ฮามาสแห่งฉนวนกาซา

คอลิด มิชอัล ผู้นำฮามาส (ฉนวนกาซา)

ฉนวนกาซา คือ ดินแดนที่มีบริเวณแคบๆ ราว 360 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในตะวันออกกลาง อาณาเขตทางตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์ ทางเหนือ และตะวันออกติดกับประเทศอิสราเอล ทางตะวันตกติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งพื้นที่นี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ให้เป็นเขตกันชนระหว่างประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นชาติอาหรับกับประเทศอิสราเอล ซึ่งเพิ่งได้สถาปนาขึ้นอย่างสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2491 นั่นเอง (73 ปีที่ผ่านมา)

ฉนวนกาซากับเวสต์แบงก์

หลัง พ.ศ.2491 ฉนวนกาซาถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาฉนวนกาซาเป็นของอียิปต์ จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวันใน พ.ศ.2510 ฉนวนกาซาเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง แต่อิสราเอล และปาเลสไตน์ ได้ตกลงทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันใน พ.ศ.2536 ซึ่งอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซาเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาถึง 3 ใน 4 เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก

ในทางภูมิศาสตร์แล้ว ฉนวนกาซาถือเป็นดินแดนของปาเลสไตน์ โดยอิสราเอลได้ถอนทหารออกจากฉนวนกาซาไปเมื่อ พ.ศ.2546 แต่อิสราเอลยังควบคุมการเข้าออกฉนวนกาซาทั้งทางน้ำและทางอากาศทำนองว่า อิสราเอลได้ปิดล้อมฉนวนกาซานี้มีเป้าหมาย เพื่อต้องการโดดเดี่ยวฉนวนกาซาให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซามีปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่บริเวณพรมแดนที่จะข้ามไปอียิปต์ และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ในคุกเปิด เหตุที่ทำให้ฉนวนกาซาต้องรับกรรมเช่นนี้ก็เนื่องจากมีกลุ่มฮามาสที่ฝังรากลึก และปกครองฉนวนกาซาอยู่นั่นเอง

กลุ่มฮามาส คือ กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ที่ใหญ่ที่สุดได้ทำการปกครองเหนือดินแดนฉนวนกาซา ชื่อของฮามาสในภาษาอาหรับแปลว่า ขวัญกำลังใจ เป็นคำย่อของ “ขบวนการอิสลามที่มีใจในการต่อต้าน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2530 หลังเกิดการลุกฮือครั้งแรกของชาวปาเลสไตน์ เพื่อต่อต้านการครอบครองเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซาของอิสราเอลตั้งแต่แรกเริ่ม

Advertisement
มาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์)

กลุ่มฮามาสมีเป้าประสงค์ใน 2 ภารกิจ คือ 1) ฮามาสเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อสู้กับอิสราเอล โดยธรรมนูญของกลุ่มฮามาสที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2531 โดยให้คำนิยามว่า ดินแดนประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์ ซึ่งรวมถึงอิสราเอลในปัจจุบัน คือเป็นดินแดนของอิสลาม และกลุ่มฮามาสจะไม่มีทางมีสันติภาพถาวรกับรัฐยิวอิสราเอลโดยเด็ดขาด และ 2) กลุ่มฮามาสจะจัดทำโครงการสวัสดิการสังคมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ที่อิสราเอลถอนทหาร และการตั้งถิ่นฐานชาวยิวออกจากฉนวนกาซา
กลุ่มฮามาสจึงได้เข้ามาร่วมในกระบวนการทางการเมืองของปาเลสไตน์มากขึ้น โดยสามารถชนะการเลือกตั้งเพื่อส่งสมาชิกเข้าสู่สภานิติบัญญัติของประเทศปาเลสไตน์ (คือดินแดนเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา) ด้วย ก่อนที่จะสามารถกระชับอำนาจในฉนวนกาซาได้มากขึ้นอีก ด้วยการขับขบวนการฟาตาห์ ของประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส แห่งพรรคฟาตาห์ที่มีกำลังหลักอยู่ที่เขตเวสต์แบงก์ออกไปจากฉนวนกาซาอีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มฮามาสยังเป็นกลุ่มปาเลสไตน์หลักที่ต่อต้านข้อตกลงสันติภาพในช่วง พ.ศ.2533 ระหว่างอิสราเอลกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLO ซึ่งเป็นองค์กรหลักของชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ที่ตั้งมั่นอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ด้วย

ใน พ.ศ.2539 กลุ่มฮามาสก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตเกือบ 60 คน ทำให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการสังหาร นายยาห์ยา ไอยยาช ผู้ผลิตระเบิดของกลุ่มฮามาส เหตุขัดแย้ง
ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ และทำให้ เบนจามิน เนทันยาฮู นักการเมืองผู้มี
นโยบายขยายอำนาจของอิสราเอลเข้าไปในเขตเวสต์แบงก์ (คือ เขตที่รวมนครเยรูซาเลมส่วนตะวันออกที่มีจำนวนประชากรกว่าร้อยละ 80 หรือประมาณ 2 ล้านคน เป็นชาวอาหรับปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์) ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลในปีนั้นเอง จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ และทำให้อิสราเอลสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอังกฤษ พากันขึ้นบัญชีให้กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย เพราะการไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างของอิสราเอล โดยต่อสู้ทุกวิถีทางของกลุ่มฮามาสนั่นเอง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจอิสราเอลได้ใช้กำลังควบคุมผู้แสวงบุญชาวปาเลสไตน์อย่างเข้มงวด ถึงขั้นใช้แก๊สน้ำตา และระเบิดแสงภายในมัสยิด “อัล อักศอ” สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดลำดับ 3 ของชาวมุสลิมรองจากนครมักกะห์ และเมืองเมดินา ซึ่งตั้งอยู่บน “เนินพระวิหาร” หรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่า “ฮาราม อัล-ชาริฟ” ในเยรูซาเลมตะวันออกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลทำให้กลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซาอยู่ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลถอนกำลังตำรวจออกจากเขตฮาราม อัล-ชาริฟ แต่อิสราเอลไม่ยอมปฏิบัติตามคำเรียกร้องนั้น ฮามาสจึงเปิดฉากระดมยิงจรวดเข้าใส่เยรูซาเลม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2564 หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็โจมตีตอบโต้กันไปมา อิสราเอลส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศหลายร้อยเที่ยว ใส่เป้าหมายในฉนวนกาซาที่พวกเขาอ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มฮามาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาอย่างน้อย 103 ศพ รวมถึงผู้บัญชาการอาวุโสของกลุ่มฮามาส และนักรบอีกหลายนาย ส่วนฮามาสก็ยิงจรวดเข้าใส่อิสราเอลนับพันลูก มุ่งเป้าไปที่นครเทล อาวีฟ กับพื้นที่ข้างเคียง

ครับ ! ต่อไปเหล่าชาติตะวันตกก็จะเข้าแทรกแซงให้มีการหยุดยิงแล้วก็จะมีช่วงพักสันติภาพพักหนึ่ง แล้วก็ต้องถล่มกันอีกอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่ทั้งทางอิสราเอล และฮามาส ยังคงมีสปอนเซอร์สนับสนุนอยู่ทั้ง 2 ฝ่ายในรูปสงครามตัวแทน ดังนั้นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล และฮามาส ก็จะเป็นรูปแบบแบบนี้ซ้ำซากไม่มีวันจบสิ้นนั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image