มท.1 สั่งทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน

มท.1 สั่งทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทยปี 2564 ว่าฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้จะเริ่มต้นประมาณกลางสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2564 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2564 คาดการณ์ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว โดยช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน จะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่และเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ เพื่อให้การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2564 โดยในด้านการเตรียมความพร้อม ให้ดำเนินการ

1.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ ทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับ 2.จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้ความสำคัญกับการจัดทำรายละเอียดครอบคลุมข้อมูลพื้นที่เสี่ยงในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย การกำหนดจุดพื้นที่ปลอดภัยประจำหมู่บ้าน/ชุมชน เส้นทางการอพยพ การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก การจัดเตรียมแผนจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งกำหนดโครงสร้างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เช่น ศูนย์ประสานการปฏิบัติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ร่วม คณะที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนอำนวยการ และส่วนสนับสนุน เป็นต้น และให้ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจกลไกการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า 3.การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับดำเนินการอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน และให้ความสำคัญกับพื้นที่เสี่ยงในเขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดอุทกภัยเป็นประจำ ด้วยการเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน ทำความสะอาดร่องน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางออกจากทางระบายน้ำ รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคู คลอง แหล่งน้ำต่างๆ เพื่อสามารถรองรับน้ำฝนและน้ำจากท่อระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และกำหนดแนวทาง วิธีการในการลำเลียงน้ำที่มีการระบายไปยังพื้นที่รองรับน้ำต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในกรณีเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง

Advertisement

4.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ/กั้นน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ เพื่อสามารถรองรับกรณีฝนตกหนัก หรือน้ำไหลเข้าป่าในปริมาณมาก และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ และ 5.เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ให้แจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมเผชิญเหตุ และเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทราบในทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวหมู่บ้านชุมชน เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร แนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูลและขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในกรณีจังหวัดที่มีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกัน ให้มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และแจ้งเตือนระหว่างจังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำอย่างใกล้ชิด

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับในด้านการเผชิญเหตุ เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉินตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ 1.จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหน้าที่ศูนย์ควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมสรรพกำลัง ตลอดจนการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ

2.มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงในชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่างๆ และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ โดยหากมีกรณีน้ำท่วมขังสร้างความเดือดร้อนความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ให้เร่งกำหนดแนวทางการระบายน้ำ พร้อมทั้งสั่งใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่ของหน่วยงาน เพื่อเร่งระบายน้ำและเปิดทางน้ำในพื้นที่ 3.จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยไม่เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ และเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

Advertisement

4.กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการหน่วยงาน ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนจิตอาสา เป็นทีมช่าง เร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว 5.กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายหรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้สัญจรได้ ให้จัดทำป้ายแจ้งเตือนพร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรแนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือประชาชนพร้อมทั้งเร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด ถูกตัดขาด เพื่อประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว และ 6.สื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัยทุกช่องทาง เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image