เดินหน้าชน : ‘บินไทย’ไปต่อ?

อนาคตของการบินไทย (ไม่แน่ใจว่า ยังเรียกสายการบินแห่งชาติได้อยู่หรือเปล่า) คงต้องติดตามวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ที่บรรดาเจ้าหนี้จะโหวตแผนฟื้นฟูกิจการว่า เห็นชอบด้วยหรือไม่

เชื่อว่าระหว่างรอการโหวตในวันดังกล่าว ฝ่ายผู้ทำแผนคงล็อบบี้ เจรจาต่อรอง ยื่นเสนอให้เจ้าหนี้มั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ เพื่อไฟเขียวผ่านแผนฟื้นฟูฯ

ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 19 พฤษภาคม ออกหน้าไหนก็ยังต้องใช้คำว่า “ลุ้น” เช่นกัน

หนึ่งในเงื่อนไขที่เจ้าหนี้อยากได้นักหนา คือ ให้การบินไทยกลับเข้าสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายถึงกระทรวงการคลังสามารถไปค้ำประกันเงินกู้ได้ ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำ เพราะการบินไทยจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินมาเสริมสภาพคล่องจำนวน 5 หมื่นล้านบาท มาใช้หมุนเวียนเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ พลิกการขาดทุน ล้างหนี้มหาศาล

Advertisement

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การบินไทยรายงานผลประกอบการปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 141,180 ล้านบาท หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 337,456 ล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ 208,791 ล้านบาท

การกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจยังมีผลดีในด้านสิทธิการบิน เส้นทางการบิน แต้มต่อต่างๆ ในฐานะสายการบินที่รัฐถือหุ้นใหญ่

แต่ต้องไม่ลืมว่า การบินไทยที่จากเคยเป็นหนึ่งในสายการบินดีที่สุดในระดับนานาชาติ กลับต้องขาดทุนต่อเนื่องจนต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ นอกเหนือจากการแข่งขันในธุรกิจการบินที่รุนแรงแล้ว

Advertisement

การบริหารจัดการรูปแบบรัฐวิสาหกิจในอดีต ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างปัญหาให้กับการบินไทย

ไล่ตั้งแต่การรับพนักงานลูกหลานผู้หลักผู้ใหญ่ ไปจนถึงการใช้เส้นสายในฝ่ายบริหารแทนที่จะคำนึงถึง
ความรู้ความสามารถ ความเป็น “มืออาชีพ”

ไม่ต่างจากคณะกรรมการบริษัท ก็ถูกการแทรกแซงโดยฝ่ายการเมือง และกองทัพอย่างยาวนาน กลายเป็นเก้าอี้ตบรางวัล ปูนบำเหน็จพวกพ้องให้ได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย

บีบีซีไทยเก็บข้อมูลช่วงปี 2557-2559 หรือ 3 ปีหลังการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ มีการแต่งตั้งคณะบุคคลจากทั้งกองทัพอากาศ กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าเป็นกรรมการในบอร์ดการบินไทยมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2557 บอร์ดการบินไทยได้ต้อนรับ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง พล.ท.ชาติอุดม ติตถะสิริ พล.อ.ท.ภักดี
แสง-ชูโต พล.อ.อ.ศิวะเกียรติ ชเยมะ เข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งเดิมก็มี พล.อ.อ.หม่อมหลวง สุปรีชา
กมลาศน์ นั่งเป็นกรรมการอยู่ก่อนแล้ว ในปีนี้ผลประกอบการของการบินไทยขาดทุนสุทธิกว่า 1.56 หมื่นล้านบาท

ต่อมาในปี 2558-2559 มีการเปลี่ยนแปลงในโควต้าที่มาจากฝ่ายความมั่นคงบางตำแหน่งในบอร์ดการบินไทย โดยแต่งตั้ง พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย เป็นกรรมการแทน พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต และแต่งตั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นกรรมการแทน นายวิรไท สันติประภพ ส่วนนายพลรายอื่นๆ ยังคงนั่งเป็นกรรมการเช่นเดิม อาทิ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง พล.ท.ชาติอุดม ติตถะสิริ พล.อ.อ.ศิวะเกียรติ ชเยมะ และ พล.อ.อ.หม่อมหลวง สุปรีชา กมลาศน์

ปี 2558 ผลประกอบการขาดทุนสุทธิไปอีกกว่า 1.30 หมื่นล้านบาท

ปี 2559 ผลประกอบการดีขึ้นมาหน่อย พลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรสุทธิอย่างน่าเอ็นดู 15 ล้านบาท

การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ว่าจะเป็นซื้อ-เช่าเครื่องบิน ระบบจำหน่ายตั๋ว ครัวการบินไทย ถูกดูดซับไปยังกลุ่มผลประโยชน์ที่ครอบงำองค์กรแทนผลประโยชน์ของบริษัท จนขาดทุนยับเยิน หนี้สินท่วมตัว

หากการกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทย ยังอยู่ในวังวนแบบวันวาน

ก็น่าเป็นห่วงจะ “เทกออฟ” ไม่ขึ้น

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image