‘จตุพร’ ย้อน พ.ค.35 ชี้คนไทยตื่นยากแต่ตื่นแล้วเอาเรื่อง ‘วีระ’ เชื่อเมื่อถึงเวลา ปชช.จะยิ่งใหญ่

‘จตุพร’ ย้อน พ.ค.35 ชี้คนไทยตื่นยาก แต่ตื่นแล้วเอาเรื่อง ‘วีระ’ ยังเชื่อ เมื่อถึงเวลา ‘ปชช.จะยิ่งใหญ่’ แต่ขอให้เด็ดขาด

เมื่อเวลา 16.10 น. วันที่ 20 พฤษภาคม ที่ลาน สวป. มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพฯ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย จัดกิจกรรม “มองอดีต คุยอนาคต” เพื่อร่วมรำลึกครบรอบ 29 ปี เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยมี อดีตแกนนำนักศึกษา ผู้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมือง และเยาวชนกลุ่มลูกพ่อขุนฯโค่นล้มเผด็จการ ร่วมงาน อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนักศึกษารามฯ พฤษภา35, อาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตธิการราม ปัจจุบันรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายสิริวัฒน์ ไกรสิน อดีตนายกองค์การรามปี 34 และแกนนำนักศึกษารามฯ พฤษภา35, นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น, นายนันทพงศ์ ปานมาศ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย นายจตุภัทร หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำหมู่บ้านทะลุฟ้า และ นายธัชพงศ์ แกดำ

เวลา 16.10 น. ตัวแทนเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ทำพิธีจุดธูปเทียน นำกล่าวคำ บูชาพระรัตนตรัย โดยมีการเชิญพระสงฆ์ 2 รูป ร่วมประกอบพิธีทางศาสนา จากนั้น กล่าวคำถวายจตุปัจจัยสี่ แก่ผู้ล่วงลับในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมือง

ต่อมา เวลา 16.20 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นตัวแทนถวายจตุปัจจัยสี่ แก่พระสงฆ์ 2 รูป ก่อนร่วมกันกรวดน้ำ และวางดอกไม้ ทั้งนี้ ยังมีการติดรายชื่อผู้สูญเสียจากหตุการณ์ และติดพวงหรีดร่วมรำลึก จากนาย สิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ แกนนำนักศึกษาราม พฤษภาคม 35, องค์การนักศึกษา สภานักศึกษาพรรคตะวันใหม่ มหาวิทยาลัยรามคําแหง และ พวงหรีดของนายจตุพร

Advertisement

เวลา 17.12 น. นายจตุพร กล่าวรำลึก ความว่า ปกติที่นี่ เป็นที่ตั้งของเวที บวกกับคำว่าลาน สวป. ในประวัติศาสตร์มีคนมานั่งสอบถาม ว่าทำไมรามคำแหงจึงเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายประชาชนในเหตุการณ์นั้น ตนหาสาเหตุไม่เจอ ได้ตอบเพียงว่า วีรชนที่ได้ร่วมตั้งแต่คืนวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นคนเลือกรามคำแหง ตั้งแต่ช่วง 15.00 น. คนเริ่มไหลมาที่รามฯ บางคนมาด้วยคราบเลือด บางคนมาด้วยน้ำตานองหน้า เพราะเมื่อคืนวันที่ 18 มีการฆ่ากันอย่างมโหฬาร

“ต้องยอมรับความจริงว่า ประวัติศาสตร์พฤษภาคม 35 ไม่เคยคิดว่าจุดชี้ขาดจะอยู่ที่รามคำแหง ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มที่รามคำแหง ไปจบที่ราชดำเนิน มีหลายเรื่องเริ่มที่รามคำแหง วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 สิ่งที่ไม่คาดคิด คือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากบรรดาหมู่มิตรที่ได้ผ่านการร่วมรบ ไม่ว่าองค์กรใดในทัพของราชดำเนิน เมื่อทัพแตกกระจัดกระจายกันไป เหลือเฉพาะส่วนของคนหนุ่มสาว ปรากฏการณ์ที่เล็งเห็น จากคนหลักสิบ กลายเป็นหลักร้อย หลักพัน และหลายแสน ผมเห็นเพียงยืนบนลานแห่งนี้ มองไปยังลานพ่อขุน ยาวไปถึงบางกะปิ และเต็มหลังรามฯ คล้ายว่าประชาชนฝากความหวังไว้ที่รามคำแหง” นายจตุพรกล่าว

Advertisement

นายจตุพรกล่าวต่อว่า รามคำแหงเป็นมหาลัยของประชาชน ต้องรับใช้ประชาชน อธิการบดีรามคำแหง สมัยนั้น เป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ซึ่งเป็นต้นเหตุของเดือนพฤษภาคม 2535 ประเด็นที่เราพูดในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ก็เป็นเรื่องเดิมที่เราเคยพูดเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ตนเชื่อว่า ไม่มีอำนาจของผู้ปกครองใด จะชนะประชาชนได้ คืนวันที่ 18 พฤษภาคม ประชาชนที่ไม่สามารถรับได้ ออกมาต่อสู้ และเป็นการฆ่าประชาชน ตนอธิบายเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย ‘ถ้าลุกขึ้นมาต่อสู้ ยากที่ใครจะรับมือ’

ในคืนวันที่ 20 ที่ประชาชนมามากที่สุด รามคำแหงเปิดประตูให้นักศึกษาและประชาชนเข้าไปอยู่ตามตึก หากมีการยิงกัน แต่ก็ผ่านไปได้ เราที่อยู่ในรามคำแหงต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องรอให้รุ่งสางเสียก่อนจึงจะออกไปได้ ตนยังจำภาพกองทัพมอเตอร์ไซค์ของประชาชน แต่ละคนมีความคับแค้น เสียงมอเตอร์ไซค์ดังแซ่ด ในความเป็นจริง เกียรติภูมิในการต่อสู้ของสมรภูมิพฤษภาคม 53 ของรามคำแหง จะได้รับบันทึกในประวัติศาสตร์น้อยมาก เพราะความเป็นจริง ศึกนี้สู้กันอย่างรวดเร็ว สลายวันที่ 21 พฤษภาคม หลังจากนั้น สุจินดาลาออก อีก 2 วันได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพียงพริบตาเดียว แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือนักศึกษา ประชาชน ที่ต้องตายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ ‘ประชาชน’ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน

นายจตุพรกล่าวอีกว่า ในฐานะประชาชน ตนเป็นลูกพ่อขุนรามคำแหง ทุกวิชาที่เราได้เรียนรู้เรื่องการเมือง เกิดขึ้นจากรามคำแหงและยังอยู่ในความทรงจำเหมือนผ่านมาไม่นานนี้ รามคำแหงอาจจะได้เป็นจุดเปลี่ยนที่ 2 ในสถานการณ์บ้านเมืองข้างหน้า ไม่มีใครรู้ว่าจุดชี้ขาดอยู่ที่ใด รู้เพียงว่า ประเทศไทยเวลานี้ เดินอยู่ท่ามกลางความยากจน เสียหลักการประชาธิปไตย กติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าประชาชนไม่คิดที่จะต่อสู้ เราก็ต้องยอมรับชะตากรรมที่จะเกิด

“คนไทยเป็นคนที่ตื่นยาก แต่ตื่นแล้วเอาเรื่อง และจะชนะทุกครั้ง แต่หลังจากตื่นแล้ว รู้เรื่องแล้ว ก็จะกลับไปหลับอีกครั้ง สิ่งที่เปิดช่องคือเผด็จการ เราควรตื่นมาเอาเรื่องอีกครั้ง เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องของประเทศนี้ ถ้าเราคิดว่าทนระบอบประยุทธ์ได้ เราก็ทนได้ ถ้าเราคิดว่า ระบอบอันนี้ที่มาไม่ถูกต้อง ทำให้ชีวิตของประชาชนและประเทศเสียหาย ก็ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง อยู่ที่ว่าประชาชนพร้อมหรือไม่ นี่คือความหวัง

ผมเชื่อว่าคนรุ่นนี้มีศักยภาพเหมือนทุกรุ่น ผมขอคารวะวีรชนทุกเหตุการณ์ และวาดหวังชัยชนะของประชาชนโดยประชาชน คิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน และพลังสำคัญคือ คนหนุ่มสาวที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ความสำเร็จควรที่จะอยู่ในมือคนหนุ่มสาว” นายจตุพรกล่าว

ต่อมา เวลา 18.30 น. นายวีระ สมความคิด กล่าวว่า คนรามคำแหงเป็นกำลังสำคัญทุกเหตุการณ์ พ.ค.35 เป็นเรื่องที่พวกเราทั้งสะเทือนใจ และภาคภูมิใจ ในทุกครั้งที่คนเราคำแหงเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อสู้ ให้ได้ประชาธิปไตย และเชื่อว่าน้องรามคำแหงปัจจุบัน ติดตามและสนใจปัญหาบ้านเมือง เพียงแต่ยังไม่มีจังหวะ หรือโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา ถึงจุดที่จะต้องเผด็จศึก ต้องใช้พลังของคนหนุ่มสาวช่วยกัน ความถูกต้องชอบธรรมในสังคม น้องรามคำแหงก็ยังเป็นกำลังสำคัญ ตนเชื่อมั่นอย่างนั้น ส่วนรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว ก็เห็นว่าหลายคนไม่ได้ทิ้งบ้าน ยังสนใจและติดตามความเปลี่ยนแปลงในบ้านเมืองอยู่ แต่ว่าที่เปลี่ยนไปหลายสิ่งหลายอย่าง อาจจะไม่สามารถทำเหมือนในอดีตได้ทั้งหมด

“ยังเชื่อว่า เมื่อถึงเวลา ที่ทำให้คนในประเทศทนไม่ได้ ไม่ว่าจะอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เมื่อถึงเวลา อำนาจประชาชนจะยิ่งใหญ่ที่สุด คราวนั้นก็ต้องทำให้จบเสียที ทำให้เบ็ดเสร็จ ให้จบในรุ่นปัจจุบัน รุ่นผมอาจจะไม่ได้เห็น ยังมีความหวังเต็มเปี่ยม กับคนรุ่นปัจจุบันที่จะทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริงได้ แต่ขอให้เด็ดขาด อย่าทำให้ค้างเหมือนรุ่นที่ผ่านมา ถ้าทำไม่ ได้เราก็จะอยู่ในวังวนอย่างนี้

เมื่อเรามีบทเรียน เราก็ไม่ควรผิดพลาดซ้ำซาก พัฒนาอยู่ตลอด ทุกวันนี้ที่เผด็จการเข้มแข็ง เพราะเขาเอาความผิดพลาดในอดีตมาปรับเสริมให้เข้มแข็งขึ้น เราก็เหมือนกัน ชัยชนะของเราก็ต้องมาจากบทเรียนที่เราเห็นอยู่ อะไรที่ยังต้องแก้ไข ปรับปรุง” นายวีระกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image