วิเคราะห์หน้า 3 : สภาเปิด การเมืองระอุ ฝ่ายค้าน ลับมีด จ้องเชือด บิ๊กตู่

วิเคราะห์หน้า 3 : สภาเปิด การเมืองระอุ ฝ่ายค้าน ลับมีด จ้องเชือด บิ๊กตู่

วิเคราะห์หน้า 3 : สภาเปิด การเมืองระอุ ฝ่ายค้าน ลับมีด จ้องเชือด บิ๊กตู่

เดือนพฤษภาคมมีกำหนดการทางการเมืองที่ล่อแหลมต่อรัฐบาล

ประการแรกคือ เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองขึ้นในอดีต

มีคนเจ็บ มีคนตาย กลางเมืองโดยไม่สามารถดำเนินคดีความได้ถึงที่สุด

Advertisement

นอกจากนี้ยังเป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็น ผบ.ทบ. ได้นำคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557

และหลังจากวันนั้นมาถึงวันนี้ ผู้นำการบริหารราชการแผ่นดินคือ พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด

Advertisement

ประการที่สองคือ ในเดือนนี้ถึงเวลาเปิดประชุมรัฐสภา

มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่กำหนดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาวันที่ 31 พฤษภาคม

มีวาระการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ยังค้างคามาตั้งแต่สมัยการประชุมที่แล้ว

ยังมีวาระการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังคาราคาซัง

และยังมีแนวโน้มว่าจะมีวาระการประชุมใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่ละวาระล้วนเป็นโทษต่อรัฐบาลทั้งสิ้น

ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความบอบช้ำทางการเมืองเป็นอย่างมาก

คำมั่นสัญญาเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. ทั้งเรื่องปรองดอง ทั้งเรื่องปฏิรูปประเทศ

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา 7 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือรูปธรรมของผลงาน

ทั้งการปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดอง

หลังจากบริหารประเทศมา 7 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงให้ทุกสายตาได้ตระหนักว่า การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองด้วยวิถีทางยึดอำนาจนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อส่วนรวม

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาเรื่องจริยธรรมผู้นำทางการเมือง ปัญหาเรื่องวิชั่นการนำประเทศสู่ความรุ่งเรือง

ทุกประการล้วนปรากฏแก่สายตาประชาชน

รวมถึงการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด-19 ด้วย

การบริหารจัดการในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดทั่วประเทศ เริ่มต้นความเข้มข้นด้วยการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

ใช้กฎกติกาเข้มข้นเพื่อป้องกันการระบาด

ผลที่ออกมาตรงตามความตั้งใจ คือ การระบาดลดลงฮวบฮาบ ประเทศไทยได้รับการตอบรับจากนานาประเทศในมาตรการสาธารณสุข

แต่ผลกระทบที่เกิดตามมาคือเศรษฐกิจของประเทศหดตัว ประชาชนไม่มีรายรับ ขณะที่รายจ่ายยังคงต้องชำระ รัฐบาลต้องกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อให้การช่วยเหลือทุกภาคส่วน

สถานการณ์ดูดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เงินของรัฐบาลก็น้อยลงไปเรื่อยๆ การใช้จ่ายต่างๆ จึงต้องระมัดระวัง

วิกฤตโควิด-19 จะจบลงได้ในขณะนี้ ต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร

ในครั้งแรกเมื่อประเทศไทยยัง “เอาอยู่” ปริมาณการจองและซื้อวัคซีนของรัฐบาลน่าจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตไปได้

แต่ก็ปรากฏการระบาดระลอก 2 เมื่อต้นปี 2564 และระบาดอีกครั้งเป็นระลอก 3 เมื่อต้นเดือนเมษายน 2564

ผลของการระบาดครั้งนี้ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาเป็นเงาตามตัว

ผลจากการระบาดครั้งนี้ ทำให้ประเด็นเรื่องวัคซีนกลายเป็นประเด็นการเมือง

ทั้งวัคซีนตัวเลือกน้อย ทั้งวัคซีนปริมาณน้อย ทั้งวัคซีนมาช้า

ทุกประการที่เป็นข้อด้อย กำลังถูกบันทึกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เตรียมจัดหนักในช่วงเปิดประชุมรัฐสภา

การประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมนี้ จึงมีแต่เรื่องร้อนๆ เข้าสู่การพิจารณา

ทั้งเรื่องร้อนเดิม อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายประชามติ

ทั้งเรื่องร้อนใหม่ที่บรรจุอยู่ในวาระแล้ว คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

และเรื่องร้อนที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านจองกฐินเอาไว้แต่เนิ่นๆ

เริ่มต้นก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบสวนดำเนินการกับ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งข้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ข้อหาผิดจริยธรรม และที่หนักสุดคือส่อทุจริต

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังหยิบยกเรื่องการคัดเลือก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล

ล่าสุด แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า คดีความที่ประเทศออสเตรเลียไม่ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ขาดคุณสมบัติของ ส.ส.และรัฐมนตรี

แต่ดูเหมือนเรื่องจะไม่จบง่ายๆ

พรรคการเมืองฝ่ายค้านหยิบยกเอาข้อมูลในคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีของ ร.อ.ธรรมนัส มาขยายผล โดยใช้กลไกกรรมาธิการของสภาเป็นเวทีตรวจสอบ

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังเตรียมใช้เวลาสภา ชำแหละการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ในสถานการณ์โควิด-19

และมีแนวคิดที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกด้วย

สําหรับพรรคฝ่ายค้าน แม้การประชุมรัฐสภาสมัยที่แล้วจะสามารถกอบกู้ศักดิ์ศรีขึ้นมาได้ หลังจากการประชุมรัฐสภาสมัยแรกตกเป็นขี้ปากเรื่องฮั้วกับฝ่ายรัฐบาล

แต่การประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านยังต้องทำหน้าที่อย่างมีชั้นเชิง

หากพรรคฝ่ายค้านรุกหนัก จนรัฐบาลทำงานไม่ได้ อาจถูกกล่าวหาว่า “ถ่วงการทำงาน”

แต่หากพรรคฝ่ายค้านไม่ทำอะไรเลย ในสถานการณ์ที่ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว

พรรคฝ่ายค้านก็อาจถูกกล่าวหาว่า “ไม่ทำงาน”

ดังนั้น ในสมัยประชุมรัฐสภาครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านต้องรุกฝ่ายรัฐบาลอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ขณะเดียวกันก็ต้องรุกด้วยข้อมูล และสร้างความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูล

ส่วนรัฐบาลต้องยอมรับว่า ทั้ง “กรรมเก่า” ทั้ง “กรรมใหม่” กำลังโหมกระหน่ำเข้าใส่

โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ตกเป็นเป้าอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

ทางแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ คือ ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ ตั้งแต่วิธีคิดไปจนถึงการปฏิบัติ

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ทุกวิธีการในการปรับปรุงการทำงาน

ทั้งการปรับปรุงกฎเกณฑ์ การเปลี่ยนตัวผู้ปฏิบัติ รวมไปถึงการปรับ ครม. เพื่อเปลี่ยนทีมนโยบาย

แต่สถานการณ์ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า หนักหนาสาหัส

สมัยประชุมรัฐสภาครั้งนี้ การเมืองอาจลุกเป็นไฟ

เดือนพฤษภาคมนี้ก็เช่นกัน

ทุกอย่างดูเหมือนกำลังระอุร้อน สังคมรอเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image