วิเคราะห์ : วัคซีน โควิด คะแนน สำคัญ อนาคต การเมือง

วัคซีนกลายเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จะหยุดลงได้ก็ต่อเมื่อประชากรได้ฉีดวัคซีนป้องกัน

ขณะที่วัคซีนเป็นที่ต้องการของโลกทั้งใบ ประเทศไทยก็ต้องการวัคซีนเข้ามาฉีด

ทำให้วัคซีนมีจำนวนจำกัด

เมื่อวัคซีนมีจำนวนจำกัด วัคซีนจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ

Advertisement

สำคัญต่อการดำรงชีวิต

สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

และสำคัญต่อการเมือง

ยิ่งกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับจากยึดอำนาจล่วงเลยมาถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมระยะเวลา 7 ปีด้วยแล้ว ยิ่งมีความสำคัญ

ทั้งนี้ เพราะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งมาเป็นเวลานาน ประชาชนเริ่มรู้สึกเบื่อ และเมื่อปรากฏว่าผลงานของรัฐบาลที่เคยรับปากไว้ “ทำไม่เข้าเป้า”

ประชาชนยิ่งรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนเริ่มมีความเคลื่อนไหวขับไล่ โลกทั้งใบได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

แต่ประเทศไทยใช้ “ยาแรง” ประกาศล็อกดาวน์ ทำให้การระบาดในไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่า ควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี

รัฐบาลไทยได้ชื่อเสียงจากการควบคุมการระบาด และกลายเป็นผลงานอันโดดเด่นทางสาธารณสุข

แต่การใช้ “ยาแรง” ด้วยการล็อกดาวน์ กลับก่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างทันตาเห็น

ประชาชนเดือดร้อน นักธุรกิจเดือดร้อน และพร้อมใจกันเรียกร้องให้ “ผ่อนคลาย”

เมื่อรัฐบาลผ่อนคลาย แหล่งอโคจรการ์ดตก การระบาดคืนกลับมาอีกหน

ครั้งแรกกลับมาเพราะการขนแรงงานต่างชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย ครั้งต่อมาระบาดจากบ่อนการพนัน และล่าสุดระบาดจากคลับทองหล่อ

ครั้งนี้รัฐบาลใช้สูตรใหม่ในการรับมือการระบาด

แทนที่จะล็อกดาวน์ซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง เปลี่ยนมาใช้วิธีการล็อกเฉพาะพื้นที่

วิธีการนี้ธุรกิจยังเดินไปข้างหน้าได้ แต่รัฐบาลต้องมีความพร้อมรับมือกับการระบาด

ทั้งโรงพยาบาล ทั้งเตียงพยาบาล ทั้งยารักษา

และที่สำคัญคือ “วัคซีน”

น่าสังเกตว่าการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในครั้งหลังแตกต่างจากครั้งแรก

รัฐบาลที่เป็นผู้ดูแลสถานการณ์ ส่งสัญญาณ “ร้าวภายใน” ออกมาเป็นระยะๆ

จนกระทั่งคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในระยะหลัง มีผลลดบทบาทของฝ่ายการเมืองลงเรื่อยๆ

การตั้งคณะกรรมการวัคซีนทางเลือกโดยไม่มีชื่อนายอนุทินร่วมคณะ

การโยกอำนาจการสั่งการทางกฎหมาย จำนวน 31 ฉบับ มาไว้ที่นายกรัฐมนตรี

การดึงอำนาจการจัดการกระจายวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขไปไว้ที่ ศบค.

ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

แนวปะทะเรื่องวัคซีนภายในรัฐบาลเกิดขึ้นเป็นระยะ เกิดวิวาทะระหว่าง “วอล์กอิน” กับ “ออนไซต์”

วอล์กอิน คือ การเดินเข้าไปฉีดวัคซีนตามจุดบริการ โดยจะนำวัคซีนจากคนที่จองฉีดแล้วไม่มาตามนัดไปบริการคนวอล์กอิน

ว่ากันว่าแนวคิดนี้เป็นไอเดียจากคณะทำงานของนายอนุทิน

แต่จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่มี “วอล์กอิน” และให้ฟัง ศบค.เพียงหน่วยงานเดียวในเรื่องการกระจายวัคซีน

พร้อมกันนั้นก็ปรากฏวิธี “ออนไซต์” มาแทน “วอล์กอิน” โดยมีวิธีการไม่แตกต่างจากเดิมเท่าใดนัก

ล่าสุดเกิดความปรับเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีนอีกหน เมื่อ ศบค.สั่งชะลอการลงทะเบียนฉีดวัคซีนในแอพพ์ “หมอพร้อม”

แล้วกระจายให้แต่ละจังหวัดไปดำเนินการรับจองฉีดวัคซีนกันเอง

ดีเดย์ที่ กทม.ที่เปิดรับจองฉีดวัคซีนเพื่อให้คนกรุงเทพฯได้วัคซีนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือ 5 ล้านคน ภายใน 2 เดือน ตามคำสั่งนายกฯ

คำสั่งชะลอดังกล่าวสร้างความงุนงงให้แก่นายอนุทิน

รวมทั้ง นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็งุนงง

ทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ต่างบอกให้ไปถามสาเหตุการชะลอจาก ศบค.

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว มุมมองทางการเมืองเห็นว่า เป็นการช่วงชิงคะแนนเสียง

เมื่อวัคซีนมีความสำคัญต่อประชาชน และสำคัญต่อเศรษฐกิจ

หากรัฐบาลสามารถตอบสนองความต้องการวัคซีนจากภาคส่วนต่างๆ ได้

คะแนนนิยมย่อมปรากฏ

ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาลผสม มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกน มีพรรคใหญ่อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกองหนุน

แต่ผลการดำเนินการเรื่องโควิด-19 และวัคซีน อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีทั้งนายอนุทินจากภูมิใจไทย และนายสาธิต จากประชาธิปัตย์

ไม่มีคนจากพรรคพลังประชารัฐหรือรัฐบาลเข้าไปเอี่ยว

ดังนั้น การดึงอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขมายัง ศบค.ที่บริหารโดยทีมของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมมีความหมายทางการเมือง

หาก พล.อ.ประยุทธ์ สามารถบริหารจัดการวัคซีนได้

สามารถทำให้คนไทยได้รับวัคซีนตามความต้องการ

สามารถยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกครั้ง

ย่อมถือเป็นการแก้มือ หลังจากพลาดพลั้งจนเกิดการระบาดระลอก 3

ในขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้บริหารราชการครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทางจะต้องเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

กล่าวคือได้รับเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลเมื่อปี 2562

เมื่อถึงปี 2566 จะครบวาระและเลือกตั้งใหม่

ระหว่างปี 2564 จนถึงปี 2566 ในทางการเมืองถือว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้”

ดังนั้น การสะสมคะแนนด้วยผลการทำงานจึงเป็นสิ่งที่นักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐบาลพึงกระทำ

ยิ่งในปี 2564 ถือเป็นปีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19

การบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จึงเป็นหนทางการตักตวงแต้มทางการเมือง

ยิ่งวัคซีนป้องกันโควิด เป็นทางรอดจากความเดือดร้อนในครั้งนี้

การจัดการวัคซีน ยิ่งมีความสำคัญทางการเมือง

เพราะนี่คือคะแนนสำคัญ นี่คืออนาคตทางการเมือง

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันจึงมีผลต่ออนาคต

มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image