‘ปริญญา’ ยกข้อ กม.แย้ง ‘เอนก’ เหตุออกหนังสือจี้ มธ.-มหิดลสอบอาจารย์ ชี้ใช้อำนาจเกินเลยรัฐธรรมนูญ

‘ปริญญา’ ยกข้อ กม.แย้ง ‘เอนก’ เหตุออกหนังสือจี้ มธ.-มหิดลสอบอาจารย์ ชี้ใช้อำนาจเกินเลยรัฐธรรมนูญ แนะทำ จ.ม.แจงปมบัญชา

จากกรณี นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ตามบัญชาของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ชี้แจงว่าจะสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ทั้ง 8 คน ที่ยื่นประกันลูกศิษย์ในคดี ม.112 ตามที่ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นร้องหรือไม่นั้น

ต่อมา นายเอนกระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ หากใครไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายก็ไม่ต้องไปกลัว ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อมีคนร้องเข้ามาตนก็สอบถามมหาวิทยาลัยไปตามขั้นตอนเท่านั้น

อ่านข่าว :‘เอนก’ ร่อน จ.ม.จี้อธิการบดี มธ.สอบอาจารย์ยื่นประกันลูกศิษย์ แนวร่วมราษฎร
‘เอนก’ ยัน หนังสือสอบจรรยาบรรณ 8 อาจารย์แค่ให้มหา’ลัยชี้แจง ชี้ไม่ผิด ไม่ต้องกลัว

Advertisement

ล่าสุด วันนี้ (2 พฤษภาคม) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาระบุถึงกรณีนี้ว่า โต้แย้งรัฐมนตรี การเป็นนายประกันให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาไม่มีความผิดทั้งทางกฎหมายและทางวินัย เพราะผู้ต้องหาและจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ตามที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. “ได้มีบัญชาให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจง” เรื่องการ “สอบจรรยาบรรณ” คณาจารย์ 8 คน ที่เป็นนายประกันให้นักศึกษาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามที่ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นร้องเรียน โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนปกติ ซึ่งหากใครไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ก็ไม่ต้องไปกลัว ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน เมื่อมีคนร้องเข้ามาตนก็สอบถามมหาวิทยาลัยไปตามขั้นตอนเท่านั้น” (จากข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน)

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ตนในฐานะอาจารย์สอนกฎหมาย เห็นว่าหนังสือจากเลขานุการท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. และคำให้สัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. น่าจะมีความผิดเพี้ยนไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายในหลายประการ จึงใคร่ขอเสนอความเห็นในทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะในการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้

Advertisement

“1.รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ‘ในคดีอาญา #ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด” หลักนี้เรียกว่า #หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ หรือ presumption of innocence ทั้งนี้ เป็นไปตาม #หลักการแบ่งแยกอำนาจ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการกล่าวหาฟ้องร้องของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย

“โดยให้เฉพาะแต่ฝ่ายตุลาการหรือศาลเท่านั้นที่จะพิพากษาว่า ประชาชนคนใดทำผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 เป็นต้นมา ล้วนแต่บัญญัติหลักนี้ไว้โดยถ้อยคำเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

“2.ทั้งนี้ มาตรา 29 วรรคสอง ได้บัญญัติแนวทางปฏิบัติของหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ไว้ในประโยคที่สองว่า ‘#ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด #จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้’

“นั่นคือเมื่อผู้ใดยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่าผิด ผู้นั้นจะถูกปฏิบัติแบบที่ถูกพิพากษาแล้วว่าผิดไม่ได้ แล้วศาลก็ไม่อาจมีคำพิพากษาได้ถ้าไม่ได้มีการพิจารณาคดีโดยรับฟังพยานหลักฐานและการแก้ข้อกล่าวหาของโจทก์จำเลยจนครบถ้วนกระบวนความเสียก่อน

“ว่าง่ายๆ คือตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง ก่อนที่ศาลจะพิพากษาไม่ว่าใครก็ไม่อาจที่จะปฏิบัติกับผู้ต้องหาหรือจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำผิด หรือพิพากษาล่วงหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวศาลเอง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด หรือประชาชนกลุ่มไหน ซึ่งเป็นหลักการที่คุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา #ทุกคดี และคุ้มครอง #ทุกคน รวมถึงท่านรัฐมนตรีด้วย

“3.ตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์นี้ การได้รับการประกันตัว หรือที่ #ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ใช้คำว่า ‘ปล่อยชั่วคราว’ จึงเป็นเรื่องหลัก #การไม่ให้ประกันตัวจึงเป็นเรื่องยกเว้น โดยตามรัฐธรรมนูญมีเหตุที่จะไม่ให้ประกันตัวเพียงเหตุเดียวคือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนีเท่านั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคสามว่า ‘การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลบหนี’

“ดังนั้น การได้รับการประกันตัวจึงเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งตามมาตรา 29 วรรคสามนี้ ถ้าไม่มีเหตุว่าจะหลบหนีก็ต้องให้ประกันตัว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงบัญญัติเป็นหลักไว้ในมาตรา 107 ว่า ‘ผู้ต้องหาหรือจำเลย #ทุกคน พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว’ นั่นคือไม่มีใครควรจะต้องติดคุกก่อนศาลพิพากษา และทุกคนต้องสามารถสู้คดีนอกคุกได้” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า 4.ในเมื่อรัฐธรรมนูญอันมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ (มาตรา 5) รับรองว่าผู้ต้องหาและจำเลยยังไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจนกว่าศาลจะพิพากษา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็กำหนดให้ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน ไม่ว่าจะต้องข้อหาใด พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ดังนั้น การเป็นนายประกันไม่ว่าจะเป็นคดีใด เช่นเดียวกับการเป็นทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ก็ย่อมที่จะไม่มีความผิดแต่ประการใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในทางอาญาหรือในทางวินัย

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า การที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้เลขานุการของท่านทำหนังสือบัญชาให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงเรื่องการสอบจรรยาบรรณอาจารย์ที่เป็นนายประกันนักศึกษา จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

“สิ่งที่กระทรวง อว.พึงกระทำมากกว่าคือ ทำหนังสือตอบผู้ร้องเรียนท่านรัฐมนตรีว่า การเป็นนายประกันให้นักศึกษาในคดีอาญานั้น ไม่มีความผิดใดทั้งทางอาญาและทางวินัย เพราะนักศึกษาที่เป็นผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามรัฐธรรมนูญและมีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า 5.นอกจากนี้แล้ว ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2558 มาตรา 5 วรรคสอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘มีฐานะเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐ’ เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 มาตรา 5 วรรคสอง ที่บัญญัติให้มหาวิทยาลัยมหิดล ‘มีฐานะเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐ’

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.จึงไม่มีอำนาจบังคับบัญชา มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง เช่นเดียวกับไม่มีอำนาจบังคับบัญชามหาวิทยาลัยในกำกับอื่นๆ ทั้งหมดด้วย

“โดยตามพระราชบัญญัติอุดมศึกษา พ.ศ.2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มีอำนาจเพียงแค่ ‘ควบคุมกำกับ’ คือกำกับดูแลหรือควบคุมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพียงให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น

“โดยสรุป ผมขอเรียนท่านอธิการบดีทั้งสองมหาวิทยาลัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ไม่มีอำนาจบัญชาในเรื่องการสอบจรรยาบรรณของอาจารย์ที่เป็นนายประกันให้นักศึกษา เพราะนักศึกษายังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และมีสิทธิได้รับการประกันตัวตามกฎหมาย อาจารย์ที่ไปประกันตัวจึงไม่มีความผิดให้ต้อง ‘สอบจรรยาบรรณ’ แต่อย่างใด

หนังสือจากเลขานุการรัฐมนตรีฉบับนี้จึงเป็นการใช้อำนาจที่เกินเลยไปจากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล จึงควรที่จะทำหนังสือให้กระทรวง อว.ต้องชี้แจงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.มีอำนาจอะไรจึงมี ‘บัญชา” เช่นนี้ได้

“ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องอาจารย์ที่เป็นนายประกันให้นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการปกป้องสถานะการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับว่าไม่ใช่หน่วยงานใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดังที่ท่านรัฐมนตรีเข้าใจ” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image