มูลนิธิ 18 พ.ค. เกาหลีใต้ จัดพิธีมอบรางวัล ‘กวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’ ให้ ‘อานนท์ นำภา’ เที่ยงวันนี้

มูลนิธิ 18 พ.ค. เกาหลีใต้ จัดพิธีมอบรางวัล ‘กวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’ ให้ ‘อานนท์ นำภา’ เที่ยงวันนี้

จากกรณีที่คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประกาศให้ นายอานนท์ นำภา ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนชาวไทย ได้รับรางวัล กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) นั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) จะมีพิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 ให้กับนายอานนท์ นำภา ในวันนี้ (18 พฤษภาคม) โดยเชิญให้นายอานนท์ร่วมผ่านทางออนไลน์ (Zoom) ทว่า นายอานนท์ยังรักษาอาการจากเชื้อโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ ขณะนี้ยังอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และยังอยู่ในการควบคุมตัว เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว จึงไม่สามารถร่วมพิธีได้

โดยพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นเวลา 14.00 น. (ตามเวลาของเกาหลีใต้) วันนี้ (18 พฤษภาคม) ที่เกาหลีใต้ (เวลาประมาณเที่ยงวันของไทย) ติดตามชมได้ทางช่องยูทูบ มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก

Advertisement

อ่านข่าว : ‘อานนท์ นำภา’ คว้ารางวัล ‘กวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’ จากประเทศเกาหลีใต้

สำหรับรางวัลดังกล่าวนั้น ด้วยเห็นว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นายอานนท์ ได้เริ่มต้นทำงานด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคดีด้านสิทธิมนุษยชนและกับนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย หลังจากรัฐประหารปี 2557 เขาได้ต่อสู้เพื่อประชาชนที่ถูกฟ้องร้อง จากประมวลกฎหมายอาญาม.112 ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และทำโทษนักสิทธิมนุษยชน และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และช่วยเหลือคนที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร

Advertisement

ในปี 2557 นายอานนท์ ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ติดอาวุธให้กับประชาชนในการต่อสู้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบอำนาจนิยม และช่วย ผลักดันให้เกิดความตื่นรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในผู้นำที่ผลักดันการต่อสู้ ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งปี 2561 ทั้งยังผลักดันให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความตื่นตัวทางสิทธิมนุษยชน การต่อต้านความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึก และ กองทัพ การปราศรัยของเขา ยังมีพลังในการก่อร่างประชาธิปไตยในประเทศไทย และทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และ เยาวชนไทย เคลื่อนไหวทางการเมือง

ทั้งนี้ เขายังถูกจับจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง และถูกตั้งข้อหาความผิดทางอาญา ทั้งยังเผชิญกับความเสี่ยงกับการถูกกักขัง หากไม่หยุดการเคลื่อนไหว แต่เขาก็ยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป

อย่างไรก็ตาม รางวัลดังกล่าวได้เริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีคนไทย ที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 2 คน ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ ไผ่ ดาวดิน นาย จตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา เมื่อปี 2560 ในระดับโลก ยังมีบุคคลสำคัญหลายคนที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ นางอองซาน ซูจี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image