ส.ส.ประชาธิปัตย์ กระทุ้งรัฐ วัคซีนไม่ตรงปก กระบี่ขอแสนห้า ได้ 5 หมื่น เดือนนี้แค่ 800 โดส

ส.ส.ประชาธิปัตย์ โวย กระบี่ได้วัคซีนไม่ตรงปก เดือน มิ.ย.ขอ 1.5 แสน ได้ 5 หมื่น เดือนนี้ได้แค่ 800 โดส ด่านหน้ายังฉีดไม่ครบ รัฐล้มเหลวสร้างความเชื่อมั่น คนไม่กล้าลงทะเบียน กระจายวัคซีนช้า

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. พิมพ์รพี พันธ์ุวิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความทางเฟซบุ๊ก เปิดเผยตัวเลขวัคซีนของจังหวัดกระบี่ ว่าได้ไม่ตรงจำนวนที่ขอ โดยระบุว่า

เปิดตัวเลขวัคซีนโควิด-19 ส่งกระบี่ ไม่ตรงปก ขอ 1.5 แสนโดส ได้แค่ 5 หมื่น เดือน พ.ค.ได้แค่ 800 โดส ชี้ รัฐล้มเหลว สื่อสารสร้างความชื่อมั่นวัคซีน จนคนกลัวไม่กล้าลงทะเบียน แถมกระจายวัคซีนช้า วอน ระดมส่งวัคซีนแหล่งท่องเที่ยว ทำอันดามัน แซนด์บ็อกซ์ ฟื้นท่องเที่ยว ก่อนเข้าไฮซีซั่น นำรายได้หลายแสนล้านคืนชาติ ฟื้น ศก.ไทย

ในจังหวัดกระบี่สถานการณ์น่าเป็นห่วงเรื่องการฉีดวัคซีน เนื่องจากในการลงพื้นที่ตำบลเหนือคลองและคลองท่อมกับ ส.ส.สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายธนวัช ภูเก้าล้วน ร่วมประชุมกับ รพ.สต. และ อสม.ในหมู่บ้าน พบว่าในบางหมู่บ้าน การลงทะเบียนมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น

Advertisement

จึงต้องเร่งกระชับพื้นที่สร้างความเข้าใจ เพิ่มจำนวนการลงทะเบียนโควิคอย่างเร่งด่วน ในทางกลับกันได้ยินข่าวกังวลมาจากในจังหวัดว่าวัคซีนสำหรับเดือนมิถุนายน ที่ขอมาจาก 150,000โดส จะเหลือเพียงแค่ 50,000โดส คือ แค่หนึ่งในสาม มีปัญหา 2 อย่างพร้อมกันคือ จำนวนประชาชนลงทะเบียนจองวัคซีนน้อยขณะเดียวกันแผนกระจายวัคซีน ที่รัฐบาลต้องจัดสรรให้จังหวัดต่างๆ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

​เป็นความล้มเหลวของการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลของสื่อส่วนกลาง ทำให้ประชาชนมีความกลัวและขาดความมั่นใจ รัฐต้องพูดความจริงกับประชาชน และระดมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การออกมาพูดคนละทิศคนละทางจากสื่อต่างๆ ในสภาวะวิกฤตนี้

“กรุณาพูดภาษาง่ายๆ ที่ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจได้ และเชื่อมั่น” เพื่อลดภาระการทำงานหนักของ อสม. ข้าราชการสาธารณสุข​และผู้นำท้องถิ่น

Advertisement

​การลดจำนวนวัคซีน ออกต่างจังหวัด เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่ได้เพิ่มเพียง 800 โดส และเดือนมิถุนายนที่ขอไว้ 150,000 โดส ก็เหลือเพียง 50,000 โดส (คือเพียงหนึ่งในสาม)

การนำส่งวัคซีนให้จังหวัดกระบี่ ไม่เคยตรงไปตามแผน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขมีความยากลำบากในการบริหารประชาชนให้มาฉีดวัคซีนซึ่งทุกวันนี้จังหวัดกระบี่มีเพียงแค่ข้าราชการสาธารณสุขที่ได้ฉีดวัคซีนก่อน เพื่อออกมาป้องกันประชาชน อสม.ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนครบทุกคน แล้วจะเดินทางไปดูแล ชาวบ้านที่รับผิดชอบได้อย่างไร

จังหวัดกระบี่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ได้วัคซีนเพียง 20,000 โดส ดังนี้

ครั้งที่ 1 จำนวน 10,000 (จากที่ขอ 15,000)

ครั้งที่ 2 จำนวน 4,600 ครั้งที่ 3 จำนวน 800

รวม 15,400 โดส นั่นคือสามารถ​ฉีดได้เพียง 8,000 เข็มแรก และเข็มที่สองห่างกัน 15 วัน

ในเดือนมิถุนายนที่รอคอยจะได้ 150,000โดส ก็จะได้เพียง 50,000 โดส หรือเพียง 1 ใน 3 ของแผนที่ร้องขอ เมื่อ อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านหน้ายังไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอ จะเป็นการยากมากที่จะทำความเข้าใจเพื่อ ฉีดวัคซีน เต็มพื้นที่ให้กับประชาชน และสำคัญที่สุด โปรดอย่าใช้วิกฤตโควิดนี้ เป็นข้อได้เปรียบทางการเมือง ด้วยการให้ความเหลื่อมล้ำ ซื้อประกันภัยให้กับบางกลุ่มของอาสาสมัครเพื่อผลทางการเมือง หากแต่เจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีควรเสนอเป็นนโยบายรัฐ ให้ประกันกับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ทุกฝ่าย ทุกท้องที่ ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องโควิด เพราะทุกคนคืออาสาสมัคร ในทุกพื้นที่ ทุกหน้าที่ ที่กำลังทำงานเพื่อปกป้องประเทศให้ปลอดภัยจากสงครามโควิดนี้

“ในภาคการท่องเที่ยว ประเทศไทยทำรายได้เป็นอันดับ 4 ของโลก จังหวัดกระบี่ทำรายได้ท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของประเทศ คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และกระบี่

เมื่อภูเก็ตสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายของภูเก็ต sandbox ที่จะสามารถเปิดประเทศได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ขอให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขผนึกกำลังทำอันดามัน sandbox เชื่อมจาก ภูเก็ต ไปพังงา กระบี่ และตรัง ซึ่งมีประชากรเพียงล้านคน ได้ฉีดวัคซีน 1.5 ล้านโดสก่อน เพื่อเปิดเส้นทางท่องเที่ยงอันดามัน เชื่อมต่อภูเก็ต พังงา เกาะยาว กระบี่ เกาะลันตา เกาะพีพี เกาะไหง และตรัง เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเกาะแก่งที่สวยอันโลก เร่งสร้างรายได้ คืนประชาชน ให้ทันฤดูการท่องเที่ยวต่างประเทศคือ 1 พฤศจิกายนนี้

เร่งรัดสนามบินจังหวัดกระบี่สนามบินจังหวัดตรังให้เสร็จทันการเพื่อรองรับ เที่ยวบินเหมาลำจากต่างประเทศ สร้างรายได้แสนล้านเข้าประเทศไทย​ทันที วัคซีนที่ดีต้องให้ความปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งด้านชีวิตที่ปลอดภัย และเศรษฐกิจ ที่พอเพียงให้กับประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image