ปธ.ศาลฎีกา เผยศาลทิ้งขนบเก่า ไม่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว มุ่งกระจายยุติธรรม-ไม่เลือกปฎิบัติ

‘ปธ.ศาลฎีกา’ เผยศาลทิ้ง ‘ขนบเก่า’ ไม่ใช้อำนาจ ‘สั่ง’ อย่างเดียว ปรับแนวคิดทำงานบริการ ยึดมั่นหลักการ ‘บริสุทธิ์ ยุติธรรม’ ไม่เลือกปฏิบัติ เชื่อก.ยุติธรรมที่ดี สร้างความมั่นคงให้ประเทศ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม สำนักงานกิจการยุติธรรมจัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” โดยได้รับเกียรติจาก นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาในหัวข้อการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ของศาลยุติธรรมในยุคนิวนอร์มอลล์ ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์  ตอนหนึ่งว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเป็น 10 ปี ตนเห็นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมมีความพยายามจะขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นกระบวนการ แม้จะยังไม่สมบูรณ์หรือถึงเป้าหมายที่อยากเห็น แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่า กระทรวงยุติธรรมทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมได้มีโอกาสเข้ามาทำงานและแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยเฉพาะในสภาพสังคมช่วงหลังที่เราเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า กระบวนการยุติธรรมที่ดี และพึงประสงค์ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเป็นธรรม หรือสร้างความสงบสุขให้สังคมเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมที่ดีและเชื่อมั่นได้ยังจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และจะสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ

นางเมทินีกล่าวว่า ตนรับราชการมา 40 กว่าปีได้เห็นกระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังนี้และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหยุดได้ เนื่องจากเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน และความเดือดร้อนจากข้อพิพาทของคนทั้งสิ้น ภาพของศาลในความคิดคำนึงของประชาชนที่มองจากข้างนอกก็จะมองว่าศาลเป็นองค์กรที่มีความอนุรักษนิยม มีพิธีรีตองหรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ปัจจุบันวิธีการคิดของศาลเปลี่ยนแปลงไปมาก เพียงแต่เราไม่ได้เปิดสิ่งที่เราคิดอยู่ในใจออกไปสู่สาธารณะ เรามองว่าในการพิพากษาคดีไม่ใช่การใช้อำนาจหน้าที่ แม้จะเป็นถ้อยคำมาจากรัฐธรรมนูญ หรือตัวบทกฎหมาย แต่คำว่าอำนาจอาจจะทำให้คนมองเราผิดไปจากสิ่งที่เราปฏิบัติต่อประชาชนหรือคู่ความที่เข้ามาในศาล ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนมุมมองของศาลให้มีการทำงานเป็นแบบการให้บริการ เมื่อเรามีวิธีคิดเปลี่ยนไป แนวคิดก็จะเปลี่ยนแปลงไปให้เปิดกว้างขึ้น เพราะต้องคำนึงถึงความพึงพอใจ และความคาดหวังที่จะได้รับ

นางเมทินีกล่าวว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้พิพากษาในระดับสูงทำงานเชิงรุกมากขึ้นในหลายรูปแบบผ่านสื่อในหลายอย่าง การที่ศาลออกไปหาประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ความรู้เรื่องกฎหมายและบอกเล่าเรื่องราวในสิ่งที่ศาลทำ ทำให้เราพบว่ามีคนจำนวนมากยังไม่รู้สิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงกฎหมาย ในนโยบายประธานศาลฎีกา ปี 2563 ถึง 2564 อยู่ภายใต้หลักการ ‘บริสุทธิ์ ยุติธรรม’ มีนโยบายอยู่ 5 ด้าน เช่น ‘ความเสมอภาค’ ที่ศาลพยายามทำอยู่ก่อนที่จะมี โควิด-19 คือการทำให้คนที่เข้ามาติดต่อในศาลมีความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติต่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ เราจะกระจายความยุติธรรมออกไปไม่จำกัดอยู่เพียงที่เมืองที่เจริญ เช่นกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ แต่ให้ไปถึงกลุ่มคนที่อยู่ชนบทห่างไกล จึงมีการเปิดศาลในพื้นที่ห่างไกล ทั้งศาลแขวง และศาลจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้ามาใช้บริการศาลเราจะไม่ยอมปล่อยให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการศาลทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือส่วนต่างๆ

นางเมทินีกล่าวว่า ในปัจจุบันการทำงานที่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนจะยอมรับได้ เพราะยุคสมัยใหม่ทุกคนอยากจะใช้เวลาสั้นๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและการเดินทาง ทำให้วิธีคิดของศาลเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเริ่มต้นจากการคิดว่าต้องเป็นการให้บริการแก่ประชาชน และคู่ความ เราต้องคิดว่าเขาอยากได้อะไรเวลาที่เขามาศาล และควรจะได้รับกลับไปในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งสิ่งที่ประชาชนอยากได้ก็คงเป็น ความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความรวดเร็ว

Advertisement

ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าล่าช้า ชี้แจงว่าขณะนี้เราก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว เห็นได้จากในศาลชั้นต้นมีคดีกว่าล้านคดี มีผู้พิพากษา 3,000 คน ซึ่งแต่ละคดีมีมาตรฐานระยะเวลากำหนดไว้ ที่ต้องปฏิบัติ เพราะถือว่าความล่าช้าคือ ความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง รวมถึงการขอประกันในศาลชั้นต้นภายใน 1 ชั่วโมง ต้องได้รับคำสั่ง ขณะที่การปรับเปลี่ยนในศาลสูง จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ สามารถตรวจสอบว่าการทำงานจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ และจะมีการอ่านคำพิพากษาผ่านจอภาพไปยังเรือนจำ เพื่อให้จำเลยทราบสิทธิของตัวเองหลังมีคำตัดสินได้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image