‘ศิริกัญญา’ ซัด ‘รัฐบาล’ ลับๆ ล่อๆ ผ่านพ.ร.ก.กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน

‘ศิริกัญญา’ ซัด ‘รัฐบาล’ ลับๆ ล่อๆ ผ่านพ.ร.ก.กู้เพิ่ม 7 แสนล้าน มัดมือชกปชช. ปูทาง ‘เลือกตั้งใหม่’ ลั่น จะไม่ยอมให้ ‘ประยุทธ์’ ปู้ยี่ปู้ยำ เงินภาษีคนไทยอีกต่อไป

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ พ.ร.ก. เงินกู้เพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท ว่า เป็นการกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินกู้เดิมตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปเกือบเต็มวงเงิน เหลืออยู่ราว 1.6 หมื่นล้านบาทเป็นพิจารณาในทางลับแบบมุมแดง และเก็บเอกสารกลับหลังประชุมอีกด้วย ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงและกังวลใจให้ประชาชนว่าเพราะอะไรจึงไม่มีการออกมาสอบถามความคิดเห็นสาธารณะ จงใจเลี่ยงการตรวจสอบอย่างชัดเจน นี่เท่ากับเป็นการมัดมือชกประชาชน มัดตราสังข์ประเทศ จริงอยู่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกล่าสุดนั้นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกระจายเป็นวงกว้าง และประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ฯ ยังออกมาประสานเสียงกันก่อนหน้านี้ว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม แถมก่อนหน้านี้รัฐบาลกลับเยียวยาแบบกะปริดกะปรอยคนละ 2,000 บาท แถมยังกั๊กงบประมาณไว้ให้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างคนละครึ่ง กับ ยิ่งช็อปยิ่งได้ อีก 1.21 แสนล้านบาท มากกว่างบที่ใช้เยียวยาเสียอีก

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังรีบร้อนออกเป็นพ.ร.ก. ทั้งๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรก็กำลังจะเปิดสมัยประชุมในอีกไม่กี่วัน ใช้เหตุผลว่าถ้าออกเป็นพ.ร.บ. จะใช้เวลานาน ในฐานะส.ส.ก็ต้องบอกว่า ถ้าร่างพ.ร.บ.มีรายละเอียดครบสมบูรณ์ รัฐบาลตอบคำถามสภาฯ ได้ เรายินดีจะพิจารณา 3 วาระรวดในคราวเดียวอย่างแน่นอน และในอดีตก็เคยทำมาแล้วด้วย
แต่ร่างพรก.กู้เงินของกระทรวงการคลังเป็นเอกสารแค่ 4 หน้า กรอบแผนงานการใช้เงิน เขียนสั้นๆ แบ่งเป็น 3 แผนเหมือน พ.ร.ก. เงินกู้เดิมทุกประการ เพียงแต่ปรับลดวงเงินลง โดยแบ่งเป็น

–    แผนงานการแก้ไขปัญหาโควิด 30,000 ล้านบาท
–    แผนงานเยียวยาประชาชน  400,000 ล้านบาท
–    แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 270,000 ล้านบาท

“ลับๆ ล่อๆ แบบนี้จะไม่ให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยได้อย่างไร ว่าจะเป็นการมัดมือชก ฉกเงินภาษีประชาชน เตรียมปูทางสู่การเลือกตั้งใหม่ ถ้ามองโลกในแง่ดี นี่อาจจะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตการคลัง ที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่ ทั้งงบปี 2564 ที่จัดเก็บรายได้พลาดเป้าไปมาก จนอาจจะมีเงินไม่พอใช้จ่ายได้จนถึง 3.28 ล้านล้านตามที่สภาอนุมัติ ปลายปีงบประมาณหน่วยงานรัฐคงต้องมาลุ้นกันว่าใครจะได้งบ ใครจะไม่ได้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

Advertisement

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า งบปี 2565 ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าปรับลดวงเงินลงมาเหลือ 3.1 ล้านล้านแล้ว แต่ด้วยรายได้ที่หดหาย ทำให้ต้องกู้มาชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดานแบบกระดิกตัวไม่ได้ เก็บรายได้ไม่เข้าเป้าแม้แต่ 1% รัฐบาลก็จะช็อตเงินทันที ซึ่งในรายละเอียดของร่างพ.ร.ก.ก็มีการพูดถึงการนำเงินกู้ 7 แสนล้านบาทนำไปใช้เติมสภาพคล่องไว้อยู่ ที่สำคัญวงเงินนี้ ก็ไม่ได้บอกที่มาที่ไปว่าทำไมต้องเป็น 7 แสนล้าน ดูไปดูมาเหมือนเป็นการคำนวณเพียงเพื่อไม่ให้เกินกรอบหนี้สาธารณะ 60% ต่อจีดีพี เพราะในเอกสารระบุว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 58.46%

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า พฤติกรรมปัจจุบันไม่น่าไว้ใจ  ถ้าย้อนไปในอดีตดูผลงานที่ผ่านมายิ่งไม่น่าวางใจ เพราะการออก พ.ร.ก. เงินกู้ มีกลไกการอนุมัติโครงการแทบจะเหมือน พ.ร.ก. 1 ล้านล้าน ทุกประการ ดังนั้น ถ้าเรายังใช้วิธีการเดิมๆ แต่คาดหวังผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป คงเป็นไปได้ยาก
พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่รัฐบาลออกมาในปีที่แล้วเห็นได้ชัดแล้วว่านอกจากโครงการที่เป็นเงินโอนแล้ว โครงการอื่นๆ นั้นอนุมัติได้น้อย เบิกจ่ายล่าช้า ตัวโครงการดำเนินการไม่ได้จริง หน่วยงานไม่มีความพร้อม สุดท้ายกลายเป็นการที่ประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่ที่สุด 1. เสียโอกาสที่ช่วยชีวิตคน แผนงานด้านสาธารณสุขที่งบประมาณเดิมมีการเบิกจ่ายแค่ไม่ถึง 30% อุปกรณ์การแพทย์กว่า 2,500 รายการ ในจำนวนนี้มีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง งบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 170 ล้านชิ้น ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินเลย แม้แต่เพียงบาทเดียว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า 2. เสียโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ  แผนงานฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจก็ผ่านมา 1 ปี เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานใหม่ 400,000 ตำแหน่ง, เกษตรกร 95,000 ราย มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองได้, มีพื้นที่เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่ พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 1.7 แสนไร่ และพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 7,900 ล้าน ลบ.ม. กลับทำไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้เลย เพราะอนุมัติน้อย เบิกจ่ายไปได้น้อยมากทั้งๆ ที่ดำเนินโครงการมาเกือบปี โครงการเรือธงอย่าง โคก หนอง นา โมเดล มีถึง 2 โครงการใช้ชื่อต่างกัน มี 2 หน่วยงานที่ทำเรื่องเดียวกัน  เรื่องนี้ สตง. ได้ออกมาชี้เป้าแล้วว่ามีปัญหา ทั้งการดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผน 1-2 เดือน หน่วยงานไม่พร้อมในการดำเนินการ และการดำเนินโครงการมีความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จ  เพราะมีการแก้เงื่อนไขการดำเนินงานหลังอนุมัติ เช่น ปรับแก้จากเดิมที่เป็นการปรับปรุงพื้นที่เกษตร เหลือแค่การขุดบ่อน้ำ  และลดเป้าหมายเกษตรกรตำบลละ 16 คน เหลือตำบลละ 2 คน เป็นต้น

“ดิฉันและพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการการกู้ ปีที่แล้วเราก็ได้อภิปรายไปว่า 1 ล้านล้านบาทไม่พอ และการตั้งงบปี 2565 น้อยเกินไป ถ้ารัฐบาลเอาเงินเราไปใช้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กู้ไปลงทุนให้ประเทศเติบโต มากกว่านี้เราก็ให้กู้ แต่ถ้ารัฐบาลเอาเงินไปละลายน้ำ ไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หวังผลประโยชน์ทางการเมือง แม้แต่บาทเดียวก็ไม่สมควรกู้
ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนตอนนี้ อาจจะไม่ใช่การขอกู้เงิน แต่เป็นเปลี่ยนตัวผู้ใช้เงิน ซึ่งก็คือรัฐบาล

เรามีรัฐบาลที่บริหารประเทศล้มเหลวมาแล้ว 7 ปี และยิ่งพาประเทศสู่หายนะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดโควิด เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทก็ละลายไปจะหมดแล้ว คำถามคือเรา ไม่ใช่ในฐานะนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของเงินก้อนนี้ร่วมกัน จะยอมให้พล.อ. ประยุทธ์ และครม.ชุดนี้ นำเงินภาษีของเราไปปู้ยี่ปู้ยำอีก 7 แสนล้านได้หรือ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image