ศบค.ปรับสีจว.-คลายล็อก นั่งกินที่ร้าน-ขยายเวลาขาย

หมายเหตุนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงถึงการปรับโซนสีจังหวัดควบคุมโควิด-19 รวมถึงการคลายล็อกกิจการ/กิจกรรม ในแต่ละโซน และความเห็นจากนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทยถึงมาตรการคลายล็อกดังกล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) (ศบค.)

สำหรับมาตรการการผ่อนคลายนั้น ทางที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอหลักการต่อคณะกรรมการ ศปก.ศบค. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหลักเกณฑ์ในการปรับพิจารณาหลายเหตุผลร่วมกัน แบ่งเป็น 5 หลักเกณฑ์ คือ 1.ลักษณะการระบาดในชุมชน พิจารณาจากจำนวนมาก และความต่อเนื่อง 2.จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่พบการระบาดต่อเนื่องและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ 3.จังหวัดที่มีการระบาดในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย 4.จังหวัดที่ติดกับชายแดนหรือเคยมีผู้เดินทางเข้าพื้นที่ติดเชื้อและ 5.สัดส่วนการได้รับวัคซีนของประชากรในพื้นที่ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ 5 ข้อ จะนำไปสู่การพิจารณามาตรการผ่อนคลายและกิจกรรมกิจการต่างๆ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม

โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจะอนุญาตให้มีการบริโภคในร้านได้ไม่เกินโดยนั่งไม่เกิน 25% ไม่เกินเวลา 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. เพราะฉะนั้นในพื้นที่เข้มงวดควบคุมสูงสุดเท่ากับว่า 1 โต๊ะ 4 คน สามารถนั่งได้ 1 คน โดยนั่งได้ถึง 21.00 น. ซื้อกลับบ้านได้ถึง 23.00 น. งดการจำหน่ายสุราและดื่มสุราในร้าน

Advertisement

ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด จะอนุญาตให้มีการบริโภคในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. แต่ยังห้ามจำหน่ายหรือดื่มสุราในร้าน ให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อการเรียนการสอน หรือกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

ขณะที่พื้นที่ควบคุม จะอนุญาตให้มีการบริโภคในร้านได้ตามปกติ แต่ยังงดการจำหน่ายหรือดื่มสุราในร้าน รวมทั้งให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน หรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากได้ ภายใต้มาตรการที่กำหนด ส่วนจังหวัดไหนจะอยู่ในระดับพื้นที่อะไร ยังมีข้อที่ต้องมีการพิจารณาและเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.พิจารณา โดยจะประกาศรายชื่อจังหวัดในระดับพื้นที่ต่างๆ วันที่ 15 พฤษภาคม

นางฐนิวรรณ กุลมงคล
นายกสมาคมภัตตาคารไทย

Advertisement

หลังจาก ศบค.ได้พิจารณาร่างผ่อนคลายมาตรการตามระดับพื้นที่ปรับมาตรการในพื้นที่สีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) ให้สามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารได้ไม่เกิน 25% และเปิดให้นั่งได้ถึง 21.00 น.เท่านั้น ซื้อกลับบ้านได้ถึง 23.00 น. โดยต้องสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน ร้านสะดวกซื้อ เปิดบริการได้ตั้งแต่เวลา 04.00-23.00 น. สถานบริการ สถานบันเทิง ปิดให้บริการ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติ ไม่เกิน 21.00 น. จำกัดจำนวนคน งดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดอนุญาตให้นั่งทานอาหารในร้านได้ถึง 23.00 น. แต่ยังต้องงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้านทั้งหมดอย่างเด็ดขาด ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดว่าจังหวัดใดจะอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่สีแดงบ้าง จึงต้องรอสรุปผลจากรัฐบาลอีกครั้ง คาดว่าใน 5 จังหวัดหลัก ได้แก่ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ น่าจะได้รับการผ่อนปรนให้อยู่ในจังหวัดสีแดงหรือจังหวัดที่ควบคุมสูงสุดแต่เข้มข้นน้อยลง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไม่ได้พบในจำนวนมากเท่าก่อนหน้านี้ แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังต้องรอประเมินอีกครั้ง จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง

หากรัฐบาลผ่อนปรนใน 5 จังหวัดเบื้องต้น แต่ไม่ได้ผ่อนปรน กทม.ด้วย เท่ากับผลกระทบยังคงมหาศาลเหมือนเดิม หากพิจารณาผู้ประกอบการขนาดย่อย โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่ แผงลอย ร้านอาหารริมถนน พบว่าสัดส่วนผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ กทม. ขณะนี้ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยที่รายได้หายไปเหลือเพียง 20% นั้น ต้องยอมรับตรงๆ ว่าแทบจะอดตายกันอยู่แล้ว สะท้อนได้จากที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประกาศมาตรการควบคุมของรัฐบาล ที่ห้ามไม่ให้นั่งทานอาหารที่ร้าน พบว่ามีพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาขอให้ช่วยเสนอกับภาครัฐ ในการอนุญาตให้กลับมานั่งทานที่ร้านได้ตามปกติ ส่วนข้อปฏิบัติที่ต้องทำก็ให้รัฐบาลกำหนดออกมาให้ชัดเจน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยินดีทำตามทั้งหมด ขอเพียงให้กลับมาเปิดขายอาหารแบบนั่งทานที่ร้านได้ก็พอ เป็นเพียงทางออกเดียวที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนร้านอาหารขนาดเล็กจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แม้จะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

คนที่อาศัยอยู่ใน กทม.ถือว่าเดือดร้อนมาก ร้านอาหารปิดตัวลงจำนวนมาก แม้รัฐจะอนุญาตให้เปิดขายแบบซื้อกลับบ้านได้ แต่หากมองในกลุ่มคนที่ยังต้องออกจากบ้านเพื่อทำงานหรือทำธุระส่วนตัวใดๆ หากหิวก็ยังต้องการทานอาหารที่ร้านอยู่ เพราะใน กทม.ไม่ได้มีพื้นที่สาธารณะที่สามารถใช้ประโยชน์ในการนั่งทานอาหารได้สะดวกมากนัก จึงมองว่ารัฐบาลควรอนุญาตให้คนทำมาหากินสามารถดำเนินธุรกิจได้แล้ว ไม่งั้นคงต้องอดตายกันหมด เพราะรายได้หายไปสูงมากจริงๆ

โดย 6 จังหวัดที่รัฐควบคุมสูงสุดถือเป็นเมืองเศรษฐกิจทั้งหมด ทำให้การจำกัดการนั่งทานอาหารนอกบ้านอาจยังไม่ได้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเมืองได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อทำงานหรือทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อไม่มีร้านอาหารให้นั่งทานได้ แล้วการทานอาหารนอกบ้านเพื่อดำรงชีพจะทำอย่างไร เข้าใจว่าร้านอาหารก็ถือว่ามีจุดเสี่ยง แต่ถามว่าความเสี่ยงนั้นเกิดจากอะไร หากบอกว่าเป็นเพราะนั่งใกล้ชิดกัน ร้านอาหารก็มีการเว้นระยะห่าง 2 เมตร บวกกับปัจจุบันคนออกจากบ้านไม่ได้มีมากเท่าเดิม แม้จะเปิดให้นั่งทานได้ เชื่อว่าผู้ที่มานั่งทานที่ร้านจะเป็นผู้ที่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้านจริงๆ ไม่ได้นั่งกินเพื่อพบปะสังสรรค์กัน จึงเป็นห่วงคนตัวเล็กตัวน้อย อาทิ ร้านข้าวแกง อาหารตามสั่งต่างๆ

ขณะนี้สมาคมได้ยื่นเรื่องไปยังรัฐบาลขอรับวัคซีนต้านโควิดฉีดให้กับคนในอุตสาหกรรมร้านอาหารก่อน เปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อแสดงความต้องการรับวัคซีน มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1 แสนคน รัฐบาลควรใช้โอกาสในช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารยังไม่สามารถเปิดนั่งทานที่ร้านได้ตามปกติ เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนเหล่านี้ก่อน ทยอยลดจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อให้ลดลง ต้องยอมรับว่าคนในร้านอาหารมีความเสี่ยงมาก ตั้งแต่เจ้าของร้าน พนักงาน คนส่งของ รวมถึงลูกค้า เนื่องจากพนักงานต้องสัมผัสกับลูกค้า สัมผัสกับผู้รับอาหาร รวมถึงสัมผัสอาหารโดยตรง

หากไม่ลดความเสี่ยงของคนในอุตสาหกรรมร้านอาหารก่อน การกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติจะล่าช้าออกไป ขณะนี้ประเมินแล้วว่า โควิดน่าจะอยู่กับคนไทยไปจนถึงสิ้นปี 2564 จนกว่าคนในประเทศจะได้รับวัคซีนครบทั้งหมด หรืออย่างน้อยก็ 70% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น รัฐบาลควรทยอยลดความเสี่ยงกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นรายกลุ่มไป เข้าใจว่าวัคซีนที่มีอยู่ในตอนนี้มีไม่มากพอ สมาคมไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลกันวัคซีนมาฉีดให้กับคนธุรกิจอาหารที่ลงทะเบียนทั้ง 1 แสนคน แต่อยากให้นำร่องก่อน แบ่งเป็นจำนวนเท่าใดก็ว่ากันไป เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมาทั้งจากผู้ประกอบการ พนักงาน ลูกค้า จะสามารถสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้

ยืนยันว่าหากรัฐบาลผ่อนคลายเพียง 5 จังหวัด แต่ กทม.ยังคุมเข้มและห้ามไม่ให้นั่งทานที่ร้านต่อนั้น ผลกระทบจะมหาศาลเหมือนที่ผ่านมาแน่นอน เพราะ กทม.เป็นเมืองที่มีร้านอาหารทุกขนาดมากที่สุดในประเทศไทย มองว่าควรผ่อนปรนออกมาได้แล้ว หากรัฐยังห้ามนั่งทานในส่วนของ กทม. มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากยอดขายธุรกิจอาหารที่หายไปเหลือเพียง 300 ล้านบาทต่อวัน จากปกติสะพัดกว่า 1,400 ล้านบาทต่อวัน

สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอถึงสาเหตุความจำเป็น และความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะการนั่งรับประทานในร้านสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สะท้อนให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการร้านอาหารไม่น้อยเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการ และหลายรายต้องปิดกิจการไปแล้ว เนื่องจากรายได้หลักของร้านอาหาร 80% มาจากรายได้เปิดนั่งรับประทานในร้าน ตลอดช่วงเวลาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ปรับตัว หาวิธีประคับประคองตัวเองมาตลอด ทั้งยังคงการจ้างงานไว้ รวมถึงธุรกิจร้านอาหารยังเป็นซัพพลายเชนเชื่อมโยงกับภาคการผลิต บริการต่างๆ อีกหลายประเภทด้วย

ธุรกิจร้านอาหาร คิดเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ในปีนี้มีหลายหน่วยงานคาดว่าจะเหลือเพียงแค่ 4 แสนล้านบาท สะท้อนถึงความสำคัญของธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี แม้ที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมการระบาดด้วยดีมาตลอด แต่ผู้ประกอบการทั้งระบบแทบไม่ได้ออกมาเรียกร้องการเยียวใดๆ ทั้งสิ้น แม้การเยียวยาต่างๆ ก่อนหน้านี้ กลุ่มธุรกิจร้านอาหารเข้าถึงได้น้อยมากในทางปฏิบัติ เพราะติดเงื่อนไขมากมาย ส่วนใหญ่ก็มองผ่านตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินต่อไป สิ่งที่คนทำร้านอาหารให้ความสำคัญมากที่สุด คือการได้เปิดขายตามปกติ เพื่อให้เกิดรายได้กระแสเงินสดหมุนเวียนกลับมา

สำหรับวิกฤตในรอบ 3 นี้ จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจร้านอาหารมีข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐมาเป็นระยะๆ เนื่องจากบอบช้ำสะสมจากวิกฤตรอบที่ผ่านมายังไม่ได้รับการฟื้นฟู จึงสะสมจนแบกไว้ไม่ไหว จึงขอเรียนไปยังนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า ข้อสั่งการมาตรการเยียวยาวต่างๆ ที่ท่านมีมายังผู้ประกอบการร้านอาหาร แม้บางข้อจะได้รับการดำเนินการจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ เรื่องการจ่ายเงินชดเชยลูกจ้างในระบบประกันสังคม 50% เป็นต้น แต่ยังมีหลายข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้ อาทิ เรื่องวัคซีนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารใน 8 จังหวัดพื้นที่ระบาดรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เพราะคาดหวังว่า วัคซีนจะเป็ทางออก ยิ่งในภาวะประชนชนไม่มั่นใจต่อการฉีดวัคซีน แต่คนภาคธุรกิจร้านอาหารกลับสมัครใจด้วยความยินดีในการฉีดวัคซีน ปรากฏว่าการจัดสรรวัคซีนของทาง กทม.ไม่มีส่วนสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารแต่อย่างใด

สำหรับข้อเสนอในส่วนของกรมอนามัยต่อร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด นำไปสู่การผ่อนปรนให้กลับมาเปิดนั่งรับประทานในร้านได้ มีจำนวน 9 ข้อ ดังนี้ 1.ต้องให้ร้านอาหารทุกร้านทำแบบประเมิน Thai Stop Covid 2.ปรับลดที่นั่งในร้านเหลือ 25-50% (สำหรับ open air ร้านเล็ก) 3.เว้นระยะห่าง 2 เมตร 4.นั่งในร้านได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 5.ห้ามกินอาหารร่วมกัน ห้ามกินอาหารในรูปแบบบุฟเฟต์ ต้องแยกอุปกรณ์ของใครของมัน 6.ระบบระบายอากาศในร้านต้องดี 7.คัดกรองพนักงาน ซักประวัติพนักงานทุกคน ทุกวันเพื่อเป็นฐานทะเบียนข้อมูลสำหรับเช็กไทม์ไลน์ความเสี่ยงของพนักงาน 8.พนักงานในร้านทุกคนต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และ 9.เข้มงวดพนักงานหลังร้านให้สวมหน้ากากตลอดเวลา

ขอเรียนให้ทราบว่า แม้บางข้อหากปฏิบัติตามก็เป็นอุปสรรคในการประกอบกรณีร้านขนาด อาทิ ร้านอาหารขนาดเล็กมีพื้นที่จำกัดจะเป็นอุปสรรคอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารก็พร้อมปฏิบัติ จึงขอเรียนให้ทราบว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่มีมาตรการป้องกันเข้มงวดด้านสาธารณสุขอย่างดีมากกว่า 9 ข้อนี้อยู่แล้ว มั่นใจได้ว่าหากอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดนั่งรับประทานในร้านได้จะไม่เป็นสถานที่แพร่ระบาดหรือคลัสเตอร์อย่างแน่นอน ยิ่งหากผู้ประกอบการและบุคลากรของร้านได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วได้ จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นได้มากขึ้น

จึงขอความเมตตามายังท่านให้พิจารณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถเปิดนั่งรับประทานในร้านได้ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 14 วัน ของมาตรการข้อบังคับที่ใช้ล่าสุด เพื่อต่อลมหายใจให้กับธุรกิจร้านอาหารได้ไปต่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image