คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : อริยสัจเพื่อล่วงโควิดภัย-ภาครัฐ

หากนับหนึ่งที่การใช้มาตรการเข้มงวดที่สุดคือ การออกคำสั่งห้ามรับประทานอาหารในร้านสำหรับจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดเมื่อวันที่ 1 เดือนนี้ก็เท่ากับว่าจนถึงตอนนี้ผ่านมาแล้ว 19 วัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ก็ไม่ได้ดูมีทิศทางที่คลี่คลายขึ้นเลย

ในสัปดาห์นี้ก็มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้นอีกเป็นประวัติการณ์จากสองจุดแพร่ระบาดใหม่โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร คือ การแพร่ระบาดภายในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม และล่าสุดในชุมชนที่พักคนงานที่มีหลายจุดใหญ่ในแต่ละเขตของนครหลวง

แม้ว่าทางภาครัฐนั้นสามารถแก้ปัญหาเรื่องการรับและหาที่รักษาผู้ป่วยได้แล้ว ซึ่งทำให้ไม่มีข่าวน่าเศร้าสลดเหมือนในช่วงต้นของการแพร่ระบาดในรอบนี้ที่มีผู้ที่ต้องเสียชีวิตที่บ้านเนื่องจากไม่ได้รับการรักษาที่
ทันท่วงทีก็ตาม แต่เมื่อดูตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในแต่ละวันก็ไม่ได้ลดลง

คงต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้เป็นวิกฤตสำคัญอย่างยิ่งนับแต่ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของชาติเรานับแต่สงครามโลกครั้งที่สองก็ว่าได้

Advertisement

ในทางพุทธศาสนา มีความจริงอันประเสริฐที่เป็นหนทางแก้ปัญหา หรือทางดับทุกข์ที่เรียกว่าอริยสัจ
สี่ประการ ได้แก่ ทุกข์ คือ สภาพแห่งปัญหาที่เผชิญอยู่อันเป็นเรื่องทนทุกข์ได้ยาก สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และมรรค คือ แนวปฏิบัติอันเป็นหนทางดับทุกข์

หากใครจะมองบนว่าอยู่ดีๆ ก็หาเรื่องลากเข้าวัดเสียอย่างนั้นก็คงไม่ใช่ เพราะสิ่งนี้ก็สอดคล้องกับหลักการ 5 Step Process หรือขั้นกระบวนการทั้งห้า ที่ เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) นักลงทุนผู้ก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์คนสำคัญในวงการได้เขียนไว้ในหนังสือ Principles ซึ่งเป็นหนังสือที่เขารวบรวมหลักการสำคัญในชีวิตของเขาทั้งในทางธุรกิจและด้านอื่นๆ ไว้

ห้าขั้นกระบวนการของ เรย์ ดาลิโอ นั้นได้แก่ การวางเป้าหมาย มองปัญหาให้พบวิเคราะห์ทางแก้ไข ออกแบบระบบการแก้ไขปัญหา หรือทำงานนั้น และสุดท้ายคือ การลงมือทำ และเมื่อลงมือทำแล้วก็จะได้พบกับปัญหาอีกอย่างแน่แท้ ก็วนซ้ำกระบวนการนั้นใหม่ จนกระทั่งในที่สุดเราจะได้เครื่องมือที่แข็งแรงที่พาเราไปสู่เป้าหมายนั้นได้

Advertisement

ทั้งอริยสัจสี่และขั้นกระบวนการทั้งห้ามีขั้นตอนที่เหมือนกัน คือ การต้องรู้ว่าเขาจะแก้ปัญหาใด (ทุกข์/เป้าหมาย) จากนั้นหาให้พบว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร (สมุหทัย/วิเคราะห์) เพื่อหาเครื่องมือแก้ปัญหา (นิโรธ/ทางแก้ไข) และจากนั้นก็สร้างหนทางแก้ปัญหานั้น (มรรค/การออกแบบระบบ) ส่วนการนำไปปฏิบัตินั้นไม่อยู่ในอริยสัจ แต่ก็เป็นยิ่งกว่าสัจจะคือต่อให้ได้เครื่องมือหรือวิธีการที่ดีอย่างไรถ้าไม่เอาไปทำก็ไม่มีประโยชน์

เช่นนี้ หากนำอริยสัจสี่หรือขั้นกระบวนการทั้งห้า มาจับในเรื่องปัญหาโควิด-19 นี้ อย่างน้อยเราก็เห็นว่า “ทุกข์” ของเราคือการแพร่ระบาดของไวรัสที่เหมือนจะควบคุมและรับมือไม่ได้ เช่นเดียวกันมันจึงกำหนด “เป้าหมาย” ว่าเราจะต้องหยุดการแพร่ระบาดและนำสภาวะที่เป็นปกติสุขกลับมาให้ได้

แต่ในส่วนของสมุทัย หรือการวิเคราะห์ปัญหานั้น เราอาจจะต้องเริ่มกันที่การยอมรับความจริง ที่ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “ปริญญา” (ที่ไม่ได้หมายถึงวุฒิการศึกษา หรือท่านอาจารย์ชื่อดังของคณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์) แต่ในที่นี้คือการทำความเข้าใจสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง หรือการเผชิญหน้ากับปัญหา

การยอมรับความจริงนี้อาจต้องเริ่มจากข้อที่เจ็บปวดที่สุดว่า เราล้วนมีส่วนในความผิดพลาดที่ส่งผลในการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้กันคนละเล็กละน้อย

เขียนแบบนี้ก็เสี่ยงทัวร์ลงจากฝั่งฝ่ายประชาธิป ไตยที่อาจจะมองว่า เอะอะอะไรก็โทษประชาชน ทำอย่างกับเป็นคุณหมอกระบอกเสียงท่านนั้น แต่ขอให้ค่อยๆ ระลึกไตร่ตรองไปด้วยกันเถิด

แน่นอนว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยส่วนใหญ่นั้นน่าจะได้แก่ “รัฐ” ที่มีทั้งมือไม้ อำนาจ และกฎหมาย แต่มันก็มีส่วนที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เราทั้งคุณและผมเองก็มีส่วนร่วมในความบกพร่องกันบ้าง และเราจำเป็นที่จะต้องยอมรับในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับทางภาครัฐ ท่านอาจจะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาท่านใช้เรื่องของโควิด-19 เป็นอาวุธและเป็นข้ออ้างทางการเมืองมากกว่าการที่มุ่งที่จะเตรียมตัวป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสนี้อย่างจริงจัง

เอาสักเรื่องหนึ่งที่สดๆ ก็แล้วกัน หลายคนคงจำได้ว่าเมื่อสักไม่นานมานี้ มีข่าวว่า ทนายอานนท์ หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรนั้นได้รับการปฏิบัติที่เป็นพิรุธน่ากังขาจากทางเรือนจำ โดยพยายามนำตัวออกจากห้องขังในยามดึกสงัดอย่างอธิบายไม่ได้ ในภายหลังทางราชทัณฑ์ชี้แจงว่า เป็นกระบวนการ “ปกติ” ที่จะนำตัวผู้ต้องขังไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ … แม้ว่านั่นจะเป็นเวลาตีสองก็ตาม

ถ้าข้ออ้างนี้เป็นจริงก็น่าจะหมายความว่า ทางเรือนจำเอาใจใส่ในการตรวจคัดกรองด้วยมาตรการที่เข้มงวด ก็ไม่น่าที่จะมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ขนาดนี้หรอกหรือไม่ (และอย่างที่เราได้ทราบว่าในที่สุดทนายอานนท์ก็ติดโควิดอยู่ดี) เพียงแค่นี้ก็พอ และก็เชื่อว่าผู้เกี่ยวข้องก็รู้อยู่แก่ใจ

หวังว่าเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนให้แก่ผู้ที่ถืออำนาจรัฐว่า การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอามาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเป็นฐานในการอ้างอำนาจเพื่อผลได้เปรียบในทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว

ประการต่อมา ภาครัฐเองต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการสื่อสารอย่างมาก จนไม่ควรต้องแปลกใจว่าทำไมประชาชนถึงไม่เชื่อถือ ที่ผ่านมาพวกท่านใช้กลยุทธ์ในการสื่อสารโดยใช้วาทศิลป์ หรือจิตวิทยาเพียงเพื่อประโยชน์ในการสร้างความชอบธรรมมารองรับการตัดสินใจ หรือการดำเนินการของพวกท่านมากกว่าที่จะบอกความจริง คงจำได้ว่าเมื่อต้นปีนี้เองที่โฆษกของท่านออกมาพูดหน้าตาเฉยว่าวัคซีนจะมาเร็วมาช้าก็หาสำคัญไม่ เพราะเรามีหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ไม่ต้องฉีดวัคซีนให้เจ็บตัว เนื่องจากในตอนนั้นรัฐบาลมีข้อครหาเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าตกขบวน แต่พอมีวัคซีนมาแล้วแต่คนไม่มั่นใจไม่กล้าฉีด ท่านก็ให้ช่วยกันสร้างกระแสโน้มน้าวให้ผู้คนมาฉีดวัคซีนกันให้มากๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะช่วยชาติให้พ้นวิกฤตได้ แต่เมื่อพบว่าวัคซีนที่พวกท่านได้มาเป็นตัวหลักนั้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ช้าจนอาจหวังผลเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้ ท่านก็พลิกหน้าใหม่ออกมาในทางว่า ฉีดไว้ป้องกันอาการจากหนักจะได้เป็นเบา แต่ต้องป้องกันตัวเหมือนเดิมการ์ดห้ามตก ฯลฯ

ท่านต้องยอมรับเสียก่อนว่าจากนี้ไป ท่านจำเป็นต้องสื่อสารอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมากว่านี้ รวมถึงการยอมรับและเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนหลักที่ท่านจัดหามาฉีดให้ประชาชนว่าสามารถป้องกันได้จริงเพียงไร มีข้อพึงระวัง หรืออัตราเสี่ยงอย่างไร รวมทั้งกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่จะรอทางเลือกอื่นสำหรับผู้ที่ยินดีจะจ่ายเงินเลือกวัคซีนเอง

สำหรับภาคราชการอันเป็นมือไม้ของรัฐ ท่านอาจจะต้องยอมรับกันว่า ไวรัสโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปนานกว่าที่คิด และอาจจะนานกว่าประเทศไหนๆ ในโลก ตราบใดที่เรายังไม่มีความชัดเจนเรื่องวัคซีน เราอาจจะต้องยอมรับใน “วิถีใหม่” หรือ New Normal อย่างจริงจัง อย่างเช่นที่มาตรการการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home นั้นเป็นเพียงมาตรการขัดตาทัพ พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้าง ภาคราชการและหน่วยงานต่างๆ ก็สั่งให้พนักงานลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ของตนกลับมาทำงานกันหมด

ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าเข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะไม่มีทั้งกฎระเบียบที่รองรับมาตรการปฏิบัติราชการ หรือการทำงานจากที่บ้าน รวมถึงเทคโนโลยีที่เป็นระบบอันปลอดภัยและชัดเจน ดังนั้นการให้ทำงานจากที่บ้านจึงเท่ากับเป็นคำสั่งให้หยุดงานดีๆ นี่เอง ซึ่งก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น

แต่ถ้าเรายอมรับว่า โควิด-19 อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จบได้ง่าย เมื่อไรก็ตามที่มีการรวมตัวกันของคนมากๆ ในสภาวะที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยสมบูรณ์ ก็จะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่เช่นในครั้งนี้หรือรุนแรงกว่านี้ได้เสมอ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีมาตรการการทำงานจากที่บ้านกันให้ชัดเจน และชอบด้วยกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ มากขึ้นพร้อมเทคโนโลยีที่รองรับ เพื่อให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้เนื้องานจริงๆ ไม่ใช่เหมือนการสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดงานเฉยๆ หรือทำงานก๊อกๆ แก๊กๆ ขัดตาทัพซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลิตผล และไม่เป็นประโยชน์อันแท้จริงต่อทางราชการ

ทั้งนี้ ล่าสุดก็มีแนวโน้มที่ดี เพราะมีการออกระเบียบยอมรับให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้แล้ว แต่ถ้าให้ดี ระเบียบเช่นนี้ควรมีอีก เช่น ระเบียบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับการทำหนังสือราชการ ระเบียบรองรับการลงลายมือชื่อหรืออนุญาตอนุมัติ หรือออกคำสั่งทางปกครองหรือสั่งการงานอื่นได้จากนอกหน่วยงานสถานที่

ถ้าคิดว่าโดยสภาพแล้วงานราชการจะมาทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ก็ขอให้ไปดูด้วยว่า ตอนนี้ศาลทั้งหลายเขาก็รองรับการฟ้องคดีและการพิจารณาคดี (ซึ่งน่าจะถือเป็นกระบวนการเชิงอำนาจรัฐที่ใกล้เคียงอำนาจอธิปไตยที่สุด) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กันหมดแล้ว ศาลปกครองมีระเบียบรองรับการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอลจากที่ทำการ หรือที่พักของคู่กรณีด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ สำหรับภาคเอกชน ทางภาครัฐก็ต้องมีมาตรการสนับสนุนหรือช่วยเหลือสำหรับบริษัทองค์กรหรือสถานประกอบการที่ใช้มาตรการ Work from home เช่น การให้ความช่วยเหลือพิเศษ หรือมาตรการทางภาษี หากยอมรับว่าการลดระยะห่างเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและเป็นไปเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

เราคงต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า สภาวะ “ปกติใหม่” คือสิ่งที่ต้องเป็น “ปกติจริงๆ” แล้ว เพราะไม่ว่าจะอย่างไร แม้แต่ในต่างประเทศ โควิด-19 ก็ยังไม่ได้จบลงแน่ๆ จะใช้มาตรการชั่วคราวรอเวลาไปเรื่อยๆ เช่นที่ผ่านมานั้นคงไม่ได้

สำหรับประชาชนแล้ว มีอะไรที่เราต้องยอมรับความจริงว่าเรามีส่วนพลาดตกบกพร่อง และเราต้องแก้ไขอย่างไร อาจจะต้องขออนุญาตเอาไปต่อในครั้งหน้า

หากขอฝากไว้หน่อยนิดหนึ่งแล้วกันว่า หากในสัปดาห์นี้มีการเปิดให้รับประทานอาหารที่ร้านได้ในสภาพและเงื่อนไขที่จำกัดจริงๆ เช่น นั่งได้โต๊ะละคน หรือมาด้วยกันก็ต้องนั่งแยกเตาแยกหม้อกัน หรือหากไปเจอจุดกำหนดยืนรอแบบเว้นระยะห่างในห้างร้านหรือสถานที่สาธารณะในรอบนี้ ก็ช่วยให้ความร่วมมือกันหน่อยก็แล้วกัน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image