วิเคราะห์หน้า 3 : วิกฤต โควิด เห็นรอยร้าว รัฐบาล บิ๊กตู่ เล่นเกม‘เสี่ยง’

วิเคราะห์หน้า 3 : วิกฤต โควิด เห็นรอยร้าว รัฐบาล บิ๊กตู่ เล่นเกม‘เสี่ยง’

วิเคราะห์หน้า 3 : วิกฤต โควิด เห็นรอยร้าว รัฐบาล บิ๊กตู่ เล่นเกม‘เสี่ยง’

เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดยังไม่ดีขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เริ่มใช้แนวทางการรวบอำนาจเข้ามาบริหาร

เป็นวิธีการที่ พล.อ.ประยุทธ์ถนัด

ถนัดมาตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อปี 2557 และกุมบังเหียนประเทศไทยมาจนถึงบัดนี้

Advertisement

วันนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดรอบ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จึงขอให้ ครม.โอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับมาไว้ที่หน้าตักของตัวเอง

และเมื่อเกิดการระบาดไม่หยุดในเขตกรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ก็ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯและปริมณฑล มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการ

มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นรองผู้อำนวยการคนที่ 1 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองผู้อำนวยการ คนที่ 2 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองผู้อำนวยการคนที่ 3

Advertisement

ส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นรองผู้อำนวยการคนที่ 4

เท่ากับว่าการบริหารงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนรับผิดชอบ

เช่นเดียวกับการคุ้มครองประเทศด้วยกฎหมาย 31 ฉบับ

พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว

การสั่งรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางนี้ ย่อมกระทบกับเจ้ากระทรวงอย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

และหากจับสังเกต พล.อ.ประยุทธ์ กับนายอนุทินในระยะที่โรคโควิด-19 ระบาดระลอก 3 แล้ว จะพบว่าเริ่มมี “ความห่าง”

นับตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือก ที่มีชื่อของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าคณะทำงาน

ในคำสั่งนั้นไม่มีชื่อ นายอนุทิน จนกลายเป็นข้อครหา

และหลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเหินห่างจากนายอนุทิน

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็มีความเคลื่อนไหว เริ่มมีความเห็นต่างจากแนวคิดของรัฐบาล

นายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย ตั้งข้อสังเกตถึงการโอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับให้นายกรัฐมนตรีว่า คือ การตัด คณะรัฐมนตรีและการเมืองออกจากการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด

ขณะเดียวกันได้ผลักดันให้สภาความมั่นคงเข้ามาทำหน้าที่

ตอกย้ำสัญญาณ “รวบอำนาจ” ให้สังคมได้เห็น

อาการดังกล่าวทำให้สังคมจับจ้องมองความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคภูมิใจไทย

จับจ้องรอยร้าวที่เกิดขึ้น

ความจริงแล้ว หากย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มหาเสียงเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคหนึ่งที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่พรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับการดำรงคงอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือพรรคพลังประชารัฐ

ต่อมาพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่ความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีอยู่

ความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับรัฐบาลบังเกิดเด่นชัดเมื่อสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ บางส่วน “แหกโผ” ไม่โหวตให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ความขัดแย้งครั้งนั้นกลายเป็นการ “วอล์กเอาต์”

สำหรับกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น แม้บิ๊กตู่จะเอ่ยปากให้กำลังใจนายอนุทินอยู่บ่อยๆ แต่ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีขู่ “รัฐมนตรีที่ชอบนินทา” ว่าจะเปลี่ยนตัวและริบเก้าอี้มาเป็นโควต้าของนายกฯ

กระทั่งมีผู้ควานหาว่ารัฐมนตรีคนนั้นเป็นใคร

หรือจะเป็นรัฐมนตรีสังกัดภูมิใจไทย?

ด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันมาตั้งแต่ต้น เมื่อเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น จึงสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง

เมื่อโรคโควิด-19 ระลอก 3 ระบาดอย่างกว้างขวาง จากผู้ติดเชื้อใหม่หลักสิบขยับขึ้นเป็นหลักร้อยและเป็นหลักพัน

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นมา และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยอาการหนักมีมาก

ปัญหาการจัดการต่างๆ เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ สังคมตั้งคำถามและมีความเคลื่อนไหวขับไล่รัฐมนตรี

สถานการณ์วิกฤตทำให้รอยร้าวภายในรัฐบาลเกิดขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ “รวบอำนาจ” เพื่อจัดการกับปัญหา วกกลับไปหารือกับกลุ่มแพทย์อาวุโสที่มีความสัมพันธ์กันมาก่อน

ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ตั้งคณะกรรมการ แล้วใช้นายทหารเข้าไปบริหาร

เป้าหมายคือหยุดยั้งการระบาดให้ได้

ถือเป็นการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ใช้วิธีการบริหารแบบปัจจุบัน

แต่ข้อเสียของการ “รวบอำนาจ” คือทำให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม

แม้พลพรรคพลังประชารัฐจะออกมาตอบโต้นายศุภชัยที่วิจารณ์การโอนอำนาจกฎหมาย 31 ฉบับให้นายกฯว่า ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีการดังกล่าวก็คือ ฝ่ายการเมืองไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแก้วิกฤตจริงๆ

สังเกตได้ว่า การแก้ปัญหาทางสาธารณสุข พล.อ.ประยุทธ์ใช้แพทย์อาวุโสที่คุ้นเคยมาตั้งแต่ คสช.

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ มองให้ นายสุพัฒนพงศ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหอก

การแก้ปัญหาการระบาด พล.อ.ประยุทธ์ ดูแลเอง โดยดึงเอา พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯสมช. มาช่วย

พร้อมกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับ

นี่คือวิธีการบริหารตามสไตล์ พล.อ.ประยุทธ์

หากวิธีการบริหารแบบ “รวบอำนาจ” สามารถจัดการกับโรคโควิด-19 ที่กำลังแผลงฤทธิ์อยู่ในขณะนี้ได้ และสามารถจัดการคลี่คลายความขาดแคลนจากภาวะเศรษฐกิจได้

พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถกลับมายืนเป็นผู้นำ และดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้

แต่หากผลที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ปัญหา

ไม่สามารถหาวัคซีนมาเพียงพอ ไม่สามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ทันเวลา ไม่สามารถหายาต้านโควิด-19 ได้เพียงพอ ไม่สามารถทำให้ประชาชนร่วมมือด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ ทำงานที่บ้าน และอื่นๆ

ผลที่ติดตามมาย่อมจะพุ่งเข้าหา พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

การตัดสินใจรวบอำนาจครั้งนี้ ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์เล่นเกมเสี่ยง

กล้าได้กล้าเสีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image