เดินหน้าชน : แรงงานเปราะบาง

วิกฤตโควิด-19 นับแต่ต้นปี 2563 แม้หลายธุรกิจพยายามประคับประคองตัวเองรักษาลูกน้องไม่
เลิกจ้าง ใช้วิธีลดเวลาทํางาน แรงงานยังพอมีงานทำแต่หนีไม่พ้นรายได้ที่ลดลงไปตามชั่วโมงที่ลดลงไป

จากการสํารวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับภาวะการทํางานของประชากรเดือนธันวาคม 2563 แม้จะพบว่ามีผู้มีงานทําทั้งสิ้น 38.76 ล้านคน มองด้วยตาเปล่าอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน เพิ่มเป็น 38.76 ล้านคน แต่ชั่วโมงทํางานกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นการลดของชั่วโมงการทํางานในเกือบทุกสาขา โดยผู้ที่ทํางานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจํานวน 8.04 แสนคน รายได้ครัวเรือนก็ต้องหดหายตามไปด้วย

ในจำนวนนี้มีผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งหมายถึงผู้ทํางานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสําคัญและได้รับการดูแลอย่างยิ่ง แม้ไม่ถึงขั้นตกงาน แต่มีรายได้ต่ำตามชั่วโมงการทํางานที่น้อยจนไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดพบว่ามีจํานวนสูงถึง 2.47 ล้านคน การที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทําแต่มีชั่วโมงทํางานอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย

ที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือเยียวยาออกมามากมายจากรัฐบาล เพื่อเยียวยาประชาชนส่วนใหญ่ที่ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มอื่นๆ โดยทั่วไป รัฐต้องกู้เงินมาใช้ในการเยียวยาเพื่อให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนที่เดือดร้อน ใช้เงินไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

Advertisement

แต่เมื่อการระบาดรอบ 3 เมื่อต้นเดือนเมษายน กูรูทางเศรษฐกิจต่างปรับลดความคาดหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยเป็นแถว อย่างเช่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดจีดีพี ปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.6% เหลือ 1.8%

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ปรับลดจาก 2.6% เหลือ 2%

Advertisement

สำนักวิจัยกรุงศรี ปรับลดจาก 2.5% เหลือ 2.2%

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ปรับกรอบจีดีพีจาก 2.5% เป็น 1.5-3%

ล่าสุด กระทรวงการคลังก็ได้ปรับลดประมาณจีดีพีจาก 2.8% เหลือ 2.3%

แน่นอนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลง สะท้อนไปถึงอัตราการจ้างงานตามไปด้วย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ประเมินโดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติ
แห่งชาติ ในไตรมาส 3 ปี 2563 (ก่อนเกิดการระบาดรอบ 2 และ 3 ด้วยซ้ำ) พบว่ามีแรงงานที่มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงาน จำนวน 0.18 ล้านคน ทำงานระหว่าง 1-19 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 1.09 ล้านคน ทำงาน 20-39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 9.42 ล้านคน

รวมเบ็ดเสร็จ 10.69 ล้านคน

แรงงานกว่า 10 ล้านคนเหล่านี้ย่อมเดือดร้อนแตกต่างกันไป มากน้อยขึ้นอยู่กับชั่วโมงทำงาน แต่ที่เหมือนกันคือหนีไม่พ้นต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน รัฐยังจำเป็นต้องเยียวยาต่อไปจนถึงสิ้นปี

วงเงินกู้เดิม 1 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเหลือประมาณ 2.3 แสนล้านบาท หากต้องช่วยประคับประคองไปจนถึงสิ้นปี ว่ากันว่าน่าจะต้องไปกู้เพิ่มอีก 0.5-1 ล้านล้านบาท (แม้รัฐบาลจะพยายามกัดฟันบอกว่ายังมีเงินเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มก็ตาม) เพื่อเยียวยากลุ่มได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด จนกว่าธุรกิจสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ

เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลประยุทธ์ต้องบริหารจัดการ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดหาวัคซีนและกระจายการฉีดป้องกันโควิด-19 ให้ทั่วถึง ที่ยังมีคำถามบริหารจัดการได้จริงตามที่รับปากแน่หรือ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image