‘บิ๊กตู่’ ตรวจเยี่ยม ‘ศูนย์บริการวัคซีนจามจุรีสแควร์’ ยึดหลัก 3 ป. ปลอดภัย ปูพรม ประสิทธิภาพ

“บิ๊กตู่” ตรวจเยี่ยม “ศูนย์บริการวัคซีนจามจุรีสแควร์” ยึดหลัก 3 ป. ปลอดภัย ปูพรม ประสิทธิภาพ เน้นฉีดครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะ ให้ทันเปิดเทอม มิ.ย.นี้

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 13 พ.ค. ที่ชั้น 4 อาคารจัตุรัสสแควร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แบะพล.ต.อ.ศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ และ นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงพยาบาลสนาม จุฬาฯ ให้การต้อนรับ

 

พล.อ.ประยุทธ์รับฟังการบรรยายสรุป จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 การให้บริการฉีดวัคซีน ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้หลักการสำคัญ คือ ปูพรม-ฉีดวัคซีนให้มากที่สุด โดยยึดหลัก 3 ป. คือ ปลอดภัย ปูพรม ประสิทธิภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้รับบริการเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ได้แก่ ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และกลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะ เช่น พนักงาน ขสมก. ฯลฯ โดยทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีการเตรียมระบบให้วัคซีนที่ปลอดภัยและครบถ้วนในทุกขั้นตอนจนถึงการดูแลและสังเกตอาการ

Advertisement

ด้าน นพ.นรินทร์กล่าวว่า จุดบริการฉีดวัคซีนที่อาคารจัตุรัสจามจุรี จะสามารถให้บริการบุคลากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้วันละ 1,000-1,500 คน จึงขอความร่วมมือประชาชนอย่าเพิ่งวอล์กอินเข้ามาในเวลานี้ ให้รอติดตามการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเพื่อลดความแออัด โดยกรณีประชาชนทั่วไป จะพิจารณาแนวทางกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งว่า จะเปิดรับได้อย่างไร จึงขอให้ติดตามข้อมูลจากช่องทางต่างๆ อย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้เน้นที่กลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก โดยพยายามฉีดบุคลากรด้านการศึกษา ย่านสีลม สาทร และจุฬาให้ได้ร้อยละ 70 เพื่อให้ทันต่อการเปิดการเรียนการสอนในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ กระบวนการรับวัคซีน มีการนำเทคโนโลยีจากนวัตกรรมของคนไทย เช่น เป็ดไทยสู้ภัย QueQ เข้ามาใช้ในการจองคิวล่วงหน้า เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสาธารณสุขของประเทศผ่านกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีระบบการลงทะเบียนเป็นกลุ่ม (Group Registration) เพิ่มศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมาก และเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

นอกจากนี้ ศูนย์บริการวัคซีน จุฬาฯ ยังได้ออกแบบให้มีบรรยากาศสวยงาม มีศิลปะและดนตรีที่ดำเนินการโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในบริเวณพักรอเพื่อลดความเครียดแก่ผู้เข้ารับบริการด้วย ทั้งนี้ ศูนย์พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image