พรรคร่วมรัฐบาลว่าอาจถูกริบโควต้า

เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ร่วมคณะรัฐบาล

เมื่อประเด็นเรื่องวัคซีนป้องกันโควิดถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก

พล.อ.ประยุทธ์ได้ตั้งคณะกรรมการวัคซีนทางเลือกขึ้นมา แต่ไม่มีชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่

ความจริงแล้ว พรรคภูมิใจไทยก็มีความข้องใจหลังจากที่สมาชิกจากพรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่งไม่ยกมือโหวตให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ทั้งหมดคือรอยร้าวในรัฐบาล

รอยร้าวเช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อรัฐบาลในห้วงเวลาเปิดสมัยประชุม

การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญ

สำคัญต่อสถานการณ์การระบาดระลอก 3

สำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

และสำคัญต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง

ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์บริหารงานผิดพลาด ไร้ผลสัมฤทธิ์

ย่อมกลายเป็นวิกฤตทางการบริหาร

วิกฤตการบริหารจะลุกลามขยายผลไปสู่การเมือง

และย้อนกลับมาแผลงฤทธิ์เข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ในทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image