‘วิโรจน์-ณัฐพงษ์’ ชี้ ตรวจโควิดเชิงรุกใน กทม.ไม่ครอบคลุม แนะ รบ. 6 ข้อ อนุมัติงบกลางซื้อเครื่องมือแพทย์

‘วิโรจน์-ณัฐพงษ์’ ชี้ ตรวจโควิดเชิงรุก รบ.ใน กทม.ไม่ครอบคลุม แนะ 6 ข้อ สกัดการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ยก ‘ชุมชนบ้านขิง’ เป็นตัวอย่าง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 พฤษภาคม ที่พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. เขคบางแค พรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาการรอคอยของประชาชนและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปัจจุบันในเขตกรุงเทพมหานคร

นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 และเริ่มมีอาการเบาบาง การเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาลของรัฐบางแห่งต้องรอคิวตรวจนานกว่า 3 วัน แต่กว่าจะทราบผลตรวจต้องรอ 1-2 วัน ซึ่งระยะเวลามากกว่า 4 หรือ 7 วันนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ทรุดตัวลงมากขึ้น ทำให้มีโอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้นไปด้วย

นายวิโรจน์กล่าวว่า ในวันนี้ปัญหาระบบสาธารณสุขในเขตพื้นที่ กทม. ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยสีเขียว แต่เกิดจากผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง การตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม.ไม่ได้มีความครอบคลุม ทำให้ไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ด้าน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า กรณีคลัสเตอร์บางแค อย่างชุมชนบ้านขิงนั้น ชาวบ้านได้ขอความช่วยเหลือมาว่าในชุมชนมีผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสูง และคาดว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อนอนป่วยอยู่ในบ้าน ซึ่งไม่ว่าจะประสานหน่วยงานไหนไปก็ไม่มีใครเข้ามารับ ได้รับคำตอบกลับมาว่าต้องมีใบตรวจยืนยันผลว่าติดเชื้อก่อนเท่านั้น ถึงจะส่งรถเข้ามารับตัวไปรักษา

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ตนและทีมงานจึงส่งแล็บชุดตรวจเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นการตรวจแบบกวาดจมูก (swab test) ลงชุมชนบ้านขิง มีผู้ได้รับการตรวจทั้งสิ้น 98 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 9 คน ต่อมาได้ประสานงานไปยังหน่วยงานว่าพบผู้ติดเชื้ออยากให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ชาวบ้านทั้ง 9 คน ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลซ้ำอีก เพื่อนำตัวผู้ป่วยเข้าระบบ เพราะตามระเบียบหากไม่มีใบยืนยันผลตรวจ จะไม่สามารถรับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

นายณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า เห็นได้ว่าวันนี้การตรวจที่ดีที่สุดคือการตรวจที่เหมาะสมกับหน้างาน และอยากฝากถึงนโยบายที่ว่าโรงพยาบาลใดตรวจ โรงพยาบาลนั้นต้องรับผิดชอบ ผลที่สะท้อนคือโรงพยาบาลเอกชนบางที่บ่ายเบี่ยงในการรับผิดชอบ ไม่รับตรวจแม้จะเป็นโรงพยาบาลที่ชาวบ้านมีประกันสังคมอยู่ก็ตาม

Advertisement

ขณะที่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ขอเสนอแนะแก่รัฐบาลว่า 1.รัฐบาลควรใช้ Rapid Antigen Test ที่ผ่านมาตรฐานของ อย. ในการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับประชาชนที่มีอาการเข้าข่ายว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและการรักษาก่อนที่จะมีอาการหนัก ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตลง และเพื่อให้การตรวจเชิงรุกมีความครอบคลุมพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการสกัดกั้นการระบาดให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ และรัฐบาลต้องดูแลเรื่องอาหารให้เพียงพอต่อการยังชีพอย่างมีโภชนาการ ให้กับผู้ที่อยู่ระหว่างการรอเตียงหรือต้องกักตัวเอง 14 วัน 2.ควรให้ประชาชนเข้าถึงชุด Rapid Antigen Test ไม่ว่าจะเป็นการแจกในพื้นที่เสี่ยง หรือให้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า 3.ควรยกเลิกนโยบายที่ให้โรงพยาบาลใดที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยเองตามลำพัง แต่เปลี่ยนเป็นให้โรงพยาบาลตามสิทธิเป็นผู้บริหารจัดการในเบื้องต้นสำหรับการจัดสรรเตียง และการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับอาการของโรคของผู้ป่วยนั้น ควรกำหนดให้มีหน่วยงานกลางในการจัดการ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่ตกลงร่วมกันของทุกสังกัดโรงพยาบาล

“ปัจจุบันปัญหาใหญ่ที่สุดในการจัดการเตียงในพื้นที่ กทม.คือโรงพยาบาลในพื้นที่มีต้นสังกัดที่หลากหลาย ซึ่งการจัดสรรเตียงและการส่งต่อผู้ป่วยในปัจจุบันยังขาดเอกภาพในการทำงานข้ามสังกัด และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการในพื้นที่ กทม.คือมาตการปกครองใดๆ ไม่ว่าจะล็อกดาวน์ กึ่งล็อกดาวน์ หรือคลายการล็อกดาวน์ ไม่ควรพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว จะต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยด้วย” นายวิโรจน์กล่าว

วิโรจน์
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า 4.รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยลดระยะเวลาในการรอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง และรอยา โดยเฉพาะการลดงานเอกสารและงานธุรการในการจ่ายยาของแพทย์ลง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด 5.รัฐบาลต้องเร่งจัดสรรงบประมาณหรืออนุมัติงบกลางในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น โดยเฉพาะเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนักขึ้นหรือผู้ป่วยสีเหลือง พร้อมยกระดับหอผู้ป่วยทั่วไปหรือโรงพยาบาลสนามบางแห่งที่มีประสิทธิภาพให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้

นายวิโรจน์กล่าวว่า และ 6.รัฐบาลต้องกระจายความเสี่ยงและสำรองยาที่จำเป็นต่อการรักษาโควิด-19 ให้มีความหลากหลายและเพียงพอ โดยปัจจุบันประเทศไทยมียาต้านไวรัสเพียงแค่ฟาวิพิราเวียร์เท่านั้น แต่ในทางการแพทย์ยังมียาต้านไวรัสชนิดอื่นที่มีความจำเป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image