กลุ่ม Re-Solution ชวน เมทินี ชโลธร ปธ.ศาลฎีกา ร่วมลงชื่อแก้รธน.-ปฎิรูปศาล

เพจ Re-Solution ‘ประธานศาลฎีกา’ ลงชื่อแก้รธน.-ปฏิรูปศาล ทดสอบความจริงใจ ตรวจสอบถ่วงดุล

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เพจ Re-Solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นช่องทางรณรงค์ของการรณรงค์เข้าชื่อประชาชนแก้รัฐธรรมนูญ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” โพสต์ข้อความถึงกรณีที่ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” ณ วงประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 โดยเชิญชวนให้นาง เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา มาลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญภายใต้ 4 ข้อเสนอใหญ่ คือ ล้ม ส.ว. โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติ และล้างมรดกรัฐประหาร พร้อมยกเหตุว่าหากต้องการให้มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลศาลและต้องการให้ศาลใกล้ชิดประชาชนมากขึ้นจริงๆ ดังนี้กล่าวในงานประชุมทางวิชาการดังกล่าวก็ควรจะมาลงชื่อด้วยกัน

โดยโพสต์มีเนื้อความว่า “ไม่กี่วันที่ผ่านมา เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา คนปัจจุบันได้ประกาศกลางวงประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” โดยกล่าวว่า ศาลก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว คดีอาญาที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณา กำหนดเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันออกหมายขังระหว่างพิจารณา และในการขอปล่อยชั่วคราว และต้องได้รับคำสั่งภายใน 1 ชม.

“แต่ละคดีจะถูกมอนิเตอร์โดยผู้บังคับบัญชาว่าทำได้หรือไม่ได้ เพราะเราตระหนักตามสุภาษิตที่ว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง” ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน กล่าว อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์ตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าสิ่งที่ประมุขสูงสุดของฝ่ายตุลาการพูดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ล่าสุดกรณีของ ไมค์ ภานุพงศ์ จาดนอก ที่ควรจะต้องมีการไต่สวนคำร้องคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีในวันอังคารที่ 11 พ.ค. แต่สุดท้ายหลังจากต้องรอนานกว่า 8 ชั่วโมง ศาลก็เพิ่งแจ้งว่าให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน โดยอ้างว่าไม่สามารถเบิกตัวมาได้เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ถึงแม้ว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ผ่านการไต่สวนทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งศาลก็เคยทำแล้วในกรณีอื่น แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดในกรณีนี้กลับไม่ให้ใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้สถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงมากในเรือนจำ จำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดียังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดยิ่งควรได้รับการประกันตัวตามสิทธิ และควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ เหตุใดกลับทำให้ทุกอย่างล่าช้าออกไปอีกถึงวันที่ 27 พ.ค. ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าสิ่งที่ประธานศาลฎีกาพูดว่า “ราตระหนักตามสุภาษิตที่ว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง” ตรงข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

Advertisement

เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ยังได้กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า “ภาพของศาลในความคิดคำนึงของคนข้างนอกที่มองเข้ามา จะคิดว่าอนุรักษ์นิยม มีขนบ มีพิธีรีตอง หรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ซับซ้อนในกระบวนการพิจารณา เป็นองค์กรที่ถามก็ไม่ตอบ นั่งนิ่ง ก็แล้วแต่ประสบการณ์ของท่านที่มาสัมผัสจะพบอย่างไร แต่คิดว่าเป็นภาพในอดีต ถ้ามองศาลในปัจจุบันจะพบว่ามีความพยายามใกล้ชิดกับประชาชน รับฟัง และเปิดบ้านออกไปเพื่อแสดงความโปร่งใส คิดว่าวิธีคิดของผู้พิพากษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปนานแล้ว แต่เราไม่ได้เปิดสิ่งที่คิดในใจออกสู่สาธารณะ”

ประธานศาลฎีกา พูดอีกว่า “จะเห็นภาพผู้พิพากษาในระดับสูงทำงานเชิงรุกในหลายรูปแบบ และการที่ศาลออกไปหาประชาชนอย่างจริงจัง ไปให้ความรู้กฎหมาย ไปเล่าให้เขาฟังว่าทำอะไร ทำให้เราพบว่ามีคนจำนวนมากในประเทศนี้ไม่ยังไม่รู้สิทธิพื้นฐานของตัวเองเลย โดยเฉพาะสิทธิของกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกรังแกตามกฎหมายต้องวิ่งไปที่ไหน ยังไง มีค่าใช้จ่ายไหม ต้องติดต่อหน่วยไหน”

ดังนั้นถ้าสิ่งที่บอกว่า “ศาลมีความพยายามใกล้ชิดกับประชาชน รับฟัง และเปิดบ้านออกไปเพื่อแสดงความโปร่งใส คิดว่าวิธีคิดของผู้พิพากษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปนานแล้ว” หากเป็นเช่นนั้นดังที่ เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาพูดไว้ในเชิงหลักการเช่นนี้กลางที่ประชุมจริง ทั้งหมดก็สอดคล้องกับกลุ่ม Re-solution เสนอในข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ การจะทำให้องค์กรศาลใกล้ชิดกับประชาชน โดยการออกไปบรรยายเพื่อประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ทำไปทำมาต้องระวังไม่ให้เป็นแค่การออกไปถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์เท่านั้น มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการยุทธการรูปหน้าปะจมูกเท่านั้น

Advertisement

แท้จริงแล้วสิ่งที่จะทำให้ศาลใกล้ชิดกับประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชน ได้รับความเชื่อมั่นต่อประชาชนมากขึ้น คือองค์กรตุลาการและศาลจำเป็นต้องยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น และต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชนผู้จ่ายภาษี ไม่เป็นดินแดนสนธยาแบบที่แล้วมา เพราะศาลเป็นหนึ่งในสถาบันที่ใช้งบประมาณของรัฐซึ่งมาจากภาษีของประชาชนในการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยประชุมแก่ผู้พิพากษา ตุลาการ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยในปีหนึ่งๆ หน่วยงานของศาล ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมกันจำนวนหลายหมื่นล้านบาท!

ข้อเสนอหนึ่งของขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์คือ “โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ – ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ” กลุ่ม Resolution เสนอให้มี “ผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ” จากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 10 คน เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานศาล เพื่อให้ความเห็นแก่ประธานศาลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารของศาล เพื่อศึกษาวิเคราะห์ ประเมินคุณภาพ และผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาลและคำพิพากษาในประเด็นต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากฎหมาย การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาบรรทัดฐาน

นอกจากนี้ยังให้คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญคัดเลือกกันเองให้ 1 คนไปเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมโดยตำแหน่ง และยังได้เพิ่มกระบวนการตรวจสอบอีกชั้นโดยประชาชนให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้ด้วย ในกรณีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม!

จึงอยากขอเชิญชวน เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา มาร่วมลงชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ด้วยกัน อย่าให้ใครว่าได้ว่าสิ่งที่ประธานศาลฎีกา ประมุขของฝ่ายตุลาการพูดนั้น เลื่อนลอย ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยทุกวันนี้

การพูดเป็นเรื่องง่ายเพราะใครก็พูดได้ แต่การปฏิบัติและโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมคือหลักฐานเชิงประจักษ์พิสูจน์ว่าเรื่องจริงเป็นเช่นใด มีความจริงใจหรือสื่อสัตย์กับสิ่งที่สื่อสารออกไปหรือไม่

เชิญมาลงชื่อได้ที่จุดตั้งโต๊ะและทางจดหมาย ดูรายละเอียดที่ www.resolutioncon.com

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image