อังคณา ร่วมยินดี ‘ทนายอานนท์’ รับรางวัลทรงคุณค่าจากเกาหลีใต้ ‘กวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’

อังคณา ร่วมยินดี ‘ทนายอานนท์’ รับรางวัลทรงคุณค่าจากเกาหลีใต้ ‘กวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’

จากกรณีคณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ประกาศให้ นายอานนท์ นำภา ทนายความ และนักสิทธิมนุษยชนชาวไทย ได้รับรางวัล กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) นั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) จะมีพิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 ให้กับนายอานนท์ นำภา ในวันนี้ (18 พฤษภาคม) โดยเชิญให้นายอานนท์ร่วมผ่านทางออนไลน์ (Zoom) ทว่า นายอานนท์ยังรักษาอาการจากเชื้อโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ ขณะนี้ยังอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และยังอยู่ในการควบคุมตัว เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว จึงไม่สามารถร่วมพิธีได้

โดยพิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นเวลา 14.00 น. (ตามเวลาของเกาหลีใต้) วันนี้ (18 พฤษภาคม) ที่เกาหลีใต้ (เวลาประมาณเที่ยงวันของไทย) ติดตามชมได้ทางช่องยูทูบ มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม รางวัลดังกล่าวได้เริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีคนไทยที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 2 คน ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ นายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน เมื่อปี 2560 ในระดับโลก ยังมีบุคคลสำคัญหลายคนที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ นางอองซาน ซูจี

อ่านข่าว : ‘อานนท์ นำภา’ คว้ารางวัล ‘กวางจูสิทธิมนุษยชน 2021’ จากประเทศเกาหลีใต้

โดย นางอังคณา กล่าวยินดีกับนายอานนท์ที่ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมระบุว่า มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) เป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยญาติวีรชนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เมืองกวางจูในเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลทหารเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 “รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู” Gwangju Prize for Human Rights เป็นรางวัลที่ชาวเมืองกวางจูมอบให้แก่นักปกป้องนักปกป้องประชาธิปไตย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น ผ่านมูลนิธิ 18 พฤษภาคม เงินทุนต่างๆ ทั้งที่เป็นรางวัล และการดำเนินการ การจัดกิจกรรมมาจากการบริจาคของชาวกวางจูทั้งสิ้น ผู้ซึ่งเป็นผู้มอบรางวัลคือนายกเทศมนตรีเมืองกวางจู ในฐานะผู้แทนประชาชนชาวกวางจู

Advertisement

นางอังคณากล่าวว่า โดยปกติในวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี ประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้จะต้องไปวางพวงมาลาบริเวณที่ฝังร่างวีรชนผู้เสียชีวิต เพื่อแสดงความรำลึกถึงนักศึกษา ประชาชน ผู้เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 สุสานของบรรดาผู้เสียชีวิต สร้างจากงบประมาณของรัฐ บนพื้นที่ที่เป็นภูเขากว้างขวางสุดตา ในทุกๆ ปี ผู้ที่มีโอกาสไปร่วมงานจะเห็นภาพประธานาธิบดีเกาหลีใต้คำนับและกล่าวขอโทษญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งถือเป็นการเยียวยาที่ไม่ใช่ตัวเงิน การเยียวยาด้วยการคืนศักดิ์ศรี การสำนึกผิด การขอโทษ และการรักษาความทรงจำด้วยการรำลึกจดจำที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากสถานการณ์ COVID 19 ปีนี้จึงเป็นปีที่ 2 ที่ชาวกวางจูไม่สามารถจัดงานเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของประชาชนได้

อ่านข่าว : “10 วันที่กวางจู” เกิดอะไรที่เกาหลี เมื่อปี 2523

“ยินดีกับอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 และยังช่วยว่าความให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารสำหรับการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น และ Watchdoc Documentary Maker กลุ่มสร้างภาพยนตร์สารคดี ซึ่งเป็นนักข่าวจากอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับรางวัลในปีนี้

“ในฐานะอดีตผู้รับรางวัล (2006) รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูคือเกียรติ ศักดิ์ศรี ที่พี่น้องชาวกวางจูมอบให้ และเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนในเวลาต่อมา

“ยินดีอย่างจริงใจต่ออานนท์ นำภา วันนี้แม้เขาจะเป็นผู้ต้องหา แต่เขาจะยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

“เชิญชวนผู้สนใจติดตามพิธีมอบรางวัลทาง มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (2 PM KST (GMT+9) เวลาประเทศไทย 12.00 น. และติดตามการประชุมการประกาศปฏิญญา Declaration of Gwangju Democracy Summit (GDS) (ลงทะเบียน) 7 PM KST (GMT+9) เวลาประเทศไทย 17.00-19.00 น.” นางอังคณากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image