วอน ส่งเสียงคืนสิทธิประกัน ‘ปูน’ เผย ‘ตี้’ อดอาหาร – ‘แหวน’ ร่ำไห้ เคยถูกฝืนใจ-กายขณะคุมขัง

วอน ส่งเสียงคืนสิทธิประกัน ‘ปูน’ เผย ‘ตี้’ อดอาหาร – ‘แหวน’ ร่ำไห้ เคยถูกฝืนใจ-กายขณะคุมขัง แนะ ไต่สวนเป็นธรรม ด้วย ‘เครื่องจับเท็จ’

เมื่อเวลา 16.15 น. วันที่ 3 พฤษภาคม ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เครือข่าย People Go Network
จัดกิจกรรม “เสวนาหน้าศาล” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย สิทธิผู้หญิง และสิทธิทางเพศที่ถูกละเมิด

โดยมี น.ส.พัชณีย์ คำหนัก นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ซึ่งประกาศร่วมอดอาหาร เมื่อค่ำวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ดำเนินรายการ ถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊ก “ประชาไท” ท่ามกลางฝนที่โปรยลงมาเล็กน้อย

โดยในตอนหนึ่ง นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน กลุ่มราษฎรเอ้ย กล่าวถึงกรณี น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ พะเยา แกนนำกลุ่มราษฎรเอ้ย ผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญา คนล่าสุด ว่า หลายคนอาจรู้จักตี้ ในนาม ตี้ พะเยา บนเวทีเขาอาจจะเป็นคนที่เข้มแข็งมาก ดุดันและทรงพลัง แต่เมื่อลงจากเวทีและวางไมค์ เขาก็คือผู้หญิงอีกหนึ่งคน คนธรรมดาที่ต้องการให้ทุกชีวิต มีชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการให้แนวคิด “คน เท่ากับคน” เป็นไปได้จริง เรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการที่ดีและเท่าเทียมกัน คือสิ่งที่ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเรียกร้อง แต่สิ่งที่โดน คือการใช้อำนาจของรัฐบาลทำร้าย เรามองว่า ทุกคนมีสิทธิและการแสดงออก สำหรับระบอบประชาธิปไตย การเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ จึงเป็นไปไม่ได้สำหรับการที่ผู้หญิงคนหนึ่งออกมาเรียกร้องสิ่งนี้

Advertisement

เมื่อ น.ส.พัชณีย์ ถามถึงความเป็นไปในการที่ น.ส.วรรณวลี ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

นายธนพัฒน์เปิดเผยว่า ตี้ เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยถูกกดขี่จากโรงเรียน หรือการใช้ชีวิต จนรู้สึกว่าถ้ายอมให้ถูกกดขี่ จะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือก้าวผ่านมาได้ จึงเลือกสู้ให้ชีวิตที่ดีขึ้น สู้กับอำนาจรัฐ

“จังหวัดพะเยา ต้องยอมรับว่า ร้อยเอกธรรมนัส เป็นผู้มีอำนาจ มีอิทธิพลมากในพื้นที่นั้น ไม่มีใครกล้าพูดชื่อธรรมนัส เพราะจะโดนเล่นงานได้ ตี้จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่รู้สึกว่า ถ้ายังอยู่ในขอบเขตนี้ ไม่กล้าแบบนี้ เราจะพูดถึงได้อย่างไร เขาจึงเลือกที่จะจับไมค์ แล้วพูด

Advertisement

 

ส่วนเรื่องคดีตอนนี้ มีพ่อบุญธรรมของตี้และพี่เอม ที่สนิทกัน ไปเยี่ยมที่เรือนจำทุกวัน ซื้อของใช้ไปให้ ครั้งล่าสุดที่มีการยื่นประกัน มองว่าอัตราโทษสูงเกินไป เกรงว่าหลบหนี จึงไม่ให้ประกันตัว ซึ่งเราอยู่กับพี่เขาทุกวัน ยังมองไม่เห็นเลยว่า เขาจะหลบหนีได้อย่างไร พาสปอร์ตก็ไม่มี ดังนั้น ‘การหลบหนี’ ความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์ แล้วเรามองว่าสิทธิประกันตัวคือ

สิทธิเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องหาที่ควรจะได้รับ สำหรับการออกมาต่อสู้นอกที่คุมขัง จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง เพระาการตัดสินแบบนี้ หมายความว่าเขาทำความผิด ทั้งที่ความจริงอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ได้ หากยังไม่มีการพิพากษา ก็ไม่ควรถูกจองจำอยู่ในคุก” นายธนพัฒน์กล่าว และว่า

ล่าสุดวันนี้ พี่ตี้ประกาศอดอาหารเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ทัณฑสถานหญิงกลางธนบุรี จากคดีการปราศรัย ที่วงเวียนใหญ่ ส่วนปูน ออกมาชุมนุมตั้งแต่อายุ 17 จนตอนนี้ พ้นคำว่าเป็นเด็กมาแล้ว จึงเปรียบเทียบได้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เป็นเด็กจนถึงตอนนี้

“แต่สิ่งที่ประเทศไทยให้กับเรา ในการออกมาต่อสู้ คือคดีความต่างๆ พ.ร.บ.การชุมนุม ซึ่งเวลาเราโดนจับ เจ้าหน้าที่จะให้ ข้อหาว่า ทำร้ายเจ้าพนักงาน ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เรายังไม่ได้ลงมือ คือการแจ้งข้อกล่าวหาแบบเหมารวม สิ่งที่ปูโดนในการดำเนินคดี คือ “การใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ จนเจ้าหน้าที่เสียชีวิต” และ “ให้เลิกยังไม่เลิก” เป็นข้อกล่าวหา มาตรา 215 และ 216 รวมถึงกฎหมายอาญาด้วย จากการชุมนุม 28 มีนาคม ของม็อบ Redem ซึ่งจะมีการนัดวันที่ 5 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งศาลลอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว” นายธนพัฒน์กล่าว

นายธนพัฒน์กล่าวต่อว่า การจับกุมครั้งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ ไม่ชอบธรรมตาม ป.วิ อาญา เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งข้อหากระทำผิด และสถานที่คุมขัง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งอะไร และนำตัวเราขึ้นรถไปโดยไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง ว่าจะปลอดภัยแค่ไหน จึงมองว่านี่ไม่ชอบธรรม

“อยากบอกผู้มีอำนาจ หรือใครก็ตาม ช่วยส่งเสียงให้ได้สิทธิประกันตัว เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของบุคคลที่ควรได้รับ การออกมาต่อสู้นอกสถานที่คุมขัง เพื่อง่ายต่อการพิสูจน์หลักฐานหรือรูปคดี ดังนั้น อยากให้คนที่อยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของเรา หรือใครก็ตาม ได้รับการประกันตัว และฝากถึงคนที่อยู่บ้าน ใครที่อยากมาร่วมกิจกรรมสามารถมาร่วมได้ จะได้เปรียบเสมือนกำลังใจ ที่สำคัญ เวลาเพื่อนเราออกมาจะได้รู้ และแม้เขาจะอยู่ข้างใน ก็ยังต้องการสิ่งนี้” นายธนพัฒน์กล่าว

ด้าน นางณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสา กล่าวว่า อย่าว่าแต่ เรื่องสิทธิสตรี เอาแค่คำว่า คนเท่ากับคน และสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จะดีกว่า เพราะทุกวันนี้เรามีความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะเรื่องชนชั้น เพศ การศึกษา สิ่งที่มนุษย์ทุกคน ที่ถูกดำเนินคดี ถูกตำรวจ กอ.รมน. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปหาที่บ้าน มักจะถูกสังคมตัดสินไปแล้วว่า เป็นคนไม่ดี เป็นคนผิด

 

นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน กลุ่มราษฎรเอ้ย

 

ทั้งที่เราเองยังไม่ได้พิสูจน์ตัวว่าเราผิดหรือไม่ผิด อย่างเช่นกรณีของแหวน แค่ไปเป็นพยาน ถูกตำรวจส่งหมายไปที่บ้าน ญาติก็โวยวายว่าเราไปทำอะไรกับคนเสื้อแดง จึงมีหมายมีตำรวจมาหาที่บ้าน ชุมชนในหมู่บ้าน ก็จะตราหน้าไปแล้วว่า ‘เราเป็นคนไม่ดี’ ไปเป็นพวกกับคนเสื้อแดง เผาบ้านเผาเมือง พวกม็อบรับจ้าง ม็อบไม่มีสมอง ทั้งที่เรายังไม่ได้อธิบายต่อสังคมและครอบครัว

“แหวนผิดหวังมากกับครอบครัว จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าคดีแหวนจะยกฟ้องหรือไม่ เราสู้ ไม่ได้สู้เพื่อที่จะแพ้ ที่สู้เพื่อต้องการพิสูจน์ให้สังคมรับรู้ว่า สิ่งที่เราต่อสู้เราไม่ผิด สู้ไปเถอะ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถ้าคุณตั้งใจจริง ชัยชนะจะมาหาเอง

 

สิ่งที่เราได้รับในการเดินทางบนเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ แหวนเข้ามาในเส้นทางการเมืองเรียกว่า ไม่ได้มีความตั้งใจ ไม่รู้ว่าม็อบคือ อะไรแต่ไปตามชนบท ที่ๆ เขาต้องการความช่วยเหลือ ไม่รู้จักกลุ่มคนที่ทำงานสังคมการเมือง จึงมีความรู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องรู้จัก แต่พอวันหนึ่ง มีม็อบเสื้อแดงออกมา น้องชายหายไปจากบ้าน เราแค่มาตามหาน้องชาย และช่วยจ่ายยาสามัญประจำบ้าน ทำแผลเบื้องต้น นำส่งโรงพยาบาล คนไหนอยากกลับบ้านเราอาสาพาไป เราไม่รู้ว่านั่นคือเส้นทางการต่อสู้ เพียงแต่เรามองว่า เราเข้าไปอยู่ตรงนั้นเราพอจะช่วยได้ เราก็ช่วย”

 

นางณัฏฐธิดากล่าวต่อว่า เราถูกอุ้มขึ้นรถ และเปิดดูรอยสักตามตัว สิ่งที่ผู้ชาย 4 คน ไม่ควรกระทำกับเรา คือ เขาใส่ชุดไปรเวต มาบอกว่าเป็นตำรวจ เอาแล้วขึ้นรถ แล้วเปิดดูเสื้อ เราก็ร้องว่า ‘อย่าทำแบบนี้ อย่างน้อยพี่ก็มีแม่’ นี่คือร่างกายของเรา เขาไม่มีสิทธิ ทำให้เราไม่สามารถต่อสู้ ไม่มีสิทธิปกป้องตัวเอง พูดก็ตาย ไม่พูดก็ตาย ทำได้แค่ขอร้อง ซึ่งก็ไม่ได้มีผลอะไร พอโดนจับเข้าไปในค่ายทหาร ปิดตาตลอดแม้กระทั่งเข้าห้องน้ำ มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงพาเข้าห้องน้ำ ปิดตาและถูกจูงดึงจากข้างหลัง ไปถึงห้องน้ำห้ามเปิดตาตอนที่ยังไม่ได้ปิดประตูและ และให้งับประตู ห้ามล็อกกลอน ซึ่งเราไม่เคยโดนกระทำแบบนี้

ไม่น่าเชื่อว่า เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ตอนที่มาจับเรา มีแค่เอกสาร เป็นกระดาษแผ่นเดียว คำสั่ง คสช. ว่าเราคือผู้ต้องสงสัยที่ปาระเบิด หน้าศาลอาญา ซึ่งหากเราเป็นคนกระทำ บอกตรงๆ ว่าไม่อยู่หรอกหนีไปนานแล้ว แต่เราไม่ได้ทำ แล้วไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มารู้จากข่าวในหนังสือพิมพ์ และทีวี เหนือสิ่งอื่นใด การโดนกระทำอนาจารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ

ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะเป็นใครก็แล้วแต่ อย่างน้อย แม่ของคุณก็เป็นเพศหญิง เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในสังคมไทยมาก แต่ผู้หญิงไม่มีสิทธิพูด ถึงพูดไปแล้ว สังคมก็จะสมน้ำหน้า มันเป็นแผลในใจเราไปแล้ว เมื่อก่อนเจ็บจนพูดไม่ออก เราเจ็บปวดมาก (หลั่งน้ำตา) เราถูกไล่ยิง ทั้งที่เราไม่ใช่คนเสื้อแดง ปี 53 พอจบคดีไปแล้ว ก็คิดว่าจะจบ ครอบครัวเข้าใจผิด ที่เรามาเป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ก็ไม่ได้เป็นพยานให้ใคร เป็นพยานให้ตัวเอง เพราะว่าถูกไล่ยิง


ไม่ควรเอาเราไปขังถึง 3 ปี 6 เดือน โดยที่ไม่ให้เรามีสิทธิในการประกันตัว สิ่งที่เขาทำกับเด็กทุกวันนี้ สุเทพสั่งฆ่าคนเป็นร้อยคน กลางเมือง แม้กระทั่งหน้าคุกก็ยังไม่เคยเฉียดเข้าไป ประยุทธ์ยึดอำนาจ ทำให้เศรษฐกิจล่มจม โควิดระบาด ใครต่อใครต้องตายไปเป็นหลายร้อยคน ไม่เคยมีสำนึกในการที่จะต้องรับผิดชอบสังคมและประชาชน มีเด็กกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรม แต่คุณก็จะเข้าไปขัง แล้ว กปปส.ล่ะ เมื่อก่อนมีคณะปรองดอง แต่จะปรองดองได้อย่างไร เมื่ออีกฝ่ายไม่เคยมีความผิดอะไรเลย

นางณัฏฐธิดากล่าวต่อว่า ถามว่ารัฐบาลปัจจุบันจะทำอย่างไรให้เดินหน้าต่อไปได้ จะมีคณะกรรมการปรองดองแบบนี้อีกหรือไม่ ถ้ามีอีก ต้องมีการพูดคุยให้มากกว่านี้ ว่าสิ่งที่คุณกระทำต่อเด็กและเยาวชนนักต่อสู้ ไม่ว่าทนายอานนท์ และเพื่อนทุกคน และนักศึกษาอย่างตี้ ต้องมีการพูดคุยให้มากกว่านี้ จะโดยหลักการด้านสิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็ตาม หากพูดความจริงไม่ได้ การต่อสู้ก็ไม่สามารถทำได้ หากมองว่าสิ่งเหล่านี้ผิด เราขอแค่ความเป็นคน

“นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตโดนจับครั้งแรกก็คือศาลทหาร จับโดยทหาร ไต่สวนโดยทหาร ไม่ให้ประกันโดยทหาร จนเมื่อ 4 กันยายน 62 ถึงได้ประกัน และได้อิสรภาพอีกครั้ง ในการออกมาหาพยานหลักฐาน เราถูกการฝากขังทั้งที่ยังไม่ได้เป็นนักโทษเด็ดขาด หรืออะไรก็ตาม ซึ่งเราไม่ได้สิทธิในการประกันตัว ถูกขังลืม วินาทีนั้นมองย้อนกลับมาแล้วรู้สึกว่า เหมือนภาพ ณ ปัจจุบันนี้ ในวันนั้นเราไม่กล้าขอความช่วยเหลือกับเพื่อน กลัวเพื่อนเดือดร้อน เพราะมีการประกาศกฎของ คสช.โทษรุนแรง ไม่กล้าขอความช่วยเหลือใคร และไม่อยากให้มีม็อบด้วย เพราะคนจะเดือดร้อน เรากลัวแบบนี้ จึงเงียบมาโดยตลอด” นางณัฏฐธิดากล่าว

นางณัฏฐธิดายังกล่าวถึงข้อเสนอแนะด้วยว่า สิ่งที่เป็นไปได้ในสังคม ไม่ว่าเป็นคดีการเมือง หรือคดีทั่วไป คดียาเสพติด หรืออะไรก็ตาม ไม่ควรถูกฝากขัง แล้วถูกล่วงละเมิด ซึ่งส่วนตัวเจอกรณีเช่นนี้ในเรือนจำ ถ้าน้องบอกว่า ช่างมัน ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรไปต่อสู้ ถูกเอาไปขังในโรงพัก ถูกข่มขืน และถูกยัดยา ให้รับสารภาพ ถูกปิดปากให้ลืม ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมคุมขังคดีใดก็ตาม อยากให้มีการไต่สวนด้วยความชอบธรรมทั้ง 2 ฝ่าย หากมั่นใจว่าเราผิดจริง เอาเข้าเครื่องจับเท็จ โดยที่ตั้งคณะกรรมการเข้าไปนั่งฟัง ไม่ใช่ไปทำแค่ฝ่ายของคุณอย่างเดียว คุณทำได้หรือไม่ นี่คือความชอบธรรม

“ต้องมีคนที่เป็นกลางจริงๆ อีกเรื่องคือสิทธิประกันตัว และการเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา ทุกคดีที่จับมาเป็นคดีการเมือง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ผู้ต้องหาจะถูกบังคับให้เซ็นรับทราบในข้อกล่าวหา บอกถ้าไม่ผิด ก็ให้ไปต่อสู้ในชั้นศาล ถ้าไม่เซ็นรับทราบก็ไม่ได้ ถูกกดดัน บังคับทุกอย่าง ทั้งจิตใจและร่างกาย”

จากนั้น เวลา 17.30 น. เป็นการทำกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เพื่อร่วมเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวชั่วคราว ปล่อยตัวผู้ต้องหาออกมาสู้คดี

สำหรับวันนี้ มีทีมพยาบาล 2 ทีม ทั้งพยาบาลทีม นางณัฏฐธิดา หรือ แหวน และทีม access มาช่วยตรวจชีพจรวัดความดันพร้อมกับแนะวิธีรักษาอาการ ให้กับ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ซึ่งอดอาหารเข้าสู่วันที่ 8 และพักผ่อนน้อย ส่วน น.ส.พัชณีย์ คำหนัก นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ซึ่งประกาศร่วมอดอาหาร เมื่อค่ำวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังคงมีแรงดี

อ่านข่าว :

จาก 1 ถึง 47 ‘เลิศศักดิ์’ แถลง ชวนรับไม้ต่อ ‘อดอาหาร’ หล่อเลี้ยงการเคลื่อนไหว-ฉายภาพให้ในคุก ‘ถูกจับตา’

‘พัชณีย์’ นักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน ประกาศอดอาหารหน้าศาลอาญา ทวงสิทธิประกันตัวผู้ถูกกล่าวหา ม.112

 

คฝ.กระชับพื้นที่ต่อเนื่อง ปะทะกันปากซอยรัชดาฯ 32 เผยเสียงคล้ายประทัดดังนานครึ่ง ชม. จนท.ยังไปต่อ
‘เลิศศักดิ์-พัชณีย์’ กลับปักหลักอดอาหารหน้าศาล เผย วานนี้ ต้อง ‘หลบกระสุนยาง’-มีกลุ่มสร้างสถานการณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image