วิพากษ์”ยาแรง”สปท. ปราบโกง”เลือกตั้ง”

หมายเหตุ – เสียงสะท้อนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปด้านการเมืองของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วางมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวด อาทิ กำหนดโทษรุนแรงแก่ผู้ทุจริตเลือกตั้ง ยุบ กกต.จังหวัดให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง และบทเฉพาะกาลมอบหมายให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คุมเลือกตั้งในปี 2560

ชูศักดิ์ ศิรินิล
หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

ข้อเสนอที่ให้ยุบเลิก กกต.จังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ความจริงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการมี กกต.ตั้งแต่ตอนปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ต้องการให้มีการเพิ่มเติมหน่วยงานหรือบุคลากรขึ้นใหม่ จึงใช้ถ้อยคำในอำนาจหน้าที่ของ กกต.ว่า “จัดหรือดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง..” โดย กกต.เป็นฝ่ายควบคุมกำกับร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันก็เขียนไว้ทำนองนี้ แต่บ้านเราถนัดในการเพิ่มองค์กร สร้างอาณาจักร ไม่ถนัดในทางประสานงานเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญมีเพียงหน่วยธุรการจึงไม่เป็นจริง ความจริงอดีตที่ผ่านๆ มาเขาก็ใช้เจ้าหน้าที่จากมหาดไทย กระทรวงศึกษา กทม.หรืออื่นๆ ทำหน้าที่อยู่แล้วบางส่วน โดยใช้อำนาจที่กฎหมายให้ไว้ออกคำสั่งเป็นครั้งเป็นคราวโดยมี กกต.ระดับจังหวัด และส่วนกลางกำกับควบคุม กระแสนี้มีมานานแล้วเข้าใจว่าจะมีเหตุผลอย่างอื่นที่ไม่เปิดเผยรวมอยู่ด้วย ฟังดูข้อเสนอเหมือนจะให้ยกให้เขาทำให้หมด ผมเองคอยใช้อำนาจควบคุมกำกับอย่างเดียว คงจะมีทั้งข้อดีข้อเสียและต้องคิดต่อ ที่ต้องไม่ลืมคือเหตุผลที่เอาอำนาจจัดการเลือกตั้งจากมหาดไทยมาไว้ที่กกต.คือความเข้าใจที่ว่ามหาดไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง ไม่อาจทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมได้ เรื่องนี้จึงต้องคิดโดยรอบคอบจริงๆ

ส่วนข้อเสนอที่ให้มีบทเฉพาะกาลให้ คสช.คุมการเลือกตั้งปี 2560 โดยเหตุผลว่า ไม่อยากให้การรัฐประหารที่ผ่านมาล้มเหลว คิดว่าไม่มีตรรกะเลยแม้แต่น้อย เกรงว่าบรรยากาศการเลือกตั้งจะเหมือนการทำประชามติที่ผ่านมาคือเงียบสงบสงัด การเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศของความกลัวจะถูกวิพากวิจารณ์ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการสืบทอดอำนาจ ภายหลังที่เขียนรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้หลายๆ ทางแล้ว มีพรรคการเมืองแล้วสุดท้ายคือกระชับพื้นที่

รังสิมา รอดรัศมี
อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

การให้ทหารมาช่วยดูแลควบคุมความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ถ้าจะให้เข้ามาช่วยดูแลแค่ในช่วงการเลือกตั้งปี 2560 ถ้าจะทำเช่นนั้นเกรงว่าประชาชนจะมองว่าเป็นผลกระทบ หรือผลประโยชน์กับพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งพรรคการเมืองที่ดิฉันตั้งข้อสังเกตคือพรรคการเมืองใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ขอตั้งข้อสังเกตด้วยสมมุติฐานที่ว่า ถ้าในอนาคตทหารก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาในปี 2560 แล้วสอดรับกับข้อเสนอของกฎหมายลูกในบทเฉพาะกาลแบบนี้ ประชาชนอาจมองทหารไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะคนคุมเลือกตั้งก็คือทหาร และผู้เล่นการเมืองก็คือพรรคทหาร แบบนี้ทหารอาจจะถูกมองไม่ดี แต่ถ้าเกิดว่าท่านตั้งกฎกติกาเช่นนี้ เพียงเพราะอยากจะให้การเลือกตั้งในปี 2560 เป็นไปด้ยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่มีการโกงกิน แบบนี้ดิฉันเห็นด้วย ไม่มีปัญหา ถ้าจะทำเพื่อให้การรัฐประหารไม่เสียของ แต่ต้องไม่ใช่การทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ข้อเสนอคุณสมบัติ ส.ส.ห้ามนำเงินช่วยงานศพ งานบวช นั้น ดิฉันเคยถูก กมธ.ชุดนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.การเมือง สปท. เชิญไปเป็นที่ปรึกษาและให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยดิฉันเป็นผู้เสนอเรื่องนี้ด้วย และสนับสนุนมากๆ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะคิดเห็นต่างจากนักการเมืองและนักวิชาการท่านอื่นๆ เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำการปฏิรูปนักการเมือง เรื่องใส่ซองงานบวช งานแต่งนี้ ไม่ควรมีการแจกจ่ายในตรงนี้ เพราะนี่คือต้นตอของเหตุผลที่ทำให้นักการเมืองมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้นักการเมืองมีอำนาจและมองว่าถ้ายังอ้างว่าที่ใส่ซองให้กันนั้นเป็นประเพณีปฏิบัติกันมา ถามว่าเมื่อไหร่จะปฏิรูปนักการเมืองที่หวังจะมีอำนาจได้ ดังนั้นต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักการเมืองจะต้องปฏิรูป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของผลพวงที่มาของการทุจริตคอร์รัปชั่น

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ข้อเสนอที่ระบุว่าหากลูกพรรคทำผิดหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคต้องมีความผิดไปด้วย มีบทลงโทษถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต มีความผิดทางอาญาเเละต้องรับผิดชอบค่าเสียหายนั้น ส่วนตัวผมมองว่าคนเราไม่ควรต้องรับผิดจากการกระทำของคนอื่น เช่น หัวหน้าพรรคการเมืองไม่ควรต้องรับผิดกรณีลูกน้องทำผิดเเล้วไม่มีส่วนรู้เห็น ถ้าทำแบบนี้จริงๆ ก็อาจจะมีการแกล้งกันได้ เช่น มีการซื้อตัว ส.ส.พรรคฝ่ายตรงข้าม เเล้วให้ไปซื้อเสียงเพื่อให้หัวหน้าพรรคฝ่ายตรงข้ามติดคุก ก็สามารถทำได้

ส่วนประเด็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งออกมาแสดงตัวก่อนลงสมัครนั้นในต่างประเทศก็มี ซึ่งผมเห็นด้วยแต่ไม่จำเป็นที่ต้องแสดงตัวก่อนถึง 1 ปี มาแค่แนะนำตัวว่าจะลงสมัครก็น่าจะพอไม่ใช่มาแล้วเหมือนถูกสอดส่องตลอด 1 ปีมองว่าคงไม่ใช่

สำหรับการคุมเข้มนักการเมืองก่อนเเละระหว่างการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ต้องคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ใช้งบประมาณเกินกฎหมายที่กำหนด ไม่มีการซื้อเสียง จูงใจ ใช้ผลประโยชน์ ซึ่งผมเห็นว่าใช้กลไกกฎหมายก็เพียงพอแล้ว ไม่ควรจะคุมเข้มขนาดนักการเมืองควรหรือไม่ควรออกนโยบายอะไรมา ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่ใช่การเมืองแต่เป็นงานข้าราชการประจำไป

ถ้าถามว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะรับข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ไหม ผมคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ยุคสมัยนี้ แต่ถ้ามีการรับจริง จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีจุดขาย ทุกพรรคก็จะนำเรื่องสมาชิกพรรคเป็นคนดี ไม่เคยทำผิดกฎหมาย มีศีลธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของศีลธรรมไม่ใช่การต่อสู้บนเวทีนโยบาย จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการอะไรได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะการหาเสียง สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ต่างจากข้าราชการประจำที่ทำงานไปในแต่ละวัน ทำงบประมาณแผ่นดินแต่ไม่สามารถนำเสนอนโยบายที่มีความแหวกแนว อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้

พัฒนะ เรือนใจดี
นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ตรงนี้ต้องแสดงหลักการก่อนว่า สภาพโดยบังคับของกฎหมายพรรคการเมืองก็มีโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา ยุบพรรค และห้ามตั้งพรรคใหม่เป็นเวลา 5 ปี นี่คือสภาพบังคับของกฎหมายพรรคการเมืองแต่ว่าของใหม่ในปี 2550 ที่แตกต่างจากใน 2541 นั้นเพิ่มขึ้นมาสองข้อคือ โทษทางปกครอง กับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นรวมกันได้เป็น 4+2 ก็คือ 1.โทษทางแพ่ง 2.โทษทางอาญา 3.ยุบพรรค 4.ห้ามตั้งพรรคใหม่เป็นเวลา 5 ปี 5.โทษทางปกครอง และ 6.เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้น 6 ประการนี้เป็นสภาพบังคับที่กฎหมายพรรคการเมือง 2550 วางเอาไว้ ดังนั้นถ้ากฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ปี 2560 ก็ไม่ควรที่จะหนีไปจากกฎหมายพรรคการเมืองเดิม เพียงแต่ว่าควรจะต้องปรับปรุงในสภาพบังคับว่าสภาพบังคับที่วางเอาไว้ในส่วนใดที่มากเกินไปกว่าสากลประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการยุบพรรคมีรายละเอียดมากเกินไป ก็ต้องปรับรายละเอียดเรื่องการยุบพรรคให้เหลือน้อยลงให้ใกล้เคียงกับสากลประเทศ โดยไม่กำหนดเหตุของการยุบพรรคเอาไว้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นเหตุเรื่องการรับต่างด้าวเข้าพรรค, ช่วย ส.ว. หาเสียง, กลั่นแกล้งพรรคอื่น, รับเงินสกปรก, เอาเงินที่ กกต.ให้ไปใช้มั่ว เหตุเหล่านี้ควรที่จะมีน้อยลงและให้ใกล้เคียงกับสากลที่มีเหตุผลหลักอย่างเดียว คือล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตรงนี้จะทำให้สภาพบังคับในกฎหมายพรรคการเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้น ถ้าจะมีการปรับปรุงก็ควรมุ่งปรับปรุงในประเด็นที่ทำให้กฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 เป็นอุปสรรคต่อนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุบพรรค การควบรวมพรรค แต่ส่วนที่จะส่งเสริมก็ควรเป็นเรื่องกองทุนพรรคการเมือง การบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง การหาสมาชิกพรรค การจัดตั้งคนเป็นสาขาพรรค อย่างนี้ควรจะส่งเสริม เพราะฉะนั้นหากจะมีการแสดงความคิดเห็นไม่ควรที่จะขยายออกไปจากกรอบของปี 2550 ไปมากเท่าไรนัก ควรจะมุ่งไปในปี 2550

ข้อเสนอของ สปท. อย่างกรณี หากสมาชิกพรรคทำผิด หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ ความจริงกรณีนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องวินัยพรรค ซึ่งวินัยพรรคเองก็สามารถลงโทษ ส.ส. ด้วยการขับออกจากพรรคได้ ถ้าความผิดที่ทำเป็นโทษในทางอาญาก็ลงโทษในทางอาญา หรือในทางแพ่ง ทางปกครอง ก็ว่าไป แต่จะเกี่ยวข้องอะไรกับตัวหัวหน้าพรรค นอกเสียจากว่าหัวหน้าพรรคจะทำผิดด้วย หรือเป็นการทำผิดในนามมติพรรคอย่างนี้ถึงจะโยงไปยังหัวหน้าพรรคได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของ ส.ส. ยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ส.ส.เป็นอิสระ ยิ่งต้องเป็นความรับผิดชอบโดยส่วนตัวจะโยงไปถึงหัวหน้าพรรคไม่ได้

ประเด็นที่ผู้สมัครต้องแสดงตัวก่อนการเลือกตั้ง 1 ปี ตรงนี้ส่วนตัวนั้นเห็นด้วย เพราะเป็นการพัฒนาพรรคการเมืองเป็นอีกระดับหนึ่ง หมายความว่าเป็นการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง คือให้พรรคการเมืองรับผู้สมัครหรือแม้กระทั่งการบังคับให้สังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน อาจขยายให้มากกว่านั้นก็ได้ การขยายเวลาในการเป็นสมาชิกพรรค หรือการให้แสดงตัวล่วงหน้าหนึ่งปีจะเป็นการทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่เป็นกลุ่มการเมืองที่ลาออกจากพรรคนี้ไปเข้าพรรคนั้น ลาออกจากพรรคนั้นไม่เข้าพรรคนี้ แบบนี้เป็นการพัฒนา แต่ก็ต้องไปปรับปรุงระยะเวลาในการสังกัดพรรคควบคู่ไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image