คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : อย่างน้อยยังดี ที่มี‘ผู้แทนราษฎร’

สําหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองภาพเล็กเจาะลึกมากนัก อาจจะพลาดข่าววิวาทะระหว่างคุณสิระ ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะ ส.ส.เขตหลักสี่ กับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เจ้าของและผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านหลักสี่

จากข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายรับกันสรุปได้ว่า พล.ต.นพ.เหรียญทอง มีดำริจะช่วยรัฐบาลแบ่งเบาปัญหาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 จึงจะเปิดโรงพยาบาลสนามชื่อ “พลังแผ่นดิน” ขึ้นบนที่ดินของตนเอง โดยไม่ได้ขออนุญาตจากทางราชการคือเขตหลักสี่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.นพ.เหรียญทองยอมรับว่าจงใจที่จะไม่ขออนุญาต ด้วยเห็นว่าความฉุกเฉินนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไข้สำคัญกว่า) ซึ่งตามแผนจะเปิดให้รับผู้ป่วยได้ในสัปดาห์นี้ โดยเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายหัวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อัตรา 1,500 บาทต่อคนต่อวัน และเปิดบัญชีรับบริจาคในนนามของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ไม่ครอบคลุมถึง

ปัญหาคือ สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลสนามที่ว่านี้อยู่ในเขตชุมชนที่ค่อนข้างหนาแน่น คือซอยแจ้งวัฒนะ 14 ซึ่งมีทั้งหมู่บ้าน หอพัก อพาร์ตเมนต์ ใกล้ๆ ก็มีห้างสรรพสินค้าสองสามแห่ง คอนโดมิเนียม และโรงแรม แต่ที่ได้รับผลกระทบที่สุดน่าจะเป็นชาวบ้านในซอยดังกล่าวที่ใกล้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะและโรงพยาบาลสนามที่ว่านี้ที่สุด ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้คุณสิระ ในฐานะของประธานกรรมาธิการยุติธรรมและ ส.ส.เขตเข้ามาตรวจสอบ และในการตรวจสอบนี้เองก็ก่อให้เกิดวิวาทะทั้งทางวาจาแบบปากต่อปากด่ากันผ่านโทรศัพท์ ลามไปถึงโพสต์เฟซบุ๊กและให้สัมภาษณ์สื่อลำเลิกเบิกประจานกันไปมา

เรื่องที่ยังไม่รับกันหรือข้อเท็จจริงยังไม่ยุติก็ได้แก่ปัญหาว่าในการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามที่ว่ามีการปล่อยน้ำเสียหรือสารเคมีลงในทางหรือที่ระบายน้ำสาธารณะหรือไม่ และเรื่องที่ว่ามีการเรียกเงินค่าเคลื่อนย้ายศพในอัตราที่ดูไม่สมเหตุสมผลนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องสืบหาความจริงกันไป

Advertisement

สำหรับคอการเมืองก็คงพอจะทราบกันดีว่า พล.ต.นพ.เหรียญทอง กับคุณสิระนั้นเอาเข้าจริงๆ คือ “พวกเดียวกัน” ในทางเฉดสีขั้วข้างทางการเมือง ดังนั้น สำหรับคนที่ชังที่แช่งฝ่ายที่ได้ครองอำนาจรัฐก็ยิ้มบนภูรอดูเขาลากไส้กันสนุกๆ ไป

หากเรื่องนี้มีประเด็นที่เราสมควรมองกันให้ลึกลงไปมากกว่าเรื่องการเมืองแบบแบ่งขั้วแบ่งค่าย แต่มันคือการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่ชี้ให้เราเห็นว่าบทบาทของคุณสิระ และกรณีวิวาทะกับ พล.ต.นพ.เหรียญทองนี้คือบทพิสูจน์อย่างดีว่า “ประชาธิปไตย” เป็นระบอบที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนธรรมดาอย่างไร

ถ้าเราย้อนไปในอดีตกาลนานโพ้นในยุโรปเมื่อราวศตวรรษที่ 16-17 “ผู้แทนราษฎร” คือตัวแทนของราษฎรสามัญชนในแขวงหนตำบลต่างๆ ขี่ม้าถ่อเรือจากแดนไกลเอาเงินภาษีเข้ามาจ่ายให้รัฐบาลของพระมหากษัตริย์ที่นครหลวง แต่ก่อนที่จะหยิบยื่นถุงเงินที่ได้มาจากการรวบรวมทรัพย์สินเงินทองของผู้คนในท้องถิ่นซึ่งเขาเป็นผู้แทนนั้นให้แก่รัฐบาลกลาง เขาก็ถือโอกาสนี้ในการ “พูดแทน” บอกเล่าปัญหาสารทุกข์สุกดิบของประชาชนในท้องที่นั้นเสียก่อนจนสิ้นเรื่องราวที่ชาวบ้านฝากมา หรือเขาเห็นสมควรแถลงให้ส่วนกลางทราบ แล้วจึงมอบถุงเงินภาษีให้ไป

Advertisement

ประเพณีนี้เป็นที่มาของประโยคสำคัญในทางการเมืองการปกครองว่า “ไม่มีภาษี ถ้าไม่มีผู้แทน” (No taxation without representation) และผู้แทนราษฎรดังกล่าวก็พัฒนาไปสู่การเป็นสภาสามัญชนหรือสภาฐานันดรที่สามกันไปตามแต่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองต่อจากนี้

เราจะเห็นว่า สิ่งที่คุณสิระได้กระทำเป็นปากเสียงแทนราษฎรชาวหลักสี่ (หรือถ้าเอาแคบลงตามความเป็นจริงคือชาวแจ้งวัฒนะ 14) คือสิ่งเดียวกับที่ผู้แทนราษฎรเมื่อ 400-500 ปีก่อนทำนั่นแหละ คือการเป็น “ผู้แทนราษฎร” ต่อรองกับ “อำนาจรัฐ”

อย่าลืมว่าโดยทางทฤษฎีแล้ว ส.ส.ไม่ได้มีอำนาจรัฐในทางปกครองใดๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการใดต่อข้าราชการโดยตรง แม้ว่าจะเป็น ส.ส.ของพรรครัฐบาลก็ตาม (ส่วนในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ส.ส.มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติในการเสนอและเห็นชอบกฎหมาย มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะกรรมาธิการที่อย่างมากก็เรียกบุคคลมาไต่สวนและออกรายงานเสนอผู้รับผิดชอบให้ได้ทราบปัญหา ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่น แต่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษหรือสั่งย้ายใคร ดังนั้น สิ่งที่ ส.ส.ทำได้ก็คือไป “เจรจา” ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้มีอำนาจแทนประชาชนเท่านั้น

เชื่อว่าราษฎรชาวหลักสี่ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ที่ไปขอให้คุณสิระช่วยเหลือในครั้งนี้คงจะไม่ใช่ทุกคนที่เลือกคุณสิระ และเขาเองก็รู้ทั้งรู้ว่าการ “ทะเลาะ” กับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง อาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีหากมองในเชิงกลยุทธ์ เพราะเป็นการทำลายแนวร่วมซึ่งอาจจะมีอิทธิพลให้คุณให้โทษในทางการเมืองได้ในทางใดก็ไม่รู้ อย่างน้อยก็เสียเหลี่ยมว่าทะเลาะกันเองกับคนร่วมอุดมการณ์

ดังนั้น สิ่งที่คุณสิระได้ทำและอยากจะขอชื่นชมแม้ความคิดในทางการเมืองจะแตกต่างกัน คือการแสดง “ความรับผิดชอบ” ในฐานะของผู้แทนราษฎร ที่ต้อง “รับผิดชอบ” ต่อประชาชนที่เลือกเขาเข้ามา และ “รับผิดชอบ” ต่อหน้าที่ซึ่งจะต้องสอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายตามที่เขามีตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

และสำคัญที่สุดของบทบาทนี้ คือการที่จะ “เลือก” ยืนอยู่ข้างประชาชนในฐานะของ “ผู้แทนราษฎร” เหนือกว่าการรักษาพันธมิตรทางการเมือง

เราอาจจะมองว่าที่คุณสิระต้อง “เอาใจ” ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองก็เพื่อหวังประโยชน์ที่จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ในสมัยหน้าก็ได้ แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดามิใช่หรือ และ
นี่แหละคือประเด็นที่จะชี้ว่ามันดีเพียงใดที่อย่างน้อยต่อให้เราจะมีประชาธิปไตยไม่เต็มใบ มีเผด็จการสืบทอดอำนาจซ่อนรูป มีนิติรัฐอันล้มเหลว นิติธรรมที่เปิดปิดได้ แต่อย่างน้อยระบบดังกล่าวที่อนุญาตให้เราได้เลือก “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ของเราได้ ก็ทำให้เราได้มี “ผู้แทน” เข้าไปมีส่วนในการกำกับดูแลการใช้อำนาจรัฐ หรืออย่างน้อยก็เข้าไป “พูดแทน” เราในสภาในสถานที่ราชการ สำนักงานฝ่ายปกครอง หรือการพูดกับคนที่อาจจะมีอำนาจเหนือกว่าเรา เช่น เป็นอดีตนายทหารและนายแพทย์เจ้าของโรงพยาบาลผู้มีทั้งฐานะและอิทธิพล

อย่างน้อยเราก็ยังเหลือสิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังมีสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เราจึงอาจจะแยก “คุณสิระ เจนจาคะ” ที่เป็น “ผู้แทนราษฎรเขตหลักสี่” ที่เราควรยกย่อง ออกจาก “นายสิระ เจนจาคะ” ที่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ยกมือเลือกให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปออกจากกันได้ นอกจากนี้เท่าที่เคยได้พูดคุยกับมิตรสหายในแวดวงการเมืองหรือทำงานที่รัฐสภาก็ได้ทราบว่าคุณสิระในฐานะของประธานกรรมาธิการยุติธรรม ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างแข็งขันตั้งอกตั้งใจ แม้แต่สมาชิกกรรมาธิการที่มาจากพรรคฝ่ายค้านก็ยอมรับ รวมถึงงานด้านการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนผู้เดือดร้อนด้วย นัยว่าประชาชนบางคนจำเพาะเจาะจงขอมาหา ส.ส.ท่านนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว

ระบบที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองในฐานะตัวแทนจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนนั้นดีเช่นนี้เอง เราจึงเรียกร้องให้ระบบนี้เดินเครื่องอย่างสมบูรณ์อย่างที่ควรจะเป็น อย่างที่เราเคยเป็น คือนอกจากมี ส.ส.ที่รับผิดชอบต่อราษฎรที่เลือกเข้าไปแล้ว ยังต้องมีคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรและ “เห็นหัว” ประชาชนที่อยู่เบื้องหลัง ส.ส.เหล่านั้น ไม่ใช่อย่างที่เห็นในทุกวันนี้

สำหรับ พล.ต.นพ.เหรียญทองแล้ว ก่อนหน้านี้ท่านอาจจะทำอะไรตามอำเภอใจที่หลายครั้งก็หมิ่นเหม่จะเป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยอ้างคุณงามความดีที่ท่านเชื่อ และทางการบ้านเมืองก็อาจจะไม่ได้ว่าอะไร แต่หากเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนให้ท่านบ้างก็ควรที่ท่านจะทบทวนปรับทัศนคติและความเข้าใจว่า การอ้างเจตนาอันดีเพื่อละเว้นหรือกระทำผิดกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ แม้จะอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ต้องเป็นอำนาจของภาครัฐที่จะบริหารจัดการ หากท่านจะร่วมด้วยช่วยแบ่งเบาก็สมควรที่จะกระทำตามกฎหมายให้ถูกต้อง การฝ่าฝืนกฎหมายโดยอำเภอใจและไม่เห็นแก่ความเดือดร้อนหรือไม่ฟังเสียงผู้เกี่ยวข้องเลยในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความขัดแย้งและปัญหาเช่นนี้ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในที่สุดแล้วการดังกล่าวมีการมีส่วนเข้าไปใช้งบประมาณของทางภาครัฐหรือเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นเหมือนทรัพยากรของคนทั้งประเทศ หรือมีการรับบริจาคเงินจากสาธารณชน ก็ย่อมยากที่จะอ้างเจตนาส่วนตัวเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้องได้ และเมื่อเงินดังกล่าวมาจากเงินภาษี ก็ชอบอยู่นั่นเองที่ “ผู้แทนราษฎร” ของผู้เสียภาษีนั้นจะตรวจสอบ ทัดทาน หรือกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

สุดท้ายนี้ แม้มีการเลือกตั้งใหม่สมัยหน้า หากคุณสิระยังคงอยู่พรรคเดิมหรือฝั่งฝ่ายเดิม ในฐานะของชาวหลักสี่แล้ว ก็คงยังไม่ทราบได้ว่าผมจะลงคะแนนให้ท่านหรือไม่

แต่หากท่านจะได้เป็นผู้แทนราษฎรเขตหลักสี่อีกครั้ง ไม่ว่าจะยินดีพอใจด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงจะยืนยันกับชาวหลักสี่ได้ว่ามีผู้แทนราษฎรที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างเราแล้ว

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image