กระชับพื้นที่’เลือกตั้ง’ กับสิ่งที่อ้าง’ญี่ปุ่นโมเดล’

หมายเหตุ – เป็นความเห็นต่อข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลการเลือกตั้งในปลายปี 2560 โดยให้ยึดการหาเสียงแบบประเทศญี่ปุ่น อนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ส.มีรถหาเสียงได้เพียง 1 คัน มีผู้ติดตามได้ 5 คน พร้อมไมค์ 1 ชุด ต้องไปหาเสียงด้วยตัวเอง ห้ามใช้ตัวแทน หรือใช้หัวคะแนนเคาะตามประตูบ้าน ไม่ต้องมีการแห่หรือจัดเวทีปราศรัย เพื่อให้การเลือกตั้งปราศจากอามิสสินจ้าง หรือใช้จ่ายเงินทุนจำนวนมาก

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเลือกตั้ง ส.ส. โดยห้ามรณรงค์ปราศรัยชุมนุมหาเสียง ทหารคณะรัฐประหารก็เคยทำมาแล้ว เมื่อ 64 ปีที่แล้ว

คณะทหารนำโดยพลเอกผิน ชุณหะวัณ พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง หรือรัฐบาลทหารจอมพล ป. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 เพื่อกวาดล้างกลุ่มอนุรักษนิยมระบอบเก่าในวุฒิสภาแต่งตั้ง ออกไปจากการมีบทบาทการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่นิยมระบอบเก่า 2492

Advertisement

การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่มีการปราศรัยหาเสียง ไม่มีการรณรงค์หาเสียง ทั้งในชุมชนของเมืองและหมู่บ้าน เพราะรัฐบาลคณะทหารห้าม โดยใช้ประกาศการห้ามชุมนุมทางการเมืองเป็นกฎหมายบังคับ

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสนับสนุนการรัฐประหารปี 2490 ทำให้นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกฯหลังการรัฐประหาร แต่เพียง 4 เดือน นายควงก็ถูกรัฐประหารจากคณะทหารทางจดหมาย พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนั้น

ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาชุดดังกล่าว จึงเป็นสภาที่ไม่มีข่าวคราวความทรงจำใดๆ ในสังคมการเมืองไทย เพราะเป็นสภาชุดที่คณะทหารรัฐประหารควบคุมเสียงไว้ได้ทั้งหมด บางคนต้องตาย เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ที่ถูกรัฐทหารฆ่ารัดคอแล้วเอาไปเผานั่งยาง เป็นต้น

Advertisement

วิโรจน์ อาลี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อเสนอของนายไพบูลย์ที่ไม่ต้องมีการแห่หรือจัดเวทีปราศรัย มองว่าแบบนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งแล้ว เพราะการเลือกตั้งคือการบอกว่าอะไรคือนโยบาย และภายในนโยบายนั้นจะมี 2 เรื่องคือ 1.ชี้ให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร เพื่อให้ประชาชนตอบสนองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และ 2.หน้าที่ของการเลือกตั้งคือ การแข่งขันทางนโยบาย ไม่ใช่เรื่องที่จะมาควบคุมอะไรกันมากมาย ถ้ามีการห้ามก็ไม่เป็นไปตามหลักสากล

อย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีการกำหนดพื้นที่ก็เป็นการหาเสียงในบริเวณที่กำหนดไว้ สามารถขึ้นรถขบวนแห่ปราศรัยในบริเวณนั้นได้ พูดถึงเรื่องนโยบาย หาเสียง วิพากษ์วิจารณ์ ตามปกติ

ผมมองว่าน่าจะมีปัญหามากแน่นอน ทาง กกต.ไม่น่าจะเล่นด้วย เพราะมันคือการแข่งขันทางการเมือง ส่วนเรื่องหัวคะแนนเป็นเรื่องของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ในการสนับสนุนตัวแทนของตัวเอง การจะไปห้ามคงเป็นไปได้ยาก ในต่างประเทศก็มีกลุ่มคนแบบนี้เรียกว่าอาสาสมัคร ถ้ากลัวระบบหัวคะแนนจะมีการข่มขู่ หรือเกิดการซื้อเสียง ตรงนี้ก็ต้องมีกลไกมาควบคุม แต่จะไปห้ามไม่ให้มีคนช่วยแล้วให้นักการเมืองเป็นปากเดียวที่ออกไปพูด ก็ยิ่งทำให้เสียงไม่ได้รับการแพร่กระจาย เป็นเรื่องที่ผิดหลักการ

หากมีความกังวลไม่ต้องการให้การเมืองเป็นการเมืองของการใช้อารมณ์ หรือการแบ่งฝ่าย ก็ยิ่งควรจะรณรงค์ให้มีการแข่งขันทางนโยบาย เปิดโอกาสให้รณรงค์ทางนโยบายให้มากที่สุด ถ้ามีลักษณะของการหมิ่นประมาทก็ดำเนินคดีทางกฎหมายไป แต่การจะไปวางกรอบจนแทบจะทำอะไรไม่ได้ ผมว่าคงไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย คนก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร สุดท้ายก็เลือกกันตามอารมณ์ความรู้สึก ตามข้อมูลด้านเดียวที่ได้รับ ยิ่งทำให้คุณภาพของประชาธิปไตยด้อยลงไป

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

เป็นการออกความคิดเห็นของคนที่ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ตัวเขาเองไม่มีประสบการณ์เลือกตั้งมาก่อนเลย เป็นนักกฎหมาย อีกอย่างคือเขาตั้งพรรคขึ้นมา แน่นอนว่าต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เห็นด้วยกับการกำหนดเขตโปสเตอร์เพราะบางครั้งบดบังการจราจร หลายประเทศที่เจริญแล้วก็กำหนดจุดโปสเตอร์ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา

การหาเสียงมันเป็นเสน่ห์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ลงเลือกตั้งกับผู้ใช้สิทธิ การเคาะประตูเป็นธรรมชาติที่ดีที่สุด จะได้สอบถาม รับรู้ความเดือดร้อนหรือปัญหาของชาวบ้าน

เราเลือกนักการเมืองไปออกกฎหมาย เลือกไปเป็นฝ่ายบริหาร ถ้าเป็นคนดีจริงๆ ทำไมไม่เอาพระอรหันต์ไปสมัครเลย เคยให้นักศึกษาในคลาสยกตัวอย่างนักการเมืองที่เป็นคนดี คิดกันไปคิดกันมาก็นึกไม่ออก มีนักศึกษาคนหนึ่งยกมือบอกว่า เราเลือกนักการเมืองเพื่อไปเป็นผู้บริหารประเทศ เพื่อออกกฎหมาย เรื่องดี-ไม่ดี มันจะมีเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (Political correctness) เข้ามา ดีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

เน้นการเลือกตั้งเชิงคุณภาพ มันเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว ประชาชนเป็นอย่างไรผู้แทนก็เป็นอย่างนั้น ของอเมริกาไม่มีบัญชีเลือกตั้ง แต่คนที่จะไปเลือกตั้งต้องลงทะเบียนก่อน จึงจะออกไปใช้สิทธิแสดงการยืนยันว่ามีคุณภาพแน่ๆ เป็นผู้ที่สนใจในการเมืองจริงๆ อีกอย่างที่ต้องมีคือ การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ หากไม่ไปจะเสียสิทธิ คนจึงออกไปเลือกตั้งเหมือนถูกบังคับ ซึ่งออสเตรเลียเรียกว่า Donkey vote ไปด้วยการบังคับ กลัวเสียสิทธิเท่านั้นเอง

หากมีข้อห้ามเช่นนี้จริง สามารถบรรจุไว้ในกฎหมายลูกได้ เพียงแต่ว่าต้องดูว่าขัดกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญหรือเปล่า แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการห้ามนักการเมืองปราศรัย นักการเมืองเก่งๆ ต้องพูด ไม่พูดเราจะรู้ว่าเขาคิดอะไร ได้อย่างไร ซึ่งมันเป็นเหมือนสัญญากับประชาชน

มองว่าการแสดงความเห็นของนายไพบูลย์ครั้งนี้ เป็นการหาเสียงว่าตัวเองเป็นคนดี เพราะเขาเองก็ตั้งพรรค เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) และหากต้องการให้การเลือกตั้งมีคุณภาพจริงๆ เสนอว่าให้มีการจดทะเบียนเพื่อเลือกตั้ง ใครจะไปเลือกตั้งต้องลงทะเบียนก่อน แสดงว่าคนต้องการลงคะแนนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image