ธุรกิจหนุนผุดกองทุนท่องเที่ยว ลดผลกระทบ-ฝ่าวิกฤต

ธุรกิจหนุนผุดกองทุนท่องเที่ยว ลดผลกระทบ-ฝ่าวิกฤต

หมายเหตุ – เป็นความเห็นของผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว กรณีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาผลักดันการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในอนาคต แทนการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลอย่างเดียว

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร
ว่าที่นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)

Advertisement

หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกเมื่อปี 2563 ภาคเอกชนก็มีแนวคิดจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เนื่องจากเมื่อมีวิกฤตอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นครั้งใหญ่ๆ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งระบบต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ การขอความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเป็นไปได้ยาก ทั้งที่เป็นธุรกิจหลักสร้างรายได้เข้าประเทศไทย และกระจายเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม หากสามารถจัดตั้งกองทุนขึ้นมาสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้โดยเฉพาะ จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ด้วยความยากลำบากที่น้อยลง

การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด ก็อยากเน้นย้ำในจุดยืนคือ ต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากเม็ดเงินที่จัดเก็บมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนมาก อยากให้ทำรายละเอียดที่มาของรายได้ให้ชัดเจน รวมถึงในกรณีที่เงินในกองทุนถูกนำออกไปใช้ด้วย ตัวกองทุนต้องสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ทั้งหมด แม้จะไม่มีวิกฤตครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้น แต่หากมีผลกระทบจากกรณีใดก็ตาม เมื่อผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลือ กองทุนนี้ต้องสามารถตอบรับได้ทันที

ส่วนรูปแบบของกองทุนอยากให้รัฐบาลเปิดช่องให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยในทุกรายละเอียด หากรัฐบาลจัดตั้งกองทุนขึ้นได้จริง และอนุญาตให้เข้าไปทำร่วมกันได้ โดยเฉพาะการดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ ทั้งในด้านการจัดเก็บรายได้ และการนำเงินออกมาใช้จ่ายในทุกกรณี เพื่อให้สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ชัดเจนที่สุด

Advertisement

ที่ผ่านมา เมื่อมีวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลยังไม่สามารถตอบโจทย์เท่าที่ควร และล่าช้า เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป รายได้ก็หายไปตาม แต่ส่วนใหญ่ก็พยายามช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนสามารถยืนธุรกิจต่อมาได้ แม้จะมีอีกจำนวนมากที่สู้ไม่ไหว จนต้องล้มหายตายจากไป ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ก้าวผ่านวิกฤตครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่สึนามิ โรคระบาดต่างๆ จนถึงโควิด-19 รอบนี้ ทำให้มีประสบการณ์และมีความเข้มแข็ง แต่หากผลกระทบรุนแรงหนักๆ เหมือนการระบาดโควิดระลอก 3 ที่ผู้ประกอบการถูกกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ระลอกแรก ทำให้การรับมือและพยุงธุรกิจไม่สามารถทำเองได้แล้ว จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาหรือการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย

การจัดตั้งกองทุนให้ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะมีความจำเป็นมาก เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศที่มีจุดขายในเรื่องการท่องเที่ยว

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจึงต้องมีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ทัวร์นำเที่ยว รถขนส่ง ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยืนอยู่ได้ท่ามกลางภาวะวิกฤต ในแบบที่ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงทางเดียว

รัชชพร พูลสวัสดิ์
นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญและควรจะมีมานานแล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 มีสัดส่วนถึง 18% ของจีดีพี เกาะสมุยก็เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ตอนนี้ปัญหาของผู้ประกอบการท่องเที่ยวคือ การแบกรับค่าใช้จ่าย ค่าจ้าง ค่าสาธารณูปโภค

การมีกองทุนจะสามารถตอบสนองนโยบายได้ทันท่วงทีไม่ต้องรอเวลา เพราะสถานการณ์ท่องเที่ยวรวดเร็วและอ่อนไหวง่าย ถ้ารอเวลาอาจจะไม่ทันการณ์ เชื่อว่าผู้ประกอบการก็ยินดีเสียสละหรือจะเก็บจากนักท่องเที่ยวในรูปแบบของภาษี อย่างไรก็ตาม ขอให้มีคณะกรรมการจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนจากการท่องเที่ยว สมาคมต่างๆ แต่ละพื้นที่ร่วมในคณะกรรมการด้วยเพื่อความโปร่งใส

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี
นายกสมาคมโรงแรมไทย

เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญมาก เพื่อนำงบไปช่วยเหลือเยียวยาการท่องเที่ยวในอนาคตหากมีวิกฤตใหม่เกิดขึ้นอีก หรือนำไปใช้เยียวยาหากการท่องเที่ยวฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อบูรณาการแหล่งท่องเที่ยว การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำกองทุนไปพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีการบริหารจัดการที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

นอกจากนั้นควรจะใช้เป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว หากมีอุบัติเหตุหรือปัญหาจากโรคระบาดที่อาจเป็นเหตุสุดวิสัย แต่อีกมุมมองต้องประเมินว่ากรณีที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรายละ 300 บาท เข้ากองทุนจะเหมาะสมหรือไม่กับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม หรือการเก็บเงินกองทุนในช่วงเริ่มต้นของการเปิดประเทศ อาจมีคู่แข่งที่ประเทศอื่นไม่ได้เก็บรายได้ส่วนนี้ ทำให้มีความแตกต่างหรือไม่ โดยเห็นว่าการตั้งตัวเลขที่รายละ 300 บาท น่าจะสูงเกินไป หากมีหลายประเทศต้องแย่งลูกค้าในตลาดเดียวกัน

ส่วนการบริหารจัดการกองทุนก็ควรมีส่วนร่วมนำเสนอความเห็นจากตัวแทนภาคเอกชน และขอให้รัฐบาลจัดเก็บกองทุนนี้ที่ต้นทาง อย่าผลักภาระมาให้โรงแรมต้องจัดเก็บจากนักท่องเที่ยว เพราะค่าห้องที่นำเสนอขายให้ลูกค้าก็มีค่าบริการและภาษีบวกไว้แล้ว

สำหรับการฟื้นฟูในระยะสั้นหลังจากมีปัญหาวิกฤตโควิด-19 ถือว่ามีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรม เนื่องจากโรงแรมจำนวนมากในภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ ปิดบริการร้อยละ 80-90 สำหรับพนักงานก็ไม่ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา หากมีเงินกองทุนเข้ามาช่วยในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างคุณภาพงานบริการให้กลับมามีมาตรฐานเหมือนช่วงก่อนเจอโควิด-19 ขณะนี้สมาคมต้องการพัฒนาบุคลากรโรงแรมให้กลับมาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศอีกครั้งในระดับโลก

ขณะเดียวกันโรงแรมจะต้องมีการบำรุงรักษาตลอดเวลาเพื่อรักษาคุณภาพงานบริการ หากโรงแรมต้องปิดชั่วคราวก็จำเป็นต้องใช้งบฟื้นฟูระบบให้โรงแรมกลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ เพราะฉะนั้นกองทุนก็ควรเปิดโอกาสให้กู้ยืมสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-13 ระลอกใหม่ต่อการท่องเที่ยวในไตรมาส 2 หรือ 3 ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากแผนการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวยังไม่ชัดเจน และไม่มั่นใจว่าในประเทศจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงใด เพื่อเปิดรับรับนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามา โดยเฉพาะจากประเทศจีน ดังนั้นการวางแผนในอนาคตหรือวางแผนที่ชัดเจน เป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อเตรียมพร้อมในการทำตลาด แต่ขณะนี้ยอมรับว่าวางแผนยากมาก ทั้งที่ไทยมีศักยภาพมีจุดแข็งมากกว่าประเทศอื่น

สมาคมต้องการให้รัฐบาลยืนยันการเปิดเมืองภูเก็ตในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากมีการทำตลาดไว้แล้ว มีนักท่องเที่ยวจองโรงแรมแล้ว พร้อมจะบินตรงเข้ามา ดังนั้นเมื่อฉีดวัควัคซีนได้ครบ 70% บนเกาะภูเก็ตแล้ว สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้ปลอดภัยจริง ภูเก็ตก็จะเป็นตัวอย่างให้ทุกภาคส่วนนำไปดำเนินการในพื้นที่อื่น และหวังไว้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 และ 4 เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในระดับเอสเอ็มอี

โควิด-19 รอบ 3 ระบาดใหญ่มาก ร้ายแรงกว่าที่ผ่านมา น่าเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ทุเลา มีการกระตุ้นให้ไทยเที่ยวไทย คนไทยจะมีการเดินทางท่องเที่ยวเหมือนเดิมอีกหรือไม่

ละเอียด บุ้งศรีทอง
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน)

กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่พูดกันมาก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยซ้ำ แต่ความเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะจะมีคำถามก่อนเลยว่า ใครจะเป็นคนเข้ามาบริหารจัดการ ใครจะเป็นคนเบิกจ่าย และจ่ายให้ใคร ตัวอย่างง่ายๆ การตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร คนที่เข้ามาจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะโปร่งใส การจัดการจะไม่เอนเอียงไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ถ้าถามว่าตั้งมาแล้วจะเป็นอย่างไร ก็คงตอบว่าคงดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่จะสามารถนำมาเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้จริง โปร่งใส และยุติธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเงินเข้าอย่างเดียว แต่เงินไม่ออกหรือเปล่า เพราะทุกอย่างอยู่ที่คนตีความของกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ยกข้อจำกัดออกมามากมายไปหมด

อย่างกรณีล่าสุด รัฐมีคำสั่งปิดร้านอาหาร คือสั่งปิดล่วงหน้า 2-3 วัน คนที่ต้องสั่งสินค้าไว้ทำอย่างไร ร้านใหญ่ก็เจ็บเยอะหน่อย เช่น จ.เชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน แต่ ศบค.ชุดใหญ่ เพิ่งมีคำสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 1-14 พฤษภาคม

บ้านเราซับซ้อน ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน พูดไปการระบาดระลอกแรกยังดีกว่า เพราะเกิดโรคเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันกระจายไปในวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ทั้งกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ การเยียวยาไม่มี เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่มาก ในขณะที่ส่วนกลางหรือรัฐก็ไม่เข้าใจความลำบากของประชาชนระดับรากหญ้า

ที่ผ่านมาได้ร้องขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือการเยียวยาที่จะช่วยพยุงการจ้างงาน จะใช้ระบบเงินประกันสังคมจ่ายกี่เดือนก็ได้ แต่จนบัดนี้ 6 เดือนแรกของปีนี้จะเอาไม่อยู่แล้ว ค่าน้ำค่าไฟไม่ลดให้ผู้ประกอบการเลย และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีก ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ การพักชำระหนี้ไม่เกิดเลย โรงแรมปิดเพราะไม่มีเงินเข้า จ่ายลูกจ้างได้เพียง 20-30% ซึ่งก็คือเงินไม่กี่พันบาท จะอยู่กันอย่างไร ทำไมไม่คิดว่าการจ่ายลูกจ้าง คือการพยุงนายจ้างไว้ ดังนั้นต้องลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image