อาจารย์นิติ จุฬาฯชี้ปัญหาคำวินิจฉัยคดีธรรมนัส คือศาลยังไม่วินิจฉัยเนื้อหาของคดี

“ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯชี้ปัญหาคำวินิจฉัยคดีธรรมนัส คือศาลรธน.แค่ปฎิเสธรูปแบบการพิจารณาโดยอ้างหลักอธิปไตย โดยยังไม่วินิจฉัยเนื้อหาของคดีเลยด้วยซ้ำ 

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความแสดงความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีคุณสมบัติรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีถูกตัดสินจำคุกที่ประเทศออสเตรเลีย จากคดีค้ายาเสพติด จนเกิดการถกเถียงทางวิชาการและแวดวงการเมือง สังคม อย่างมาก

ผศ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า อันที่จริงแล้ว กรณีคุณธรรมนัสที่ศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกประเด็น “หลักอำนาจอธิปไตย” ขึ้นเพื่ออธิบายในคำวินิจฉัยนั้น ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (Comparative Constitutional Law) ก็มีการถกเถียงอภิปรายกันในหมู่นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่มากมาย

อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่า แม้จะเป็นประเด็นเรื่อง “หลักอำนาจอธิปไตย” ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังให้เหตุผลทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional reasoning) ที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ที่กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากว่า “ศาลมิได้เข้าไปวินิจฉัยใน “เนื้อหา” (Substantive) ของคดี” ตามที่มีการร้องมาเสียด้วยซ้ำไปว่า ความเป็นรัฐมนตรีของคุณธรรมนัสสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ หรือไม่อย่างไร (ยังมิพักที่จะกล่าวถึงที่ศาลยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างครบถ้วนในทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.160) ทั้งๆ ที่มี “ข้อเท็จจริง” ว่าเกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายขึ้นแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญเองก็ “ตระหนักรับทราบ” (Recognition) ผ่านคำวินิจฉัยศาลเองในประโยคที่ว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์”

กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ยังมิได้มีการใช้ “ดุลพินิจ” เข้าไปพิจารณาวินิจฉัย หรือตีความทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Interpretation) เลยว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้านั้นต้องด้วยบทบัญญัติ เจตนารมณ์ รวมตลอดไปถึงหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือไม่ แต่กลับปฏิเสธการพิจารณา “เนื้อหาของคดี” ด้วยการอธิบายหลักอำนาจอธิปไตยในเชิงรูปแบบ (Formal) ว่าเมื่อไม่ใช่คำพิพากษาของประเทศไทย จึงมิอาจบังคับในประเทศไทยได้ อันเป็นเรื่องของ “การบังคับใช้” (Enforcement) คำวินิจฉัยของศาล ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน

Advertisement

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจกำลังเข้าใจคลาดเคลื่อนของความแตกต่างระหว่าง “การยอมรับในข้อเท็จจริง (Recognition) ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” และ “การบังคับใช้ (Enforcement) คำพิพากษาของศาลต่างประเทศในระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย”

ทั้งนี้ อาจต้องรออ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มว่าท่านจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนมากขึ้นเพียงใด เพราะตามหลักการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะหยิบยกเรื่องอำนาจอธิปไตยขึ้นมาเป็นประเด็นหนึ่งในการพิจารณา ก็จะต้องเข้าไปพิจารณาในอีกมากมายหลายเรื่องอยู่

อนึ่ง หนึ่งในหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สำคัญยิ่งคือ “หลักความไว้เนื้อเชื่อใจสาธารณะ” (Public Trust Doctrine) ที่เรียกร้องให้ (องค์กร) รัฐพึงต้องเป็นที่น่าเชื่อมั่นเชื่อถือจากประชาชน อันจะยังผลให้การปกครองของรัฐนั้นดำรงคงอยู่ได้ โดยคดีคุณธรรมนัสนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า คุณธรรมนัสในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอยู่บน “ความน่าเชื่อถือของประชาชน” หรือไม่นั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image