‘ทวี’ ชำแหละงบ 65 ชี้สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้รัฐราชการ ปล่อย ปชช.ต่อสู้วิกฤตอย่างทุกขเวทนา

แฟ้มภาพ

‘ทวี’ ชำแหละงบ 65 ชี้สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ให้กับผู้มีอำนาจและรัฐราชการ ปล่อยให้ประชาชนต่อสู้วิกฤตอย่างอ่อนแอและทุกขเวทนา

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ (ปช.) เปิดเผยกรณีการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ยังไม่ตอบสนองปัญหาความต้องการของสังคม ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติและประชาชนได้ ว่า ขอสรุปภาพเบื้องต้น ดังนี้ 1.ทำไมการจัดเก็บภาษีได้น้อยแต่มีการหักคืนภาษีมากผิดปกติ? พบว่าในร่างงบประมาณปี 2565 มีประมาณจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าปีก่อน เช่น ภาษีสรรพากร ประมาณการเก็บภาษีได้ 1,876,100 ล้านบาท หักคืนภาษีมากถึง 336,200 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ประมาณการเก็บภาษีได้ 2,085,300 ล้านบาท หักคืนภาษีจำนวน 317,600 ล้านบาท

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า โดยสรุปคือภาษีสรรพากรปี 2565 จัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าปี 2564 จำนวน 209,200 ล้านบาท แต่ต้องคืนภาษีมากกว่าถึง 18,600 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นเรื่องชวนสงสัยถึงประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำงานของกรมจัดเก็บภาษีในการจัดเก็บภาษี ซึ่งการคืนภาษีส่วนใหญ่เป็นเรื่องการส่งออกที่ได้รับยกเว้นภาษี “ทำไมส่งออกได้น้อยคืนภาษีมาก ขณะที่ปีที่แล้วส่งออกมากกว่าแต่คืนภาษีน้อย?”

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่เกินเพดานกฎหมายกำหนด ในงบประมาณปี 2565 กู้เงินชดเชย จำนวน 700,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนต่อ GDP เท่ากับ 57-58 % และเชื่อว่าจะเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท อีกทั้ง การกู้เป็นเหมือนเป็นการผลักภาระให้ประชาชนเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้เรามีหนี้สาธารณะจำนวน 8,472,187 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2564) เมื่อกู้ตาม พ.ร.ก. อีก 7 แสนล้านบาท จะเป็นหนี้สาธารณะจำนวน 9,172,187 ล้านบาท และจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มเป็น 61-62% เกินเพดานความยั่งยืนทางการคลัง ทำให้ในเบื้องต้นมีภาระต้องเสียดอกเบี้ยปีละประมาณ 237,165 ล้านบาท

Advertisement

“3.หน่วยรับงบประมาณจำนวนมาก ยังไม่แก้ไขกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ให้ความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชี “ไม่ถูกต้อง” ซึ่งถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่กำหนดให้ ผู้สอบบัญชี สตง. ตรวจบัญชีการเงินของหน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยงาน งบการเงินที่ถูกต้องจะลงความเห็น แบบไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้ามีความเห็น แบบมีเงื่อนไข, ไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็น ถือว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 164 (2) คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และหมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 62 รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

“และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 6 รัฐต้องดำเนินการจัดทำงบประมาณโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น ร่างงบประมาณปี 2565 ตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้สำนักปลัดกระทรวงการคลัง กองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ จำนวน 30,000 ล้านบาท แต่รายงาน สตง. ของผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นงบเงินอุดหนุน กองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ ระบุว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายการการเงินของหน่วยงานได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริงและเกิดขึ้นจริงของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ การจัดงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณที่ สตง. ตรวจสอบงบการเงินว่าไม่ถูกต้อง จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า 4.งบประมาณรายจ่ายประจำสูง ปีงบประมาณ 2565 งบประมาณรายจ่าย 3,100,000 ล้านบาท จัดทำขึ้นภายใต้กับดักทางงบประมาณ กล่าวคือ มีภาระรายจ่ายประจำสะสมและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ ที่มีจำนวน 1,243,607 ล้านบาท คิดเป็น 40.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย หรือมีสัดส่วนสูงเกิน 1 ใน 3 (เกือบครึ่งหนึ่ง) ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายซึ่งค่อนข้างสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรภาคเอกชนที่ควบคุมงบบุคลากรไม่เกินร้อยละ 30 แต่สามารถจูงใจให้บุคลากรภาคเอกชนมีประสิทธิภาพในการทำงานได้สูงกว่าภาครัฐ ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณในลักษณะดังกล่าวเป็นกับดักที่รัฐราชการวางให้กับประเทศและผูกพันให้ต้องจัดทำงบเช่นนี้เรื่อยไปภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรายได้ประเทศที่เพิ่มขึ้นและถูกนำมาจัดทำงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทุกปี

“5.การจัดงบประมาณ 2565 ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดไว้ว่าจะให้ความสำคัญกับ 5.1) ต้องมีสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 5.2) ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและความต้องการของประชาชน 5.3) ต้องจัดทำงบแบบบูรณาการในทุกมิติ 5.4) ต้องเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.5) ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และการพิจารณาทบทวน เพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็นโดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายประจำ เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายสำคัญ แต่หลังจากได้ศึกษาเอกสารพิจารณางบประมาณแผ่นดินปี 2565 แล้ว แทบไม่พบว่ามีการจัดทำงบประมาณตามนโยบายที่กำหนดไว้ทำให้นโยบายรัฐบาลเป็นเพียงนโยบายทิพย์ คือประกาศแสดงไว้ให้ดูดี แต่ไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง

“6.สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่ำกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย งบประมาณปี 2556 ได้กู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท ตาม พรบ.วินัยการเงินการคลัง รายจ่ายลงทุนต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ แต่พบว่ารายจ่ายลงทุนมีจำนวน 624,399.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.1 ซึ่งสูงกว่ากรอบเล็กน้อย แต่นิยามคำว่าลงทุนของรัฐที่ไม่ชัดเจน หรือสามารถแสดงรายละเอียดของรายจ่ายลงทุนได้ อาจเรียก ‘รายจ่ายลงทุนทิพย์’ ก็ได้ แต่ต่ำกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ (กู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท) ซึ่งไม่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 20(1) แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ กำหนด

“7.ไม่มีกลไกช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ แต่ช่วยแบบเลือกปฏิบัติ ไม่ถ้วนหน้า และหวังผลทางการเมือง ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น สวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กต้องการการดูแลและสําคัญต่อพัฒนาการที่สุด โดยรัฐบาลต้องจัดงบอุดหนุน 600 บาท/เดือน แต่กลับพบว่ากรมกิจการเด็กและเยาวชนได้รับงบสำหรับอุดหนุนให้เด็ก 2.82 ล้านคนเศษ เป็นเงิน 16,659 ล้านบาทเศษ เท่านั้น ไม่สอดคล้องตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่พบว่ามีเด็ก 4.46 ล้านคนเศษ หรือยังมีเด็กตกหล่นจากการลงทะเบียน 1.64 ล้านคน ซึ่งต้องใช้เงินเพิ่มอีกประมาณ 11,808 ล้านบาทเศษ สำหรับอุดหนุนไม่ให้เด็ก 1.64 ล้านคนเสียโอกาสได้รับการพัฒนาซึ่งส่งผลต่อพัฒนาศักยภาพในระยะยาว

“ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่าการลงทุนสําหรับเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปี จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น และจะได้ผลกลับคืนมาถึง 7 เท่า ซึ่งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้เคยเสนอให้ขยายความคุ้มครองเป็นแบบถ้วนหน้า และในด้านการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปีที่ผ่านมาของทางภาครัฐยังไม่สามารถจัดสรรงบประมาณไปยังผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง แต่มุ่งหวังผลทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยพยายามเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เลือกปฏิบัติ ไม่ยึดหลักสิทธิเสมอภาคกัน” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า 8.งบประมาณ “ความมั่นคงของรัฐ” อยู่เหนือ “ความมั่นคงของประชาชนและประเทศชาติ” อำนาจตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่ นายกรัฐมนตรี โดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน / พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการบริหารราชการและงบประมาณสูงสุด รวมทั้งตลอด 7 ปีที่ครองอำนาจนายกฯ กำกับดูแลสั่งราชการสำนักงบประมาณด้วยตนเอง (ไม่มอบอำนาจให้แก่รองนายกฯ เหมือนส่วนราชการในสังกัดสำนักนายกฯ อื่น) และมีการสั่งการให้ ผอ.สำนักงบประมาณ ต้องเสนอนายกฯ ก่อนใช้อำนาจตนเองในการอนุมัติงบกลาง (ตามอำนาจ ผอ.สำนักงบประมาณ) ทำให้นายกฯ มีอำนาจเบ็ดเสร็จด้านงบประมาณ และกระบวนการงบประมาณยังไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม

พ.ต.อ.ทวีกล่าวอีกว่า โดยที่ปัจจุบันประชาชนเจ้าของประเทศมีส่วนร่วมเพียงรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมแสดงความคิดเห็น หรือ ทำประชาพิจารณ์ ตามวิธีการที่รัฐกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายเท่านั้น ตัวอย่างเช่น งบประมาณ กอ.รมน. ที่ตั้งไว้ในปี 2565 จำนวน 7,881 ล้านบาทเศษ เป็นวงเงินที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดหน่วยงานที่มีข้าราชการประจำไม่เกิน 200 คน และไม่มีงานประจำเป็นของตนเองแต่อ้างเพื่อความมั่นคง โดยผู้มีอำนาจอนุมัติใช้งบ คือ นายกรัฐมนตรีและ ผบ.ทบ ในฐานะ ผอ. และรอง ผอ.กอ.รมน.ตามลำดับ โดยได้รับจัดสรรงบประมาณมากกว่ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (5,164 ล้านบาท) มากกว่ากระทรวงพลังงาน (2,717 ล้านบาท) กระทรวงพาณิชย์ ( 5,523 ล้านบาท) หรือ กระทรวงอุตสาหกรรม (4,380 ล้านบาท) ทั้งที่กระทรวงที่กล่าวถึงมีความจำเป็นต่อประชาชนเรื่องความเป็นอยู่ปากท้อง การพัฒนาเศรษฐกิจและหารายได้ของประเทศ

9. จัดสรรงบประมาณ 2565 แสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลต่อการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ตามกฏหมายอุดหนุนท้องถิ่นร้อยละ 35 ในปีงบประมาณ 2565 สัดส่วนของการจัดสรรรายได้และเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) เท่ากับร้อยละ 29.58 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เล็กน้อย แต่กลับพบว่ารายได้ท้องถิ่นประเภทภาษีกลับลดลงเรื่อยๆ ขณะที่เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลต่อการส่งเสริมการกระจายอำนาจ หากต้องการรวมศูนย์อำนาจ จึงทำให้ท้องถิ่น 7,850 แห่งทั่วประเทศ ไม่สามารถพึ่งตนเองทางการคลังด้วยการมีรายได้จากภาษี แต่ต้องรอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

“10.งบประมาณแผนบูรณาการ 12 แผน จำนวนเงินงบประมาณ 283,284.54 แสนล้านบาท (เป็นเงินนอกงบจำนวน 75,107.28 หมื่นล้านบาท) ควรปฏิรูปหรือยกเลิก เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการประเมินผลที่เป็นวิชาการจากองค์กรที่เป็นกลาง ใช้ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ได้ประโยชน์จากการใช้เงินเป็นผู้ประเมิน ที่ผู้เกี่ยวข้องทราบดีว่าเป็นภาระที่เห็นว่าธุระไม่ใช่ เพราะหน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าภาพที่งานในภารกิจความรับผิดชอบยังทำไม่ดีเลย แผนบรูณาการไม่ปรากฏว่าในช่วยเหลือเรื่องผลกระทบจากโควิดในแผนใดเลย จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เห็นควรยกเลิก หรือจะมี 3-4 แผนบูรณาการในการแก้ปัญหาจากผลกระทบโควิด ในด้านการป้องกันการแพร่ระบาด การจัดหาวัคซิน การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูเยียวยา รวมตลอดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ประสบความทุกข์ยากให้ดีขึ้น

“11 เงินนอกงบประมาณ กองทุนหมุนเวียน และรัฐวิสาหกิจ อาจเรียกว่าแหล่งที่แอบแฝงของกลุ่มคนที่บางช่วงมุ่งผลประโยชน์สาธารณะ แต่ปัจจุบันอาจเป็นภาระของประชาชน รัฐบาลควรจะแสดงข้อมูลเงินนอกงบประมาณ กองทุนหมุนเวียน และรัฐวิสาหกิจ ที่นำมาสมทบเงินงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน รวมถึงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติ จากข้อมูลมีเงินนอกงบประมาณ ณ ปี 2565 จำนวน 1,717,029.7 ล้านบาท, กองทุนหมุนเวียน ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ 196,074.17 ล้านบาท และมีรัฐวิสาหกิจที่ตั้งงบปี 2565 ไว้จำนวน 208,664.30 ล้านบาท ที่มีข้อมูลชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภาน้อยมากทั้งที่เงินและทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของประชาชน ต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่กลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น

“ข้อมูลข้างต้นเป็นมุมมองบางประเด็นที่ยังไม่กล่าวถึงรายละเอียดงบประมาณ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยรับงบประมาณ แต่ในภาพรวมอาจสรุปว่าการจัดงบประมาณปี 2565 สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ให้กับผู้มีอำนาจและรัฐราชการ โดยปล่อยให้ประชาชนต่อสู้วิกฤติอย่างอ่อนแอทุกขเวทนา ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติและประชาชนแต่อย่างใด” พ.ต.อ.ทวีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image